ห้วงเวลาสัปดาห์เดียวกันก่อนจะลงมือเขียนบทความชิ้นนี้ ผู้เขียนมีโอกาสเข้าไปพูดคุยกับนักวิชาการด้านพลังงานจากมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ที่เชี่ยวชาญในเรื่องการแสวงหา การใช้พลังงานทดแทน หรือการใช้พลังงานสะอาดเป็นทางเลือก เพื่อคุยถึงเรื่องราวสถานการณ์ด้านพลังงานของไทย โดยเฉพาะกับการผลิตคนรุ่นใหม่เข้าสู่อุตสาหกรรมด้านพลังงาน ซึ่งคำตอบจากเรื่องนี้ก็ทำให้เห็นแสงสว่างแห่งอนาคตด้านพลังงานของไทยอยู่บ้าง เพราะการป้อนเด็กจบใหม่ที่เก่งในเรื่องพลังงานมีความต่อเนื่อง และเป็นที่ต้องการของตลาดมากขึ้นเรื่อยๆ
กระนั้น การพูดคุยก็เลยเถิดมาถึงเรื่องพลังงานทดแทน โดยเฉพาะการที่ภาครัฐกำลังพยายาม และเดินหน้าอย่างเต็มรูปแบบเพื่อลด เลิก การใช้พลังงานถ่านหิน หรือฟอสซิลเข้ามาเป็นวัตถุดิบหลักในการให้พลังงานกับประเทศ โดยเฉพาะกับการผลิตกระแสไฟฟ้าเข้าสู่ระบบเพื่อป้อนแสงสว่างให้กับคนไทยทุกคน
เป้าหมายของรัฐบาลคือพลังงานสะอาดที่จะเข้ามาแทนที่ฟอสซิล และยังช่วยให้มีการเพิ่มรายได้ในระดับชุมชนเข้าไปด้วยอย่างมีนัยยะสำคัญ เพราะอนาคตสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น คือโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก ที่มีการใช้วัตถุดิบจาก “พืชพลังงาน” ซึ่งพืชพลังงานนี้เอง ที่จะช่วยเพิ่มเงินในกระเป๋าตังค์ของเกษตรกรได้
ว่าอย่างง่ายๆ โปรเจกค์โรงไฟฟ้าชุมชนฯ จะเป็นการลงทุนของภาคเอกชนที่สนใจจะเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าพลังงานก๊าซชีวภาพ ขนาดไม่เกิน 1 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวล ขนาดไม่เกิน 5 เมกะวัตต์ แต่จะต้องมี “เกษตรพันธสัญญา” กับชุมชนที่ปลูกพืชพลังงานสำหรับเป็นวัตถุดิบในการใช้ผลิตไฟฟ้า ไม่ว่าจะเป็นไม้ที่กำหนด หญ้าเนเปียร์ รวมไปถึงน้ำเสีย ซากวัตถุดพืชผลทางการเกษตร และต้อง “แบ่งหุ้น” ให้กับชุมชนฯ ในสัดส่วน 10% ซึ่งการไฟฟ้าจะรับซื้อแบบยาวๆ ไปเลย 20 ปี
วกกลับมาหา “นักวิชาการ” ท่านนี้ กับบทสนทนาที่ได้พูดคุยถึงความเป็นไปได้ของโรงไฟฟ้าชุมชนฯ ที่มาจากพืชพลังงานทั้งสองชนิด ทั้งแบบก๊าซชีวภาพ และก๊าซชีวมวล การเชื่อมระหว่างสองรูปแบบโรงไฟฟ้าฯ กับชุมชน พวกเขาจะเดินได้อย่างสมูทที่สุดกับเส้นทางไหน
จากแว่นตาของนักวิชาการท่านนี้ สะท้อนว่า ภาพรวมของการใช้วัตถุดิบที๋เป็นพืชพลังงานสำหรับหมักก๊าซชีวภาพ หรือใช้ไม้สำหรับเผาเพื่อเป็นพลังงานชีวมวลไปผลิตกระแสไฟฟ้า ล้วนแล้วแต่เป็นประโยชน์อย่างแน่นอนในฐานะการหาพลังงานทดแทน แต่กระนั้น ก็ดูเหมือนว่าโรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพน่าจะมีภาษีที่ดีกว่าโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวล เมื่อมองในฐานะของ “ชุมชน”
ด้วยว่า อะไรที่เป็น “การเผา” จากมุมมองของเขามักจะเห็นภาพการต่อต้านจากชุมชนแทบทุกครั้ง เพราะชุมชนกังวลและกลัวอย่างมากเรื่องมลพิษ ความปลอดภัย และผลกระทบจากการใช้ชีวิตของพวกเขาเอง
“ผมมองว่า เผา ก็เท่ากับ ไม่เอา ในมุมของชาวบ้านในชุมชน อะไรที่มีเตาเผา มีควัน ก็จะเจอกระแสต่อต้านทันที แต่หากเป็นก๊าซชีวภาพ พวกชุมชนจะมองแตกต่างกันออกไป” นักวิชาการ สะท้อนมุมมอง
แต่ทำไมเมื่อเป็นก๊าซชีวภาพเพื่อนำมาผลิตกระแสไฟฟ้า จะไร้ซึ่งเสียงต่อต้านเสียล่ะ? คำตอบคือเขามองว่า ก๊าซชีวภาพสำหรับเอาไปผลิตไฟฟ้าถือเป็นสุดยอดประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นได้จากพลังงานตัวนี้ และก่อนหน้านี้ ชาวบ้านชุมชน ก็คุ้นเคยกับก๊าซชีวภาพ ในการผลิตขึ้นมาเอง หมักเอาไว้แบบไร้อากาศ ต่อท่อเข้ากับระบบ ก็จะได้ก๊าซชีวภาพมาใช้หุงต้ม ดังนั้น หากว่าเป็นโรงไฟฟ้าชุมชนฯ จากก๊าซชีวภาพ ชุมชนโดยรอบของเมืองไทยมีความคุ้นชินและคุ้นเคยมากกว่า
เขาบอกเพิ่มเติมว่า แม้ว่าจะมีสัดส่วนของขยะที่ใช้มาทำพลังงานชีวมวลเพื่อเอาความร้อนจากการเผาไปผลิตไฟฟ้าได้ด้วย ก็จะเจอแรงเสียดทานจากชุมชนเช่นกัน เพราะต้องไม่ลืมว่าอะไรที่เป็นขยะ ก็จะถูกต้านทันทีหากมีการนำเข้าในชุมชน
แต่กระนั้น ก็ไม่อาจยากเกินกว่าจะหาหนทางแก้ปัญหา หากจะให้ชุมชนเดินคู่ไปกับโรงไฟฟ้าฯ ที่ใช้พลังงานทดแทนที่จำเป็น เพียงแต่ว่า ภาครัฐอาจจะต้องมีระบบที่แก้ปัญหาให้กับชุมชน ทั้งปัญหาทางกายภาพ ปัญหาความสบายใจหากจะมีของเสียเข้าสู่ชุมชน เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตไฟฟ้า