ดอกเบี้ยแบงก์กับทางเลือกของ SMEs


สถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด- 19 ทำให้เงินทุนหมุนเวียนของผู้ประกอบการหดหายไปเรื่อยๆ ขณะเดียวกันสถาบันการเงินก็พยายามควบคุมความเสี่ยงในการปล่อยกู้ เป็นผลให้ภาครัฐต้องออกมาตรการซอฟต์โลน วงเงิน 2.5 แสนล้านบาท มุ่งเน้นช่วยเหลือ SME ที่มีศักยภาพที่จะไปต่อได้ โดยแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ ผู้ประกอบการหรือ SME ที่มีวงเงินกู้กับสถาบันการเงินอยู่แล้ว และ SME ที่ยังไม่มีวงเงินสินเชื่อกับสถาบันการเงินใด โดยอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ 2 % ใน 2 ปีแรก และไม่เกิน 5 % ใน 5 ปีแรก

ทั้งนี้เงื่อนไขสำหรับ SME ที่มีวงเงินกู้อยู่แล้ว จะต้องไม่เกิน 500 ล้าน สามารถขอสินเชื่อได้ไม่เกิน 30 เปอร์เซ็นต์ของวงเงินสินเชื่อ ณ วันที่ 31 ธ.ค. 2562 หรือ ณ วันที่ 28 ก.พ. 2564 แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่ากัน แต่ต้องไม่เกิน 150 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม การที่ SME จะได้รับการปล่อยกู้สินเชื่อหรือไม่ และมากน้อยเพียงใด ก็ขึ้นกับการพิจารณาของสถาบันการเงินแต่ละแห่ง ซึ่งประเด็นการบริหารความเสี่ยง และศักยภาพในการชำระหนี้ของผู้กู้ รวมทั้งความเป็นลูกค้าเก่าแก่ที่ดูแลกันมานาน ก็ยังเป็นเรื่องที่สถาบันการเงินให้ความสำคัญในการพิจารณาปล่อยกู้

ดังนั้น ประเด็นที่ชวนให้คิด คือ แล้ว SME ที่ไม่อยู่ในเงื่อนไขหรือเข้าไม่ถึงซอฟต์โลน ซึ่งเชื่อว่าต้องมีอีกเป็นจำนวนมากจะทำอย่างไร บทความนี้ได้ประมวลอัตราดอกเบี้ย ของแต่ละสถาบันการเงิน เพื่อให้ SME เป็นข้อมูลไว้พิจารณา หากจะพอมีโอกาสกู้ได้

สถาบันการเงินในไทยมีให้เลือกเยอะแค่ไหน

สถาบันการเงินสามารถแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ใหญ่ๆ ดังนี้ 1. ธนาคารพาณิชย์ 2.ผู้ให้บริการทางการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร (Non Bank) 3.สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ

1. ธนาคารพาณิชย์ ที่จดทะเบียนในประเทศไทยมีถึง 30 ราย แบ่งเป็น ธนาคารพาณิชย์ไทย 19 ราย สาขาธนาคารต่างประเทศ 11 ราย

2. ผู้ให้บริการทางการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร เช่น ผู้ให้บริการสินเชื่อบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคลทั้งแบบมีหลักทรัพย์และไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ผู้ให้บริการสินเชื่อรถยนต์ ผู้ให้บริการสินเชื่อประกอบอาชีพรายย่อย (นาโน ไฟแนนซ์) ผู้ให้บริการสินเชื่อธุรกิจรายย่อย เป็นต้น ซึ่งบางรายก็ให้บริการมากกว่า 1 ประเภท

3. สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐที่เป็นธนาคาร มีทั้งสิ้น 6 แห่ง

ธนาคารไหนอัตราดอกเบี้ยถูกที่สุด

หากนับเฉพาะธนาคาร หรือสถาบันการเงินที่มีทั้งรับฝากและปล่อยกู้ จึงมีไม่ต่ำกว่า 36 แห่ง (ทั้งธนาคารพาณิชย์และธนาคารเฉพาะกิจ) ไม่นับรวมบริการ Non Bank อีกมากมาย

