เพราะอะไร Foodpanda ต้องลุยตลาดเมียนมาต่อ แม้ต้องเผชิญกับสถานการณ์ความไม่สงบ


หากเอ่ยถึงแบรนด์ส่งอาหารแบบเดลิเวอรีที่ผู้บริโภครู้จัก และเป็นที่นิยม หนึ่งในนั้นย่อมมีแบรนด์ Foodpanda รวมอยู่ด้วย

หลายคนอาจจะไม่รู้ว่า Foodpanda เป็นธุรกิจที่อยู่ในเครือของบริษัท Delivery Hero จากประเทศเยอรมนี โดยเริ่มก่อตั้งเมื่อปี 2554 และเริ่มดำเนินธุรกิจขยายสาขาไปยัง 40 ประเทศทั่วโลก ทั้งยุโรป, เอเชีย, อเมริกา สำหรับประเทศไทยนั้น Foodpanda เข้ามาเปิดให้บริการในประเทศไทยเมื่อเดือนมีนาคม 2555 มาวันนี้มีพื้นที่ให้บริการครอบคลุมแล้ว 77 จังหวัดทั่วประเทศไทย

ดูเหมือนว่า Foodpanda จะเล็งเห็นการเติบโตของการส่งอาหารแบบเดลิเวอรีในภูมิภาคอาเซียนอยู่ไม่ใช่น้อย เพราะไม่ใช่แค่ในประเทศไทย Foodpanda ยังมีบริการในประเทศอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็น สิงคโปร์, มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์, กัมพูชา และเวียดนาม โดยล่าสุดเป็นเมียนมาที่ Foodpanda พยายามจะเข้าไปเปิดตลาดให้ได้

เพราะอะไรถึงต้องเป็นเมียนมา

เป็นที่ทราบกันดีว่าเมียนมาต้องเผชิญกับความไม่สงบทางด้านการเมือง ส่งผลให้หลายบริษัทที่จะเข้าไปลงทุน หรือลงทุนอยู่มีอันต้องหยุดชะงักโครงการต่าง ๆ ที่จะทำออกไปก่อน แต่ Foodpanda พวกเขายืนยันอย่างมั่นใจว่ายังจะบุกตลาดเมียนมาต่อไป

ก่อนหน้านี้ Foodpanda ได้เข้ามาเปิดบริการในเมียนมา เมื่อเดือนธันวาคม 2019 และกลายเป็นแพลตฟอร์มยอดนิยมในการสั่งซื้ออาหารของผู้บริโภคชาวเมียนมา โดย Jakob Angele ซีอีโอ Foodpanda ให้สัมภาษณ์กับ Nikkei Asia ยอมรับว่าธุรกิจในเมียนมาตอนนี้มีข้อจำกัดจากสถานการณ์ความไม่สงบทางการเมืองที่มีการปิดสัญญาณการใช้อินเทอร์เน็ต และการปราบปรามผู้ประท้วง

หลายธุรกิจต้องเผชิญช่วงเวลาที่ยากลำบากในการดำเนินกิจการ เนื่องจากขาดแคลนแรงงาน และซัพพลายเชนที่หยุดชะงัก ด้วยปัจจัยที่ไม่เอื้ออำนวยจึงทำให้บางบริษัทต้องระงับการลงทุน ตลอดจนโครงการต่าง ๆ ออกไป

อย่างไรก็ตาม Jakob Angele กลับมองเรื่องนี้เป็นโอกาส โดยบอกว่าเรามีความสุขอย่างมากกับการก้าวไปข้างหน้า ภายใต้สถานการณ์แบบนี้ บริษัทยังคงดำเนินกลยุทธ์มองหาโอกาสในปี 2023, 2025 ที่ต้องมีรากฐานที่แข็งแรงในวันนี้

อีกทั้ง บริษัทมีการส่งเสริมให้ลูกค้ารับสินค้าที่สั่งซื้อผ่านช่องทางออนไลน์จากที่บ้าน และรับอาหารด้วยตนเอง เพราะข้อจำกัดทางด้านสัญญาณอินเทอร์เน็ตที่ถูกตัดขาด

ตามรายงานของ Momentum Works บริษัทที่ปรึกษาจากสิงคโปร์ เมื่อเดือนมกราคมพูดถึงในแง่ของส่วนแบ่งทางการตลาดในธุรกิจแพลตฟอร์มส่งอาหารแบบเดลิเวอรี พบว่า Foodpanda เป็นแบรนด์อันดับ 2 รองจาก Grab ที่ดำเนินธุรกิจในมาเลเซีย, ฟิลิปปินส์, สิงคโปร์ และไทย ในเรื่องของมูลค่าสินค้า นอกจากนี้ Foodpanda ยังไม่ได้ดำเนินกิจการในอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ โดยมี Grab และ Gojek แข่งขันกันอย่างดุเดือด

มองได้ว่าการที่ Foodpanda ยังคงดำเนินธุรกิจในเมียนมา เพื่อรักษาฐานลูกค้าไว้ดูได้จากความนิยมที่กลายเป็นแพลตฟอร์มอันดับ 1 ของผู้บริโภคชาวเมียนมา แน่นอนว่าด้วยปัจจัยที่เป็นอุปสรรคทำให้การดำเนินการต้องมีการปรับเปลี่ยนเพื่อให้เกิดความเหมาะสม ซึ่งตลาดอาเซียนถือเป็นพื้นที่ที่ Foodpanda วิเคราะห์แล้วว่าจะเป็นโอกาสของธุรกิจในระยะยาว

ที่มา:
https://www.foodpanda.co.th/th/ 

https://asia.nikkei.com/Editor-s-Picks/Interview/Foodpanda-sticks-with-Myanmar-despite-political-unrest 

https://www.straitstimes.com/business/companies-markets/foodpanda-moves-ahead-with-myanmar-expansion-despite-uncertainty-from