สจ๊วตหนุ่ม พลิกชีวิตจากวิกฤตโควิด-19 เพาะไม้ด่างขายสร้างรายได้ไม่ธรรมดา


กระแสธุรกิจที่มาแรงและกำลังฮือฮาอย่างมากในช่วงนี้คงหนีไม่พ้น ธุรกิจขาย “ไม้ด่าง” ซึ่งเกิดขึ้นพร้อมกับสถานการณ์โควิด-19 ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา วันนี้สจ๊วตหนุ่มหล่อการบินไทย “นายนิติพันธ์ ลีละสุวัฒนากุล” หรือ “เบิร์ด” พลิกวิกฤตโควิดเป็นโอกาสสร้างรายได้เกินเงินเดือน

นายนิติพันธ์ ลีละสุวัฒนากุล หรือ “เบิร์ด” เล่าถึงจุดเริ่มต้นของอาชีพนี้ว่า เริ่มเข้าสู่วงการเพาะเลี้ยงและขายไม้ด่างมาประมาณ 1 ปี จากการที่สายการบินต้องหยุดบินจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ขาดรายได้ แต่มีค่าใช้จ่าย ทั้งผ่อนบ้าน ผ่อนรถ รวมไปถึงบัตรเครดิต ช่วงแรกที่หยุดงาน สจ๊วตหนุ่มบอกว่ายังไม่รู้จะทำอะไรดี จนผ่านมา 3 เดือน น้องสาวซื้อต้นมอนสเตอร่า ยางอินเดีย มาฝาก วางไว้ในบ้านได้ 2 สัปดาห์ก็ตาย เพราะไม่มีความรู้ ไม่เคยศึกษาว่าต้องเลี้ยงยังไง ตั้งแต่นั้นมา สจ๊วตหนุ่มในวัย 32 ปี ก็ตั้งใจเลี้ยงต้นไม้ต่อให้อยู่รอด โดยซื้อต้นไม้ราคาไม่กี่สิบบาทมาเลี้ยง

จนกระทั่งได้มารู้จักไม้ด่าง จากการแนะนำของรุ่นพี่ที่ทำงานแบ่งให้มาเลี้ยงแต่ยังไม่ได้ขาย จนพี่สาวซึ่งเพาะต้นไม้ขาย ส่งไม้ใบเขียวอย่าง ต้นเศรษฐีเงินหนา 10 กว่าต้น มาให้ลองขายราคาหลักร้อย ตอนนั้นไม่รู้เรื่องขายต้นไม้ รู้สึกว่า ต้นไม้ราคาหลักร้อยใครจะมาซื้อ จึงลองโพสต์รูปและซื้อขายในกลุ่มต้นไม้มงคล ปรากฏว่าขายได้ ขายหมดใน 2-3 วัน จึงทำให้เห็นช่องทางการค้าขาย

 

 

“พอลูกค้าเยอะขึ้น ผมรับต้นเศรษฐีเงินหนา จากหน้าสวนมาขายเพิ่ม สิบต้น ห้าสิบต้น ร้อยต้น เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะมีลูกค้าต่างประเทศติดต่อมาด้วย รวมๆ แล้วขายได้พันกว่าต้น”

ต่อมาพอเริ่มมีทุนเริ่มขยับมาขายไม้ด่าง โดยลงทุนครั้งแรกประมาณ 20,000 บาท ขายได้หลายหมื่นบาทเพราะไม้ด่าง คิดราคาเป็นใบ ตอนเราซื้อมามี 2 ใบ เลี้ยงไปใบเพิ่มขึ้น 2 ใบ ถ้าเป็นใบด่าง ราคาแตกต่างกันไปตามสายพันธุ์แพงสุดใบละหลักแสนบาท ทำให้เราเริ่มมีรายได้จากการจำหน่ายไม้ด่าง พอมีทุนเริ่มไปหาไม้ด่างแบบอื่นๆ ที่เป็นกระแสอยู่ในช่วงนั้นมาลองขาย

 

 

“ผมเริ่มขายมาได้ประมาณ 1ปี เคยขายได้ราคาสูงสุดหลักล้านบาท ปัจจุบันมีรายได้ไม่แน่นอน แต่อยู่ในหลักแสนบาทเกือบทุกเดือน” สจ๊วตหนุ่ม กล่าว

