Chain Store Management and Franchise System การบริหารร้านเครือข่ายและระบบแฟรนไชส์


ผมได้อธิบายหลักการทำแผนการศึกษาความเป็นไปได้เพื่อควบคุมระบบการลงทุน ให้ได้เข้าใจการสำรวจตลาดและข้อมูลพื้นฐานทางด้านกายภาพครบถ้วนแล้ว สุดท้ายคือการตัดสินใจจะทำโครงการหากได้ทำเลที่เหมาะสมก็ต้องมีความพร้อมทางการบริหาร ฉบับนี้ก็จะเริ่มต้นกล่าวถึงกระบวนการและระบบการบริหารร้านค้าในระบบเครือข่ายหรือ Chain Store เป็นหลัก

เอสเอ็มอี หลายคนต้องการจะทำธุรกิจเป็นเถ้าแก่มือใหม่ แต่พอเริ่มได้สักหน่อยก็ต้องปิดตัวลงไปต่อไม่ได้ การเลือกทำธุรกิจหาจุดแข็งของเราก่อนที่เป็นส่วนที่ได้เปรียบในการเริ่มต้น คือ แนวคิดดีๆยังเวอร์จินอยู่ เงินทุนที่พร้อมหรือไม่มีดอกเบี้ย แหล่งวัตถุดิบที่มีราคาถูก และ “คน” ในที่นี้ผมจะหมายถึงผู้รับผิดชอบโครงการ เป็นผู้บริหารจัดการมืออาชีพหรือแม้กระทั่งมีเชฟมีชื่อเสียงที่สุดยอด

 

นำมาพิจารณาความได้เปรียบของตัวเองตามที่กล่าวไว้ และความสามารถของเราทำได้ไหมใช่สิ่งที่ชอบและถนัดหรือเปล่า “ความสำเร็จ” จากการทำธุรกิจไม่ใช่ได้มาง่าย แผนต้องมี ภาระหน้าที่ต้องชัดเจน ศึกษาการบริหารจัดการธุรกิจนั้นอย่างจริงจังและต้องทำเองเป็นไม่ต้องยืมจมูกคนอื่นมาหายใจ

 

จากประสบการณ์ผมกล่าวได้ว่า “ธุรกิจน้อยรายมากที่ประสบความสำเร็จจากการทำเป็นธุรกิจไซด์ไลน์” เช่นเป็นอาชีพเสริมรายได้พิเศษควบงานประจำไปด้วย หากเป็นธุรกิจที่มีอนาคต ส่วนใหญ่จะสำเร็จจริงจังเมื่อเห็นหนทางแล้วคิดได้เลือกลาออกมาทำเต็มตัว หรือมีการเปลี่ยนมือและสร้างระบบบริหารจัดการที่ถูกต้อง ธุรกิจได้รับการควบคุมใส่ใจดูแลอย่างมืออาชีพ

 

การขยายธุรกิจในแนวทางของนักลงทุนในปัจจุบัน นิยมกระจายความเสี่ยงหรือที่เรียกว่าการขยายธุรกิจในแนวราบ (Horizontal Growth) คือ การลงทุนต่อหน่วยไม่มากไม่โหมไปจุดใดจุดหนึ่งที่เป็นการลงทุนขนาดใหญ่ การกระจายการลงทุนหรือขยายร้านค้าออกไปกินพื้นที่ให้กว้างขึ้นและถ้าร้านใดไม่ดีก็ปิดเป็นจุดๆไปเสียหายแต่น้อยแต่เติบโตอย่างมั่นคง อัตราเสี่ยงเมื่อคำนวณโดยรอบแล้วต้องเข้าเกณฑ์อัตราความสำเร็จอย่างต่ำต้องได้ถึง 80% ด้วยเหตุนี้จึงต้องมีการทำการศึกษาความเป็นไปได้ (Feasibility)

 

ถ้าเป็นการลงทุนโดยรวมของทั้งองค์กรคือการนับจำนวนสาขาจะต้องได้อัตราส่วน 80 ต่อ 20 นั่นก็คือจะต้องเปิดสาขาให้อยู่รอดอย่างน้อย80% ของจำนวนสาขารวมที่เปิดใหม่ทั้งหมดในปีงบประมาณ จึงเป็นการกระจายสาขาหรือขยายงานในรูปแบบของระบบงานสาขา ซึ่งระบบงานสาขาเองก็มีวิธีการลงทุนที่ลดความเสี่ยงในแง่การบริหารงาน

 

ด้วยการจัดวางผังองค์กรอย่างถูกต้องต้องตามหลักการการบริหารเชนสโตร์ ควรมีการรองรับการทำงานสาขาอันเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ในขณะเดียวกันสำนักงานกลางก็ต้องมีฝ่ายสนับสนุนการปฎิบัติการสาขาหรือ Support Center หรือสำนักงานใหญ่คอยช่วยเหลือโดยการใช้องค์กรส่วนกลางซึ่งต่อไปผมจะเรียกว่าฝ่ายสนับสนุนสาขา เพื่อบริหารงานหลักตามสายงานและงานสนับสนุนส่วนสาขาจะกระจายให้ผู้บริหารร้านสาขาเป็นผู้ดูแลเอง ให้การทำงานให้ได้รับความสะดวกราบรื่นได้ผลตามเป้าหมายบริษัท

