ประเมินได้ว่าวันนี้มีการใช้คลิปโต เพื่อชำระค่าสินค้าน่าจะมีปริมาณมากขึ้นจนทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถลงข่าวออกมาเมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้ว โดยเตือนว่าการใช้คลิปโตเพื่อชำระสินค้ามีความเสี่ยงสูง (อ้างอิง https://bit.ly/3k6T98E)
โดยนางสาวสิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายระบบการชำระเงินและเทคโนโลยีทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท. ได้ติดตามการใช้สินทรัพย์ดิจิทัลในรูปแบบต่าง ๆ มาอย่างต่อเนื่อง และเห็นการเชิญชวนให้นำสินทรัพย์ดิจิทัลประเภทต่าง ๆ เช่น Bitcoin Ether มาใช้เป็นสื่อในการชำระค่าสินค้าและบริการมากขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ซึ่ง ธปท. ได้เคยแจ้งย้ำถึงสถานะของสินทรัพย์ดิจิทัลว่าไม่ถือเป็นเงินตราตามกฎหมาย
ดังนั้น การนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้ในรูปแบบดังกล่าว จึงมีลักษณะเป็นการแลกเปลี่ยน (barter trade) ระหว่างสินทรัพย์ดิจิทัลกับสินค้าและบริการที่ผู้ให้และผู้รับตกลงยอมรับความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องระหว่างกัน
ในการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นสื่อกลางการชำระค่าสินค้าและบริการ ผู้ใช้หรือผู้รับสินทรัพย์ดิจิทัล อาจมีความเสี่ยงจากความผันผวนของมูลค่าสินทรัพย์ดิจิทัล รวมทั้งยังมีความเสี่ยงจากการสูญเสียมูลค่าหากถูกโจรกรรมทางไซเบอร์ และการถูกใช้เป็นเครื่องมือของการฟอกเงิน ธปท. จึงยังคงไม่สนับสนุนการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นสื่อกลางการชำระค่าสินค้าและบริการ และเห็นว่าสินทรัพยฺ์ดิจิทัลบางประเภทเป็นสินทรัพย์เพื่อการลงทุนที่ผู้ลงทุนต้องเข้าใจความเสี่ยง ซึ่งเป็นมุมมองที่สอดคล้องกับองค์กรระหว่างประเทศและหน่วยงานกำกับหลายประเทศ อาทิ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ (BIS) อังกฤษ สหภาพยุโรป เกาหลีใต้ และมาเลเซีย
อย่างไรก็ดี ธปท. จะติดตามพัฒนาการของการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นสื่อกลางการชำระค่าสินค้าและบริการอย่างต่อเนื่อง หากเกิดขึ้นอย่างแพร่หลาย ธปท. จะประสานกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาดูแลไม่ให้เกิดความเสี่ยงในวงกว้างจนส่งผลกระทบต่อสาธารณชน ระบบเศรษฐกิจ และเสถียรภาพของระบบการเงินของประเทศ
ทั้งนี้ ธปท. เห็นความสำคัญของการพัฒนานวัตกรรมทางการเงิน และเปิดกว้างในการนำไปใช้ต่อยอดเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของระบบการชำระเงินในการสนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และจะดูแลให้ประชาชนได้รับประโยชน์เต็มที่จากการพัฒนานวัตกรรม
ขณะนี้ ธปท. อยู่ระหว่างศึกษาและพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง (Central Bank Digital Currency: CBDC) รวมทั้งมีแนวนโยบายกำกับดูแลการให้บริการทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัลประเภท Stablecoin ที่มีเงินบาทหนุนหลังและ Stablecoin ประเภทอื่น ๆ เพื่อเพิ่มช่องทางในการชำระค่าสินค้าและบริการในรูปแบบดิจิทัล ที่น่าเชื่อถือให้กับประชาชน ควบคู่ไปกับการรักษาเสถียรภาพระบบการเงินของประเทศ ซึ่ง ธปท. จะรับฟังข้อคิดเห็นจากสาธารณชนและผู้เกี่ยวข้อง และแจ้งความคืบหน้าของพัฒนาการดังกล่าวเป็นระยะต่อไป”
ความคืบหน้า ไทยคลิปโต
ปัจจุบันคนไทยเริ่มคุ้นเคยกับเงินดิจิทัลมากขึ้นเรื่อยๆ จากการที่ภาครัฐได้ทำโครงสร้างพื้นฐานไว้พอสมควร โดยเฉพาะความคุ้นเคยที่เกิดจากการใช้แอพพลิเคชั่น กระเป๋าเงิน หรือ Wallet ต่างๆ ในโครงการรับเยียวยาจากสถานการณ์โควิด อีกด้านหนึ่งก็มาจากการที่เปิดให้มีการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล
ขณะที่ธปท. ในฐานะผู้กำกับดูแลก็ได้ทดลองดำเนินการพัฒนาสกุลเงินดิจิทัล ที่ออกโดยธนาคารกลาง (Central Bank Digital Currency: CBDC) ที่ชื่อว่า “อินทนนท์”มาระยะเวลาหนึ่งแล้ว โดยล่าสุดได้มีการว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาต่างประเทศเข้ามาร่วมในการพัฒนา “CBDC”
ในประเทศไทยมีการศึกษามาอย่างต่อเนื่องเมื่อหลายปีก่อน เป็นโครงการที่มีชื่อว่า “อินทนนท์” เป็นโครงการที่พัฒนาขึ้นมารองรับธุรกรรมการโอนเงินระหว่างสถาบันกับสถาบัน รวมทั้งยังมีข่าวว่าจะสามารถให้ Retail ใช้งาน CBDC ได้ด้วย
Retail CBDC คือ การใช้สกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง สำหรับการใช้งานภาคประชาชน คล้ายๆกับการใช้ธนบัตร นั้นเอง จากข้อมูลที่เผยแพร่ออกมา กลไกลนี้ คือ แบงก์ชาติจะกระจาย Digital Currency ให้กับสถาบันการเงิน เป็นตัวกลางในการกระจายสู่ประชาชนอีกทอดหนึ่ง โดยประชาชนสามารถนำเงินสดมาแลกได้ที่ธนาคาร และเมื่อนำ Digital Currency ไปทำธุรกรรมผ่าน Digital Wallet แล้ว หากต้องการแลกเป็นเงินสดก็สามารถมาแลกได้กับธนาคารได้
สิ่งที่เล่ามาเป็นเพียงส่วนหนึ่งของความคืบหน้าของรายละเอียดการพัฒนา Digital Currency ของไทย ไว้ครั้งหน้าจะรวบรวมข้อมูล มาเล่าสู่กันฟัง เพื่อให้ทุกท่านสามารถติดตามความเปลี่ยนแปลงของโลก Imoney ซึ่งผู้ประกอบการควรก้าวตามให้ทัน