นอกจากนี้การที่สจ๊วตหนุ่มรายนี้ร่ำเรียนทางด้านภาษาศาสตร์มา ทำให้พูดได้หลายภาษา จึงติดต่อขายลูกค้าต่างประเทศได้ด้วย โดยที่ผ่านมา มีลูกค้า ฮ่องกง ไต้หวัน จีน และลูกค้ายุโรป ประกอบกับมีเพื่อนทำชิปปิ้ง นำเข้าและส่งออก พอมาทำต้นไม้ เพื่อนจึงชวนให้นำเข้าต้นไม้จากต่างประเทศมาขายนักสะสมในประเทศไทยด้วย สำหรับราคาไม้ด่างในต่างประเทศ ราคาสูงกว่าในประเทศไทย เช่น ต้นไม้ที่เพาะได้ ชื่อ Syngonium milk confetti เป็นสายพันธุ์นำเข้าจากเยอรมัน และนำมาเพาะขยายพันธุ์เอง ขายราคาเริ่มต้น 4,000 บาท เป็นสายพันธุ์ที่สามารถเพาะเนื้อเยื่อได้ ราคาไม่แพงมาก ซึ่งจะมีลูกค้าทั้งคนไทยและต่างประเทศ สั่งอย่างน้อย 10 ต้น ก็ได้แล้ว 40,000 บาท สิ่งหนึ่งที่ได้มากกว่าธุรกิจ นั่นคือ การได้ลุ้นว่า ใบที่ออกมาใหม่ จะด่างหรือไม่ และเป็นสีอะไร ซึ่งการเลี้ยงไม้ด่าง ถ้าออกใบเพิ่มจะได้เงินเพิ่ม เป็นรายได้ที่ดีมาก พลิกชีวิตในช่วงที่ขาดรายได้ จากวิกฤตโควิด-19 ได้เป็นอย่างดีเลยทีเดียว

ปัจจุบันราคาไม้ด่างจะอิงราคาในอีเบย์ หากส่งต่างประเทศ ก่อนส่งต้องสอบถามปลายทางก่อนว่าต้องมีใบอนุญาตนำเข้าหรือไม่ เพราะบางประเทศไม่สามารถนำพืชเข้าไปได้ แต่ในไทยก็มีบริษัทรับส่งพืชโดยที่ปลายทางไม่ต้องมีใบอนุญาต ส่วนการบรรจุหีบห่อต้นไม้ ต้องล้างรากไม่ให้มีดินติด ซึ่งอาจจะใช้สแฟ็กนั่ม มอส (Sphagnum moss) ห่อรากไว้ ส่วนใบใช้กระดาษห่อ หลังจากนั้นนำไปตรวจโรคที่กรมวิชาการเกษตรเพื่อให้ได้ใบปลอดโรค จัดส่งทางไปรษณีย์ ต้องดูว่าแต่ละประเทศให้จัดส่งได้กี่ต้น เช่น อเมริกาให้ 12 ต้น ข้างกล่องแปะชื่อผู้ส่ง ผู้รับ และใบปลอดโรคแนบไป หรือถ้าส่งแอร์คาร์โก หลักการคล้ายกัน แต่ผู้รับต้องมาเคลียร์ของเองที่สนามบิน ซึ่งลูกค้าจะจ้าง Custom Broker มาเคลียร์ของให้ ส่วนการจัดส่งในไทย ใช้วิธีส่งทั้งกระถาง ต้องปิดหน้าดิน และนำถุงพลาสติกหุ้มกันดินหก หลังจากนั้นหุ้มด้วยกระดาษลูกฟูก มีนุ่นและใยสังเคราะห์เสริมไม่ให้เกิดความเสียหาย ห่อด้วยกระดาษ และผูกเชือกยึดไว้กับกระถาง หรืออีกวิธี แพ็กด้วยตะกร้าครอบล่างและบน จัดส่งไปรษณีย์ไทยอย่างเดียว เพราะระบบขนส่งอื่นไม่รับ

สำหรับใครที่สนใจหรือชื่นชอบการปลูกต้นไม้อยู่แล้ว ลองหันมาจับตลาดไม้ด่างก็น่าสนใจไม่น้อย นอกจากความชื่นชอบและความสุขจากการเลี้ยงไม้ด่างแล้ว ยังขายได้ราคาดี ยิ่งด่างสวย ยิ่งราคาแพง ขายได้หลักล้านก็มีให้เห็นแล้ว เป็นอีกหนึ่งทางสร้างรายได้ที่ดีในช่วงวิกฤตโควิด-19 ที่ทำเศรษฐกิจย่ำแย่อยู่ในขณะนี้