รู้จัก “ฉลากเขียว” เครื่องหมายช่วยสะท้อนความยั่งยืนของแบรนด์ต่อสิ่งแวดล้อม
ฉลากเขียวของประเทศไทย ริเริ่มขึ้นโดยองค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Thailand Business Council for Sustainable Development, TBCSD)
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้ประกาศเผยแพร่กฎกระทรวง รถยนต์รับจ้างผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2564 ซึ่งได้กำหนดให้รถยนต์ หรือการนํารถยนต์นั่งส่วนบุคคลมาจดทะเบียนเปลี่ยนประเภท เป็นรถยนต์รับจ้างผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์
โดยกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) จะออกประกาศกําหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข การรับรองผู้ให้บริการ และแอปพลิเคชัน ที่จะนํามาให้บริการตามฐานอํานาจที่กําหนดในร่างกฎกระทรวงฉบับดังกล่าว ซึ่งจะรับฟังความคิดเห็นผู้เกี่ยวข้องและออกประกาศ โดยใช้เวลาประมาณ 1 เดือน (30 วัน)
สาระสำคัญของกฎกระทรวงฯ ดังกล่าว ได้แบ่งการจดทะเบียนรถยนต์รับจ้างผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์เป็น 3 ประเภท ได้แก่ 1.ขนาดเล็ก มีกําลังในการขับเคลื่อนตั้งแต่ 50-90 กิโลวัตต์ 2.ขนาดกลาง มีกําลังในการขับเคลื่อนมากกว่า 90 กิโลวัตต์ แต่ไม่เกิน 120 กิโลวัตต์ และ 3.ขนาดใหญ่ มีกําลังในการขับเคลื่อนมากกว่า 130 กิโลวัตต์ขึ้นไป ทั้งนี้ กรณีเป็นรถที่ใช้มอเตอร์ไฟฟ้าในการขับเคลื่อนต้องมีความเร็วสูงสุดได้ไม่น้อยกว่า 90 กม./ชม.
สำหรับการรับจดทะเบียนเป็นรถยนต์รับจ้างผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์นั้น จำกัดได้เพียงคนละ 1 คัน ในส่วนรถที่จดทะเบียนนั้น ต้องเป็นรถที่มีประตูไม่น้อยกว่า 4 ประตู รถที่ใช้จะต้องมีสีเดิมตามใบคู่มือจดทะเบียน มีอายุการใช้งานได้ไม่เกิน 9 ปี และต้องมีลักษณะเป็นรถเก๋ง 2 ตอน, รถเก๋ง 2 ตอนแวน, รถเก๋ง 3 ตอน, รถเก๋ง 3 ตอนแวน, รถยนต์นั่ง 2 ตอน, รถยนต์นั่ง 2 ตอนแวน, รถยนต์นั่ง 3 ตอน, รถยนต์นั่ง 3 ตอนแวน หรือรถยนต์ลักษณะอื่นตามที่อธิบดีกรมการขนส่งทางบก ประกาศกําหนด โดยความเห็นชอบของรัฐมนตรี
โดยจะต้องมีและใช้อุปกรณ์เครื่องสื่อสาร เพื่อการรับงานจ้างผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่ ขบ.ให้การรับรอง เช่น ข้อมูลเกี่ยวกับรถและผู้ขับ ระบบแสดงตัวตนผู้ขับ ระบบการคิดอัตราค่าโดยสารล่วงหน้า ระบบติดตาม ระบบตรวจสอบเวลา-สถานที่รับส่ง และระบบแจ้งร้องเรียน-ขอความช่วยเหลือ ซึ่งดำเนินการโดยผู้ให้บริการระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่ ขบ.ให้การรับรอง รวมทั้งต้องมีการจัดเก็บข้อมูล ที่สามารถตรวจสอบย้อนหลังได้อย่างน้อย 1 เดือน
ส่วนอัตราค่าจ้างบรรทุกคนโดยสารและค่าบริการอื่น สําหรับรถยนต์ขนาดเล็ก และขนาดกลาง เกณฑ์ระยะทาง 2 กม.แรก ไม่เกิน 50 บาท และ กม.ต่อๆ ไป กม.ละไม่เกิน 12 บาท ในกรณีรถติดตามสภาพจราจร อัตรานาทีละไม่เกิน 3 บาท ในส่วนกรณีการจ้างผ่านศูนย์บริการ กําหนดได้ไม่เกิน 50 บาท และค่าบริการเพิ่มกรณีอื่น กําหนดได้ไม่เกิน 200 บาท
ขณะที่ รถขนาดใหญ่ ระยะทาง 2 กม.แรก ไม่เกิน 200 บาท และ กม.ต่อๆ ไป กม.ละไม่เกิน 30 บาท ในกรณีที่รถติด อัตรานาทีละไม่เกิน 10 บาท ส่วนกรณีการจ้างผ่านศูนย์บริการสื่อสารกําหนดได้ ไม่เกิน 100 บาท และค่าบริการเพิ่มกรณีอื่น กําหนดได้ไม่เกิน 200 บาท
อย่างไรก็ตาม การเรียกเก็บค่าจ้างบรรทุกผู้โดยสาร ให้เรียกเก็บตามจํานวนเงินซึ่งคํานวณโดยระบบการคิดอัตราค่าโดยสารล่วงหน้าที่ปรากฏในอุปกรณ์ เพื่อการรับงานจ้าง โดยต้องแจ้งให้คนโดยสารทราบก่อนทําการขนส่งผู้โดยสารคนนั้น