กรุงไทย – สยามพิวรรธน์ ช่วย SME ฝ่าโควิด จิ๊กซอว์ ยุทธศาสตร์ Big Data


กลุ่มบริษัทสยามพิวรรธน์ จับมือกับ ธนาคารกรุงไทย ปล่อยกู้ให้กับคู่ค้าหรือผู้เช่าพื้นที่ในศูนย์การค้าของสยามพิวรรธน์ เพื่อช่วยลดผลกระทบจากวิกฤตโควิด -19 เป็นข่าวเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

แม้ข่าวนี้ดูเหมือนจะไม่ได้สร้างความน่าสนใจให้กับสังคมมากนัก แต่หากวิเคราะห์ให้ลึก นับเป็นข่าวที่น่าสนใจอย่างยิ่ง

ทั้งนี้ กลุ่มสยามพิวรรธน์ คือผู้บริหารโครงการศูนย์การค้าระดับโลก ไม่ว่าจะเป็น สยามพารากอน สยามเซ็นเตอร์ สยามดิสคัฟเวอรี่ และยังเป็นผู้ถือหุ้นใน ไอคอน สยาม และ สยามพรีเมี่ยมเอาท์เล็ต ส่วนธนาคารกรุงไทย ปัจจุบันได้ชื่อว่า เป็นธนาคารที่มีฐาน Data ที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย

พลังร้านค้ารายย่อยในมือสยามพิวรรธน์

ในรายงานข่าว ระบุว่า สยามพิวรรธน์ มีจำนวนคู่ค้าหรือผู้เช่าพื้นที่รวมกันกว่า 5,000 ราย ที่ผ่านมาต้องเผชิญกับวิกฤตโควิด- 19 อย่างหนักหน่วง แม้ทางสยามพิวรรธน์ จะให้ความช่วยเหลือ ทั้งการลดค่าเช่า การหาช่องทางการขายใหม่ๆ ให้กับคู่ค้า แต่สถานการณ์ที่ยืดเยื้อมากว่า 1 ปี จึงเห็นว่าจำเป็นต้องหามาตรการพิเศษทางการเงินมาช่วยเหลือ ให้คู่ค้าสามารถประคับประครองธุรกิจต่อไปได้ จึงเป็นที่มาของความร่วมมือกับธนาคารกรุงไทย

ทั้งนี้หากดูตัวเลขจำนวนร้านค้าในมือ สยามพิวรรธน์ 5,000 ร้านค้า ถือว่าจำนวนไม่น้อย ที่สำคัญร้านค้าดังกล่าว อยู่ในพื้นที่ศูนย์การค้าระดับสูง ถึงระดับ High end และเป็นศูนย์การค้าที่เจาะลูกค้านักท่องเที่ยวต่างประเทศ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงศักยภาพที่พร้อมจะกลับมาโดดเด่นอีกครั้งหลังโควิด

กรุงไทยเดินตามยุทธศาสตร์ X2G2X

ขณะที่ธนาคารกรุงไทย ได้แถลงความร่วมมือกับสยามพิวรรธน์ ว่า จากสถานการณ์โควิด- 19 กรุงไทยได้ออกมาตรการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบทั้งในระดับทั่วไป และเฉพาะกลุ่ม เพื่อให้ความช่วยเหลือตรงจุดยิ่งขึ้น เช่นเดียวกับการจับมือกับสยามพิวรรธณ์ ในการเสริมสภาพคล่องให้ SME ซึ่งเป็นผู้เช่าพื้นที่หรือคู่ค้าของสยามพิวรรธน์
พร้อมทั้งระบุว่า ความร่วมมือครั้งนี้ยังเป็นไปตามยุทธศาสตร์ X2G2X ของธนาคารกรุงไทย

ทั้งนี้ ยุทธศาสตร์ X2G2X นั้น กรุงไทยประกาศไปเมื่อต้นปี 2563 คือ การต่อยอดธุรกิจจากคู่ค้าของลูกค้า โดยมีจุดเริ่มต้นจาก G (Government) ที่กรุงไทยเข้าไปวางโครงสร้างพื้นฐานสังคมไร้เงินสดให้กับรัฐบาล (เช่น แอปฯ เป๋าตัง ในโครงการคนละครึ่ง และ เราชนะ) ทำให้กรุงไทยมีฐานข้อมูล Data มหาศาล ที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการต่อยอด และสนับสนุนธุรกิจในอนาคต เช่นการต่อยอดสนับสนุนสินเชื่อให้กับลูกค้าของธนาคาร ในห่วงโซ่ อุปทาน (Supply Chin)

