นับจากการปลดล็อก “กัญชา” และ “กัญชง” ออกจากยาเสพติดประเภทที่ 5 ให้สามารถนำ ใบ กิ่ง ราก ลำต้น ของ “กัญชา” และกัญชง รวมทั้ง เมล็ดกัญชง และน้ำมันเมล็ดกัญชง มาใช้ประกอบอาหารได้ ช่วยบูมกระแส ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มในประเทศไทย ส่งผลให้เจ้าของธุรกิจรายใหญ่ ซึ่งมีความพร้อม มองเห็นช่องทางที่จะทำกำไร สร้างมูลค่าเพิ่มได้ เช่นเดียวกับผู้ประกอบการรายเล็กที่มุ่งสู่ธุรกิจนี้ โดยหวังว่าจะช่วยให้ฟื้นตัวจากวิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19
“กัญชง” พืชเศรษฐกิจ ใหม่
หาก“กัญชา” มีมูลค่าตลาดโลกสูงถึง 642,060 ล้านบาท และต่อจากนี้อีก 5 ปี คือในปี 2569 ตลาดกัญชาโลกจะมีมูลค่าพุ่งขึ้นสูงถึง 2,831,328 ล้านบาท จากมูลค่าตลาดที่สูงมากดังกล่าว กลุ่มธุรกิจนับน้อยใหญ่ของไทย จึงพุ่งเป้าไปที่ “ตลาดกัญชา” ขณะที่ “กัญชง” กลับถูกมองข้าม ทั้งที่ความจริงแล้ว ตลาดกัญชง ในอุตสาหกรรมอาหาร การแพทย์ ยาและเครื่องสำอางก็น่าสนใจไม่น้อยเช่นกัน
จากข้อมูลศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่า ตลาดกัญชงโลกปี 63 มีมูลค่าราว 149,039 ล้านบาท และจะเพิ่มสูงขึ้นเป็น 584,105 ล้านบาท ในปี 2570 หรือในอีก 6 ปี ข้างหน้า โดยเติบโตเฉลี่ย 22.4% ต่อปี
“กัญชง” ในอุตสาหกรรมอาหาร
ในประเทศออสเตรเลีย กลุ่มบริษัท Elixinol Global ของ Paul Benhaim ซึ่งเป็นผู้นำในธุรกิจกัญชงครบวงจร รายใหญ่ของโลก เริ่มต้นจากทำธุรกิจกัญชงจากเมนูอาหาร อย่าง “ไอศกรีมกัญชง” ต่อยอดไปสู่ ซีเรียลและคอร์นเฟลก น้ำสลัดจากน้ำมันเมล็ดกัญชง และผงโปรตีนจากกัญชง ซึ่งอุดมไปด้วย โอเมก้า 3 และโอเมก้า 6
จากแบ็คแพ็คเกอร์ ที่เดินทางออกท่องเที่ยวทั่วโลก “Paul Benhaim” ได้เรียนรู้ว่ามื้ออาหารท้องถิ่นของคนอีสาน ในประเทศไทย แต่ละมื้อนั้นมีคุณค่าโภชนาการ ที่ประกอบด้วยโอเมก้า 3 และ 6 มากมาย ซึ่งในมื้ออาหารของคนในโลกตะวันตกไม่มี และเขาก็ค้นพบว่า “เมล็ดกัญชง” นั้น อุดมไปด้วยโอเมก้า 3 และ 6 จากการที่ได้เดินทางท่องเที่ยวในแคนาดา
การค้นคว้าของ “Paul Benhaim” พบว่า “กัญชง” เป็นพืชที่สร้างโปรตีนได้ดีเท่ากับ ถั่วเหลือง แต่ดีกว่าที่ไม่ก่อให้เกิดอาการแพ้ โดยเมล็ดกัญชงทุก ๆ 100 กรัม จะมีโปรตีนคุณภาพสูงประมาณ 33 กรัม และมีโอเมก้า 3 และ 6 ถึง 47 กรัม นี่เองจึงเป็นที่มาของการนำ “กัญชง” มาใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร
