“วัคซีนโควิด” ปัจจัย บูม 10 จังหวัดท่องเที่ยวนำร่อง


ปี 63 ประเทศไทย มีรายได้ท่องเที่ยว ทั้งหมด 792,534 ล้านบาท ลดลงจากปี 62 ประมาณ 70% โดยเป็นรายได้จากคนไทย 482,468 ล้านบาท หรือลดลงจากปี 62 ประมาณ 55% เป็นรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ 310,066 ล้านบาท หรือลดลงจากปี62 ประมาณ 81%

จากรายได้ด้านการท่องเที่ยวซึ่งเป็นภาคเศรษฐกิจหลักของประเทศที่ลดลงอย่างน่าใจหาย ภายหลังการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยเป็นผลพวงมาจากมาตรการควบคุม และป้องกันโรค ทำให้รัฐบาลได้กำหนดแผนเตรียม นำร่องเปิดการท่องเที่ยว ใน 10 จังหวัด ที่สร้างรายได้หลักด้านการท่องเที่ยว โดยไม่มีการกักตัว ในเดือน ต.ค.64 นี้

สำหรับ 10 จังหวัดท่องเที่ยว ซึ่งรัฐบาลได้กำหนดไว้นั้น มีตัวเลขรายได้จากการท่องเที่ยว ในปี 2563 ดังนี้

1.กรุงเทพมหานคร รายได้ท่องเที่ยว 254,740 ล้านบาท ลดลงจากปี 62 (1,067,814 ล้านบาท) หรือ -76.14% นักท่องเที่ยวคนไทย 133,761 ล้านบาท ลดลงจากปี 62 (384,604 ล้านบาท) หรือ -65.22% ต่างชาติ 120,978 ล้านบาท ลดลง (683,209 ล้านบาท) หรือ -82.29 ล้านบาท

2.เชียงใหม่ รายได้ท่องเที่ยว 49,841 ล้านบาท ลดลง (110,670 ล้านบาท) หรือ -54.96% คนไทย 42,474 ล้านบาท ลดลง (67,231 ล้านบาท) หรือ -36.82% ต่างชาติ 7,366 ล้านบาท ลดลง (43,438 ล้านบาท) หรือ -83.04%
.
3.ประจวบคีรีขันธ์ รายได้ท่องเที่ยว 18,021 ล้านบาท ลดลงจากปี 62 (42,393 ล้านบาท) หรือ -57.49% คนไทย 16,135 ล้านบาท ลดลง (28,601 ล้านบาท) ลดลง -43.59% ต่างชาติ 1,885 ล้านบาท ลดลง (13,790 ล้านบาท) หรือ -86.23%

4.เพชรบุรี รายได้ท่องเที่ยว 14,424 ล้านบาท ลดลงจากปี 62 (31,034ล้านบาท) หรือ -53.52 % คนไทย 13,549 ล้านบาท ลดลง (26,375 ล้านบาท) หรือ -48.63% ต่างชาติ 874 ล้านบาท ลดลง ( 4,658 ล้านบาท) หรือ -81.23%

5.ชลบุรี รายได้ท่องเที่ยว 62,499 ล้านบาท ลดลง (276,328 ล้านบาท) หรือ -77.38% คนไทย 27,988 ล้านบาท ลดลง (55,499 ล้านบาท) หรือ -49.57% ต่างชาติ 34,510 ล้านบาท ลดลง (220,828 ล้านบาท) หรือ -84.37%

6.ภูเก็ต รายได้ท่องเที่ยว 108,464 ล้านบาท ลดลง (442,891 ล้านบาท) หรือ -75.51% คนไทย 20,936 ล้านบาท ลดลง (49,725 ล้านบาท หรือ -57.90% ต่างชาติ 87,527 ล้านบาท (393,164 ล้านบาท) หรือ -77.74% อย่างไรก็ตาม สำหรับ จ.ภูเก็ต รัฐบาลได้กำหนดโครงการ “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์” ที่จะเปิดนำร่องให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาในวันที่ 1ก.ค. 64 นี้ เป็นจังหวัดแรก ภายใต้มาตรการควบคุมตามที่ ศบค.กำหนด