อย่างไรก็ตาม การพึ่งพาแหล่งเงินทุนจากธนาคาร ย่อมมีต้นทุนที่แตกต่างกัน หากมองเฉพาะธนาคารพาณิชย์ ธนาคารที่มีขนาดใหญ่ จะมีดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าธนาคารพาณิชย์ขนาดเล็ก และธนาคารพาณิชย์ขนาดเล็ก ย่อมมีดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าบรรดา Non Bank ขณะที่ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ อาจจะมีดอกเบี้ยพิเศษซึ่งมักจะต่ำกว่าธนาคารพาณิชย์ทั่วไป หากเป็นโครงการหรือนโยบาย ที่รัฐบาลสนับสนุน

สำหรับ อัตราดอกเบี้ยในส่วนของธนาคารพาณิชย์ที่จดทะเบียนในประเทศไทย ที่รายงานต่อธนาคารแห่งประเทศไทยล่าสุด เมื่อวันที่ 7 พ.ค. ที่ผ่านมา https://bit.ly/3uD1ymI โดยยึดอัตราดอกเบี้ย MLR หรือดอกเบี้ยเรียกเก็บจากลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี จะมี 5 ธนาคารที่อัตราเฉลี่ยอยู่ที่ 5.25-5.58 เปอร์เซ็นต์

ประกอบด้วย ธนาคารกรุงเทพ กรุงไทย กสิกรไทย ไทยพาณิชย์ กรุงศรีอยุธยา จากอัตราเฉลี่ยจากทุกธนาคาร อยู่ที่ 6.23 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ MLR ของสาขาธนาคารต่างประเทศในประเทศไทยเฉลี่ยอยู่ที่ 6.91 เปอร์เซ็นต์

 

 

อย่างไรก็ตาม อัตราดอกเบี้ยนั้นเป็นอัตราขั้นต่ำ อาจจะมีการบวกอัตราความเสี่ยงเข้าไปอีก (MLR+X) ขึ้นอยู่กับหลักเกณฑ์ของแต่ละธนาคาร ซึ่งบางครั้งอัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารใหญ่ให้ ก็อาจจะสูงกว่าดอกเบี้ยที่ธนาคารเล็กให้ ก็เป็นได้

ธนาคารเล็กเงินฝากเพิ่มเปิดโอกาสปล่อยกู้

ทั้งนี้ หากพิจารณาแนวโน้มการปล่อยกู้ของธนาคารขนาดเล็ก หรือ สาขาธนาคารต่างประเทศ กำลังเพิ่มสูงขึ้น โดยตัวเลขสัดส่วนสินเชื่อกับเงินฝาก ของสาขาธนาคารขนาดเล็ก ที่ปรากฏว่ามีแนวโน้มเงินฝากที่สูงขึ้นอย่างชัดเจน

ธนาคารแห่งประเทศไทย รายงานยอดสินเชื่อ และ เงินฝาก ทั้งระบบเมื่อเดือน ม.ค. 2564 https://bit.ly/33tB3Ew ระบุว่า ยอดปล่อยสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ไทย ทั้งหมด 19 แห่ง ในเดือน ม.ค. 2564 อยู่ที่ 16,137,073 ล้านบาท เงินฝากอยู่ที่ 14,918,794 ล้านบาท จากเดือน ธ.ค. 2563 สินเชื่ออยู่ที่ 15,949,558 ล้านบาท และ เงินฝากอยู่ที่ 14.927,961 ล้านบาท

ส่วนยอดปล่อยสินเชื่อของสาขาธนาคารต่างประเทศ ทั้งหมด 11 แห่ง เมื่อเดือนม.ค. 2564 อยู่ที่ 881,949 ล้านบาท เงินฝาก อยู่ที่ 796,459 ล้านบาท ตัวเลขเมื่อ ธ.ค. 2563 มียอดสินเชื่อ 861,400 ล้านบาท และยอดเงินฝาก 793,769 ล้านบาท

 

 

ดังนั้น จะเห็นว่า ยอดเงินฝากของสาขาธนาคารต่างประเทศ กำลังขยับเพิ่มขึ้น ซึ่งหลายฝ่ายมองว่า สาเหตุมาจากกฎหมายการค้ำประกันเงินฝาก ที่ประกันไม่เกิน 1 ล้านบาทต่อคนต่อธนาคาร ทำให้เกิดการกระจายเงินฝาก รวมถึงความเข้มแข็งของธนาคารขนาดเล็กที่มีสูงขึ้น ทำให้มีการกระจายเงินฝากไปยังธนาคารขนาดเล็กมากขึ้น และตามหลักการแล้วเมื่อมีเงินฝากมากขึ้น การปล่อยกู้ก็ย่อมมีสูงขึ้นเช่นกัน