ปลดล็อก วิสาหกิจฯ ผลิตสินค้า “กัญชา-กัญชง” อีกก้าวของ “กัญชาเพื่อประชาชน”


ข่าวดีของกลุ่มวิสาหกิจชุมชน เมื่อกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เตรียมออกระเบียบให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข รับจ้างผลิต สกัด กัญชา-กัญชง ในรูปแบบของยาและผลิตภัณฑ์สมุนไพร ซึ่งจะเปิดโอกาสให้ภาคเอกชน และวิสาหกิจชุมชนได้มีผลิตภัณฑ์กัญชา-กัญชง เป็นของตัวเอง โดยขณะนี้อยู่ในขั้นตอนระหว่างเสนอปลัดสธ.ลงนาม

กรณีดังกล่าว อาจสืบเนื่องมาจากกระแสข่าวที่ว่าทุกวันนี้ วิสาหกิจชุมชนหลายรายที่ปลูกกัญชานำร่อง และจะต้องจัดส่งส่วนของดอก หรือส่วนอื่นๆ ให้กับ รพ.ในสังกัด ยังคงไม่ได้รับเงินทุนที่ลงทุนปลูกกัญชาเพื่อการแพทย์เหล่านี้ ให้ยังพอสามารถลืมตาอ้าปากได้ ด้วยการแปรรูปกัญชาทางการแพทย์เพื่อสร้างรายได้ให้กับกลุ่มของตัวเอง

โดยเบื้องต้น ระเบียบดังกล่าวจะอยู่ภายใต้หลักเกณฑ์ที่ให้โรงพยาบาลที่มีศักยภาพในการผลิตยาสมุนไพร และได้มาตรฐานการผลิต GMP ประมาณ 50 แห่ง ซึ่งปัจจุบันมีหลายแห่งที่มีความร่วมมือกับเกษตรกรในการปลูกกัญชาร่วมกัน เป็นผู้ควบคุมดูแล

และระเบียบนี้ ยังทำให้หน่วยงานภาครัฐสามารถส่งต่อวัตถุดิบกัญชาเพื่อสกัดและผลิตระหว่างกันได้ เช่น มหาวิทยาลัย สามารถส่งต่อวัตถุดิบให้โรงพยาบาลผลิตต่อในบางขั้นตอนได้ รวมทั้งการศึกษาวิจัยในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นความต้องการของตลาด และการเสริมสร้างทักษะในการปลูกและการแปรรูปขั้นต้นให้กับเกษตรกร

แม้เรื่องดังกล่าวจะถือเป็นผลประโยชน์โดยตรงของเกษตรกร หรือกลุ่มวิสาหกิจชุมชน แต่อย่าลืมเรื่องของ “ตลาดนำการผลิต” ซึ่งทำให้ “พืชเศรษฐกิจ” หลายชนิดเกิดปัญหา และกลไกเหล่านี้ที่ผ่านมาก็พบว่า ตลาดกัญชาบ้านเรา ยังไม่ได้รับการพัฒนาให้สมบูรณ์เท่าที่ควร ไม่ว่าจะเป็นการปราบปราม ผลิตภัณฑ์หรือวัตถุดิบ“กัญชาใต้ดิน” ที่กำลังทำตลาดแข่งกับผลิตภัณฑ์กัญชาถูกกฎหมาย

ทั้งเรื่องของประโยชน์การใช้งานที่สามารถต่อยอดจากยาสมุนไพร ไปสู่สินค้าเครื่องสำอาง อาหาร ด้วยการสร้างเทรนด์การบริโภคเพื่อสุขภาพ ทั้งที่เป็นยา และไม่เป็นยา เรื่องเหล่านี้ วิสาหกิจฯ ซึ่งมีแหล่งผลิตและวัตถุดิบ สามารถร่วมมือกับผู้ประกอบการ SMEs ซึ่งมีความเชี่ยวชาญรู้ถึงความต้องการของตลาดได้

อย่างไรก็ตาม วันนี้กฎหมาย หลักเกณฑ์และกฎระเบียบจากหน่วยงานรัฐบ้านเรายังคงเดินช้าเกินกว่าแนวคิดการต่อยอดของผู้ประกอบการ จะเห็นได้จากกรณีระเบียบ “การขออนุญาตเรื่องบรรจุภัณฑ์แบบปิด” จากอย. ที่ผู้ประกอบการหลายรายรอคอยอย่างใจจดใจจ่อ ต้องยอมรับว่า “กัญชาเพื่อประชาชน” ในแบบฉบับของประเทศไทย ยังคงไม่สามารถเดินตามครรลองที่ควรจะเป็นได้อยู่ในขณะนี้