7.สุราษฎร์ธานี รายได้ท่องเที่ยว 24,243 ล้านบาท ลดลง (94,287 ล้านบาท) หรือ -74.29 คนไทย 7,450 ล้านบาท ลดลง ( 17,040 ล้านบาท) หรือ -56.29% ต่างชาติ 16,792 ล้านบาท ลดลง (77,246 ล้านบาท) หรือ -78.26%

8.กระบี่ รายได้ท่องเที่ยว 29,032 ล้านบาท ลดลง (112,056 ล้านบาท) หรือ -74.09% คนไทย 13,606 ล้านบาท ลดลง (38,380 ล้านบาท )หรือ -64.55% ต่างชาติ 15,424 ล้านบาท ลดลง (73,674 ล้านบาท) หรือ -79.06%

9.พังงา รายได้ท่องเที่ยว 11,729 ล้านบาท ลดลง (51,705 ล้านบาท) หรือ -77.32% คนไทย 2,901 ล้านบาท ลดลง (6,448 ล้านบาท) หรือ -55.01% ต่างชาติ 8,827 ล้านบาท ลดลง (45,256 ล้านบาท) หรือ -80.50%

10.บุรีรัมย์ รายได้ท่องเที่ยว 1,828 ล้านบาท ลดลง (4,704 ล้านบาท) หรือ -61.13% คนไทย 1,814 ล้านบาท ลดลง (4405 ล้านบาท) หรือ -58.83% ต่างชาติ 14.39 ล้านบาท ลดลง (298 ล้านบาท) หรือ -95.17%

สำหรับแนวทาง การเปิดท่องเที่ยวใน 10 จังหวัดนำร่อง (9 จังหวัด ยกเว้ยภูเก็ตที่เปิดในวันที่ 1 ก.ค.64 ) ดังกล่าว ล่าสุดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้เตรียมมาตรการเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ เบื้องต้นคาดว่าในช่วงกลางเดือน ก.ค.นี้ จะเริ่มออกเป็นมาตรการ เช่น โครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน เฟส 3” โครงการ “ทัวร์เที่ยวไทย” และ “วันธรรมดาน่าเที่ยว” ที่จะเริ่มในกลางเดือน ก.ค.นี้ คาดว่าจะทำให้เกิดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจกว่า 61,000 ล้านบาท โดยใช้งบกระตุ้นการท่องเที่ยวประมาณ 9,320 ล้านบาท

เหนือสิ่งอื่นใด หลายฝ่ายในภาคเอกชน และผู้ประกอบการยังคงย้ำถึงการเร่งฉีดวัคซีนโควิด-19 เพื่อให้ครอบคลุมจำนวน 70% ของประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ ซึ่งจะช่วยเพิ่มความมั่นใจในการท่องเที่ยวมากยิ่งขึ้น แม้จะรู้ว่าการท่องเที่ยวต่อจากนี้ต่อเนื่องไปจนถึงปีหน้าจะไม่เหมือนเดิม ด้วยรูปแบบและมาตรการควบคุมก็ตาม

ขณะเดียวกันบางฝ่ายยังเรียกร้องถึงการเร่งระดมฉีดวัคซีนให้กับประชากรพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด(สีแดงเข้ม) 4 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ นนทบุรี ปทุมธานี ให้ครอบคลุมจำนวนประชากรให้ได้มากที่สุด โดยมองว่ากลุ่มคนในพื้นที่ 4 จังหวัดนี้ คือกลุ่มนักท่องเที่ยวภายในประเทศส่วนใหญ่ที่จะเดินทางท่องเที่ยวและกระจายรายได้ไปยังจังหวัดท่องเที่ยวในภาคอื่นๆ