ดังนั้น การที่ธนาคารกรุงไทย ปล่อยสินเชื่อให้กับคู่ค้าของสยามพิวรรธน์ โดยสยามพิวรรธน์ เป็นฝ่ายอำนวยสะดวกกับคู่ค้าให้เข้าถึงสินเชื่อ จึงน่าจะเป็นอีกก้าวหนึ่งของความร่วมมือ ที่สามารถตอบโจทย์ทางการเงินได้รอบด้าน ก่อเกิดประโยชน์ทั้งตัวธนาคารและลูกค้าคือ สยามพิวรรธน์ รวมทั้ง คู้ค้าของสยามพิวรรธน์ กลายเป็น Supply Chin Finance ต่อ จิ๊กซอร์ Data ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น

มาตรการสินเชื่อกรุงไทย-สยามพิวรรธน์

 

 

 

สำหรับมาตรการความช่วยเหลือ ผู้เช่าพื้นที่สยามพิวรรธน์ โดยความร่วมมือของธนาคารกรุงไทย ประกอบด้วย

1. สินเชื่อฟื้นฟู

 

เป็นสินเชื่อระยะยาว ดอกเบี้ยไม่เกิน 2 % ต่อปี ช่วย 2 ปีแรก (ดอกเบี้ยเฉลี่ย 5 ปี ไม่เกิน 5 % ต่อปี ผ่อนสูงสุดไม่เกิน 10 ปี พร้อมทั้งได้รับยกเว้นดอกเบี้ยในช่วง 6 เดือนแรก (ปีที่ 5-10 คิดดอกเบี้ยตามอัตราความเสี่ยงของลูกหนี้) และยังได้รับการค้ำประกันสินเชื่อ จาก บสย. นานสูงสุด 10 ปี และมีหลักประกันอื่นๆขั้นต่ำตามธนาคารกำหนด

– ลูกค้าสินเชื่อธุรกิจรายเดิมของธนาคารกรุงไทยที่มีวงเงินไม่เกิน 500 ล้านบาท ณ 28 กุมภาพันธ์ 2564 สามารถขอสินเชื่อฟื้นฟู ไม่เกิน 30% ของวงเงินเดิมที่มีอยู่กับธนาคาร ณ 31 ธันวาคม 2562 หรือ ณ 28 กุมภาพันธ์ 2564 แล้วแต่จํานวนใดจะสูงกว่า แต่ไม่เกิน 150 ล้านบาท โดยหักลบกับวงเงิน Soft Loan อื่นๆ ที่มีอยู่แล้ว

– ลูกค้าใหม่ที่ไม่เคยมีวงเงินสินเชื่อธุรกิจกับทุกสถาบันการเงิน ก่อนวันที่ 1 มีนาคม 2564 สามารถขอกู้ได้ไม่เกิน 20 ล้านบาท นับรวมวงเงินสินเชื่อจากสถาบันการเงินทุกแห่ง

2. สินเชื่อประเภทเงินทุนหมุนเวียน

 

 

สำหรับคู่ค้าของสยามพิวรรธน์ วงเงินกู้เบิกเกินบัญชี ที่ให้วงเงินตามธุรกรรมการค้า อัตราดอกเบี้ยพิเศษ ใช้หลักประกันต่ำ สามารถโอนชำระเงินให้คู่ค้าผ่านช่องทางที่หลากหลาย ด้วยอัตราดอกเบี้ยเริ่มต้น MRR สามารถกู้ได้สูงสุด 20 ล้านบาท

– สินเชื่อที่ไม่มีหลักประกันวงเงินเริ่มต้น 1 ล้านบาท ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับขนาดธุรกิจและความต้องการใช้วงเงินของคู่ค้า ในกรณีที่วงเงินที่ต้องการใช้จริงสูง กว่าวงเงินแบบไม่มีหลักประกัน สามารถใช้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ค้ำประกันร่วมกับหลักประกันอื่นได้