Pizza Hut – The Pizza Company จากพาร์ทเนอร์ธุรกิจ สู่คู่แข่งอาหารฟาสต์ฟู้ด


หากพูดถึงอาหารฟาส์ฟู้ดอย่างพิซซ่า แน่นอนแบรนด์ที่ผู้บริโภคชาวไทยนึกถึงขึ้นมาเป็นอันดับต้น ๆ คงหนีไม่พ้น PizzaHut กับ The Pizza Company ที่เป็นคู่แข่งกันอย่างชัดเจน

แต่รู้หรือไม่ว่าครั้งหนึ่งทั้งสองแบรนด์ดังกล่าว คือแบรนด์เดียวกัน ก่อนแตกไลน์ธุรกิจออกมาหลังไม่สามารถหาข้อตกลงร่วมกันได้ โดย Smartsme จะพาไปย้อนเรื่องราวที่เคยเกิดขึ้นว่าเพราะอะไรจากวันวานที่เป็นพันธมิตรทางธุรกิจพลิกด้านกลายเป็นคู่แข่งในตลาดอาหารฟาสต์ฟู้ด

ก่อนอื่นเราต้องย้อนกลับไปถึงที่มาที่ไปของแบรนด์ PizzaHut กันก่อน ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของเรื่องราวที่เกิดขึ้น โดย PizzaHut ก่อตั้งในปี 2501 โดยแฟรงค์ และแดน คาร์นี สองพี่น้องชาวเมืองวิชิทอ ประเทศสหรัฐฯ ด้วยความที่ธุรกิจเติบโตอย่างรวดเร็วในระยะเวลาเพียง 1 ปี จึงทำให้ขยายบริการไปสู่แฟรนไชส์ทั่วสหรัฐฯ และต่อมาได้ขยายไปยังต่างประเทศ

สำหรับในประเทศไทย PizzaHut เข้ามาเปิดสาขาครั้งแรกในปี 2524 โดย William E. Heinecke ผู้ก่อตั้งบริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล ที่ได้สิทธิ์แฟรนไชส์มาบริหาร ซึ่งเลือกโลเคชันพัทยาเป็นสถานที่เปิดสาขา เพื่อเจาะกลุ่มเป้าหมายชาวต่างชาติที่มีความคุ้นชินกับอาหารประเภทนี้มากกว่าคนไทย

ดูเหมือนว่า PizzaHut ในประเทศไทยจะไปได้ดี มีอัตราการเติบโตขยายสาขาไปยังจังหวัดอื่น ๆ อย่างต่อเนื่องกว่า 100 สาขา ประกาศตัวเองเป็นเบอร์ 1 ของตลาดพิซซ่าแต่แล้วจุดเปลี่ยนทางธุรกิจก็มาถึงเมื่อ Tricon Global Restaurants บริษัทแม่เจ้าของสิทธิ์แฟรนไชส์ตัวจริงมีแนวคิดที่จะนำ PizzaHut ในประเทศไทยมาบริหารงานเอง จึงยื่นข้อเสนอในการต่อสัญญาครั้งใหม่กับไมเนอร์ สิ่งที่ตามมาคือ ทั้งสองฝ่ายไม่สามารถตกลงหาข้อสรุปกันได้ จนสุดท้ายต้องมีการฟ้องร้องศาลเป็นข่าวใหญ่โต

บทสรุปเรื่องนี้ คือศาลตัดสินให้ Tricon Global Restaurants เป็นผู้ได้ครอบครองสิทธิ์ในที่สุด ส่วนไมเนอร์ออกมาสร้างแบรนด์ของตัวเองโดยใช้ชื่อว่า The Pizza Company

 

คู่หู สู่คู่แข่ง

 

จากวันนั้นมาถึงวันนี้ ทั้ง PizzaHut และ The Pizza Company ต่างขับเคี่ยวในธุรกิจกันอย่างดุเดือด ออกแคมเปญทางการตลาดที่มีความใกล้เคียงกัน ไม่ว่าจะเป็น การซื้อพิซซ่า 1 แถม 1, ลดราคาเมนูอาหารเมื่อซื้อครบตามจำนวน เพื่อแย่งชิงฐานลูกค้า รวมถึงการนำเทคโนโลยีเข้ามาประยุกต์ใช้กับธุรกิจรองรับเทรนด์โลกที่เปลี่ยนแปลงไป และดีไซน์ร้านให้มีความทันสมัยมากขึ้น

ปัจจุบัน PizzaHut อยู่ภายใต้การบริหารของบริษัท พีเอช แคปปิตอล จำกัด ซึ่งซื้อกิจการต่อจาก Tricon Global Restaurants หรือบริษัท ยัม เรสเทอรองตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด ส่วน The Pizza Company ยังคงอยู่ภายใต้การบริหารของบริษัท เดอะ ไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ที่มีแบรนด์อาหารชื่อดังอยู่ในมือมากมาย ไม่ว่าจะเป็น บอนชอน, สเวนเซ่นส์, ซิซซ์เลอร์, แดรี่ ควีน และเบอร์เกอร์ คิง

นางสาวอุษณา มหากิจศิริ กรรมการ บริษัท พีเอช แคปปิตอล จำกัด เปิดเผยว่า “พิซซ่า ฮัท ในประเทศไทย มีผลประกอบการดีขึ้นตามลำดับ โดยมียอดขายเติบโตเป็นตัวเลข 2 หลัก และทำกำไรได้ นับตั้งแต่ปี 2562 เรื่อยมา ซึ่งส่วนหนึ่ง เป็นผลจากการที่พิซซ่า ฮัท ปรับ Positioning ของแบรนด์ให้ทันสมัย การใช้ กลยุทธ์ทางการตลาดแบบ customer – centric สร้างสรรค์เมนูใหม่ๆ ที่ถูกใจ ลูกค้ากลุ่มครอบครัว รวมไปถึงลูกค้ากลุ่มใหม่ คือ กลุ่มมิลเลนเนียล ที่มา

ผลประกอบการบริษัท พีเอช แคปปิตอล จำกัด

ปี 2560 รายได้ 935.8 ล้านบาท กำไร 4.6 ล้านบาท
ปี 2561 รายได้ 1,719.1 ล้านบาท ขาดทุน 29.2 ล้านบาท
ปี 2562 รายได้ 1,903.4 ล้านบาท กำไร 12.8 ล้านบาท
ผลประกอบการบริษัท เดอะ ไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)

ปี 2560 รายได้รวม 5,370.7 ล้านบาท กำไร 361.9 ล้านบาท
ปี 2561 รายได้รวม 5,657.3 ล้านบาท กำไร 355.6 ล้านบาท
ปี 2562 รายได้รวม 6,072.3 ล้านบาท กำไร 268.9 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม แม้ว่า ไมเนอร์จะมีรายได้ที่สูงกว่า แต่ก็ไม่สามารถนำมาเปรียบเทียบได้ เพราะเป็นการรวมรายได้จากแบรนด์อาหารอื่น ๆ นอกเหนือจาก The Pizza Company ยังมีแบรนด์ร้านอาหารอื่น ๆ อย่างที่กล่าวไปข้างต้น

เรื่องนี้อาจจะมองว่าเป็นเรื่องปกติในโลกธุรกิจ เพราะมีเรื่องราวลักษณะนี้เกิดขึ้นมากมายจากที่เป็นพาร์ทเนอร์ทางธุรกิจ เมื่อตกลงกันไม่ได้ก็ต้องออกมาทำแบรนด์ของตัวเอง และกลายเป็นคู่แข่งกันในที่สุด