ต่อเนื่องจากสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งเขียนเปรียบเทียบกระบวนการจัดการภาครัฐระหว่าง “กระท่อม” และ “กัญชา” กับเวลา 1 สัปดาห์ ที่ขณะนี้ความคืบหน้าเรื่องของกระท่อมได้ขยับไปอีกขั้น เมื่อที่ประชุมครม. เห็นชอบในหลักการ ร่าง พ.ร.บ.พืชกระท่อม พ.ศ…. ซึ่งอาจเรียกว่า “กฎหมายลูก” ที่จะมาควบคุมการปลูก และการจำหน่าย ซึ่งหลายๆคนคงทราบรายละเอียดไปแล้ว
เช่นกันที่เราได้ค้นหาข้อมูลจากพื้นที่จริง ในหมู่บ้านนำร่อง 1 ใน 135 หมู่บ้านปลูกพืชกระท่อม โดยไม่ผิดกฎหมาย ภายใต้การควบคุมดูแลของ ปปส. และเราพบว่า พืชกระท่อมนั้น อาจกลายเป็นความหวังใหม่ของเกษตรกรได้ แม้จะไม่ใช่พืชหลัก เช่นเดียวกับ 5 พืชเศรษฐกิจในปัจจุบัน
จากข้อมูล ของหมู่บ้านดังกล่าว พบว่า ชาวบ้านส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร ทำนา และไร่นาสวนผสม มีจำนวนการปลูกกระท่อมประมาณ 400 ต้น แบ่งเป็น 4 สายพันธุ์ คือ 1.ขาวแตงกวา (นิยมบริโภคมากที่สุด) 2. แมงดา หรือ หางกั้ง (นิยมใช้เป็นยา เนื่องจากมีสาร mitragynine ซึ่งช่วยลดอาการเจ็บปวด ต้านการอักเสบ กระตุ้นประสาท และต้านการซึมเศร้ามากกว่าชนิดอื่น) 3.ก้านแดง (นิยมใช้บริโภค โดยผู้บริโภคบางคนบอกว่าออกฤทธิ์แรง หรือเมามากกว่าพันธุ์ขาวแตงกวา) 4.เหรียญทอง (มีใบกรอบ ผู้บริโภคบางคนนิยมเนื่องจากเคี้ยวสนุก)
ดังนั้นประเด็นแรกที่ชาวบ้านจะได้ประโยชน์จากพืชกระท่อม คือ การปลูกเป็นพืชเสริมรายได้ ซึ่งพบว่าในตลาดมืดมีการลักลอบขายใบกระท่อมสด ในราคาประมาณ กก.ละ 600-1,000 บาท (300-400 ใบ/กก.) โดยในแต่ละวัน เกษตรกร 1 ราย (3 ต้น) จะสามารถเก็บขายได้สัปดาห์ละ 3-5 กก.
หากราคาดังกล่าว สามารถใช้เปรียบเทียบกับราคาขายจริง เมื่อกระท่อมได้รับการปลดล็อกอย่างเป็นทางการแล้ว จะทำให้เกษตรกรมีรายได้เฉลี่ยเดือนละประมาณ 12,000-2,0000 บาทเลยทีเดียว
ขณะที่เรื่องของการแปรรูปผลิตภัณฑ์ ชาวบ้านได้บอกให้เราฟังว่า หลังจากมีข่าวการปลดล็อกกระท่อม ได้มีโรงงานผลิตภัณฑ์ยาสมุนไพร เข้ามาติดต่อเพื่อจะจัดตั้ง โรงงานผลิตแคปซูลผงกระท่อม ซึ่งจะใช้วัตถุดิบส่วนใหญ่จากภายในหมู่บ้านเป็นหลัก โดยเบื้องต้นตามหลักเกณฑ์โรงงานดังกล่าวจะต้องขออนุญาตและปฏิบัติตามเงื่อนไขของ ปปส. นี่เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของธุรกิจจากกระท่อม
ความเคลื่อนไหวของการปลดล็อกกระท่อม ยังเกิดแรงกระเพื่อมในกลุ่มบริษัทในตลาดหลายราย ที่เริ่มเข้ามาจับธุรกิจเกี่ยวกับกระท่อม เพื่อปั่นราคาซื้อขายหุ้น เช่นเดียวกันกับที่เคยเกิดขึ้นใน “กัญชา” รวมทั้งตลาดใต้ดินที่เริ่มมีการเคลื่อนไหวการขายเมล็ดพันธุ์กระท่อม และกิ่งตอนในราคาสูง
ยังไม่นับรวมผลิตภัณฑ์อาหาร เครื่องดื่ม ที่มีส่วนผสมของกระท่อม ซึ่งเราอาจจะเห็นเจ้าตลาดเครื่องดื่มชูกำลังยักษ์ใหญ่ กระโดดลงมาเล่นในตลาดอย่างจริงจัง
ขณะที่เรื่องของการพัฒนาผลิตภัณฑ์อื่นๆ นอกจากทางการแพทย์ หรือ ใช้เป็นยาสมุนไพรโบราณใน 18 ตำรับยา ของกรมการแพทย์แผนไทย และการแพทย์ทางเลือก เท่าที่พบข้อมูล การวิจัยและพัฒนา “กระท่อม”ในบ้านเรา ยังคงเป็นเรื่องใหม่
ดังนั้น กระท่อม ก็ยังคงพอมีความหวังที่จะเป็นพืชเศรษฐกิจให้กับเกษตรกรไทย ซึ่งต้องขึ้นอยู่กับการจำกัดการปลูกเพื่อไม่ให้ผลผลิตล้นตลาด รวมทั้งการกำหนดหลักเกณฑ์รัดกุม โดยจัดตั้งหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยเฉพาะ ลดขั้นตอนเงื่อนไขที่ยากต่อการเข้าถึงของเกษตรกร ตัดวงจรการเอื้อผลประโยชน์ต่อกลุ่มทุนต่างๆ หากเป็นไปตามนี้ เกษตรกรจึงจะมีความหวังได้ลืมตาอ้าปากมากยิ่งขึ้น