ทุกวันนี้ Elixinol Global สร้างรายได้จากผลิตภัณฑ์เมล็ดกัญชง ถึงเดือนละ 1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 31 ล้านบาท หรือปีละ 372 ล้านบาท จากจำนวนพนักงานเพียงแค่ 50 คน
นี่เป็นตัวอย่างที่ดีซึ่งบ่งบอกว่า “อุตสาหกรรมอาหาร” จาก “กัญชง” คือโอกาสหนึ่งที่จะทำรายได้ให้กับผู้ประกอบการไทยได้มากมายมหาศาล
อุปสรรคของ “กัญชง” ในไทย
หากจะนับเฉพาะ “กัญชา” ที่มีแหล่งเพาะปลูกถูกกฎหมาย วันนี้ เราพบว่า มีประมาณ ไม่เกิน 200 แห่ง ซึ่งส่วนใหญ่จะต้องจัดส่งผลผลิตทั้งหมดให้กับหน่วยงานรัฐ และมีเพียงส่วนน้อยที่สามารถจำหน่าย “ใบ” ในลักษณะปลีกย่อย ให้กับร้านอาหาร เพื่อผลิตเป็นเมนูตามกระแสนิยม
ขณะที่ “กัญชง” เบื้องต้นจากข้อมูลกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เตรียมส่งเสริมให้กลุ่ม “เกษตรกรชาวไร่ใบยาสูบ” ได้ปลูกเป็นพืชทดแทน รวมทั้งการส่งเสริมให้กับ เกษตรกรทั่วไป ซึ่งแน่นอนว่าจะต้องมีขั้นตอนการขออนุญาตปลูกที่ซับซ้อน
อุปสรรคที่สำคัญ นอกจากเรื่องแหล่งผลิตแล้ว คือ เรื่องการขออนุญาตเพื่อแปรรูป “กัญชา-กัญชง” เป็นผลิตภัณฑ์อาหาร ที่เด่นชัด คือ ในรูปแบบบรรจุภัณฑ์ปิดสนิท (บรรจุขวดและถุง) ซึ่งต้องระบุส่วนผสมในอาหารและเครื่องดื่ม โดยหลักเกณฑ์ดังกล่าว องค์การอาหารและยา (อย.) ยังไม่ได้ประกาศออกมาเพิ่มเติม
ทำให้วันนี้เราจึงเห็นผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มของ ผู้ประกอบการรายเล็กหลายราย ที่ไม่ตรงตามข้อกฎหมาย โดยคาดว่า หลักเกณฑ์ดังกล่าวจะออกมาในช่วง ไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ (ประมาณ ก.ค.-ก.ย.)
โอกาสของ SME ในอุตสาหกรรมอาหารจาก “กัญชง”
ต้องยอมรับว่า ณ ปัจจุบัน เราจะเห็นแต่เพียงธุรกิจเจ้าใหญ่เท่านั้นที่พร้อมจะเดินหน้าเข้าสู่ “อุตสาหกรรมอาหารจากกัญชา-กัญชง” ขณะที่ผู้ประกอบการรายเล็ก ต้องอาศัยจังหวะและโอกาสช่วงชิงด้วยการคิดเร็ว ทำเร็ว
ดังนั้นสิ่งที่ผู้ประกอบการไทย ในปัจจุบันจะทำได้คือการเตรียมความพร้อมของตัวเอง แน่นอนวันนี้ความได้เปรียบของรายเล็กที่ขยับตัวได้คล่องแคล่วกว่ารายใหญ่ ในธุรกิจฐานรากอาจจะมีไม่มากนัก เมื่อรายใหญ่อาศัยความได้เปรียบ เปิดตัวหลากหลายผลิตภัณฑ์ที่ใช้สารสังเคราะห์แทน “กัญชา-กัญชง” ที่ได้รับการอนุญาตไปแล้ว
ในขณะที่หน่วยงานรัฐเองกำลังชุลมุนวุ่นวาย กับการแพร่ระบาดของโควิด-19 อยู่ในขณะนี้ ผู้ประกอบการไทย คงทำได้แค่รอ ถึงการสร้างรายได้จาก “พืชเศรษฐกิจ” ตัวใหม่ออกไปก่อน