 

หลังจากมีการวางแผนงานและกำหนดเป้าหมายองค์กรแล้ว หลักการบริหารต้องเริ่มจากการวางผังองค์กรกำหนดรายละเอียดภาระหน้าที่ของหน่วยงานตามตำแหน่ง ความรับผิดชอบและสายบังคับบัญชาในส่วนสำนักงานทั้งหมด ตำแหน่งสำคัญที่อยากจะกล่าวถึงคือผู้บริหารฝ่ายปฏิบัติการที่จะเป็นตัวแทนของสาขาในออฟฟิศ มีอำนาจการสื่อสารโดยตรงมีการประสานงานกับหัวหน้าสาขาทุกเรื่อง

 

ตั้งแต่การมอบนโยบายองค์กร ตลอดจนการดูแลควบคุมสาขาโดยตรง เป็นตัวแทนสาขาประสานงานร่วมกับฝ่ายอื่นๆในองค์กรในเรื่องเกี่ยวกับสาขา สำหรับเอสเอ็มอีที่มีขนาดเล็กมีพนักงานเพียง5-6 คนก็ไม่จำเป็นต้องมีตำแหน่งทำเป็นทางการมากนัก

 

เจ้าของจะต้องดูแลเองใช้คนให้เกิดประโยชน์สูงสุดเช่นการควบรวมตำแหน่งงานที่ทำร่วมกันได้ จนกว่าท่านเริ่มมีการวางแผนการเจริญเติบโตขยายมากกว่า 5 สาขาขึ้นไป

 

สถานะการณ์ในองค์กรธุรกิจของท่านจะเปลี่ยนไปอย่างมากต้องเตรียมจะขาดทุนได้ตลอดเวลา ท่านต้องเริ่มคิดวางแผนแล้วครับต้องลงทุนเพิ่มเพราะถ้าหากโตขึ้นแล้วค่อยมาคิดวางแผนจะช้าเกินไป ที่ว่าช้านั้นมีหลายสาเหตุมันช้ากว่าความคิดหรือใจเราที่เห็นโอกาสมาถึงแล้วจะต้องไขว่คว้าให้ทัน เพราะเสียดายโอกาสเสียดายยอดขายที่จะได้เห็นๆ

 

หากเริ่มขยายการเติบโตโดยไร้แผนรองรับ ท่านอาจได้ยอดขายในระยะสั้นๆจากนั้นมาตรฐานทุกอย่างจะตกลง เพราะภาระงานจะเยอะขึ้นแต่คนทำงานเท่าเดิม การทำงานจะเร่งรีบเจ้าของอาจรับได้แต่พนักงานหรือลูกจ้างอาจไม่คิดแบบเดียวกันภาวะการณ์นี้มันเป็นจุดที่ต้องตัดสินใจ

 

อันนี้เป็นประสบการณ์การบริหารล้วนๆการบริหารจัดการที่ดีและเหมาะสมต้องมองให้ขาด ทำธุรกิจต้องมีความรู้ลดความเสี่ยงคิดตั้งแต่วันแรกต้องคิดถึงระบบงานที่เอื้ออำนวยในการบริการลูกค้า รายการอาหารที่มีความเหมาะสมและลงตัวทั้งคุณภาพของอาหารและราคา

 

การบริการที่มีประสิทธิภาพสามารถสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้าในด้านความรวดเร็วและถูกต้อง การบริหารจัดการที่เอื้ออำนวยต่อการปฏิบัติงานภายในร้านเลือกคนให้ถูกใช้คนให้เป็นคัดเลือกคนให้เหมาะกับงาน โดยเฉพาะธุรกิจบริการต้องเน้นหน่อยมาแล้วไปไม่เป็นไร แต่อย่าทำชื่อเสียงเราเสียหาย

 

ธุรกิจขาดคนทำงานไม่มีทางสำเร็จ ให้มองว่าปัจจัยแห่งความสำเร็จด้านงานบริการจะต้องมี “คน” เป็นปัจจัยหลัก ซึ่งต้องรวมถึงตัวเราเข้าไปด้วย เรื่องนี้ผมจะขออธิบายในรายละเอียดเรื่องของการบริหารระหว่าง เชนสโตร์และระบบแฟรนไชส์ เรื่องทรัพยากรมนุษย์ในโอกาสต่อๆไป

 

ต่อไปผมขอแนะนำระบบธุรกิจที่ได้รับความสนใจสูงมากมีผู้ต้องการเข้ามาร่วมตลอดเวลาแน่นอนคือ ระบแฟรนไชส์ ไม่ว่าจะเป็นสินค้าประเภทใดทั้งสินค้าที่เป็นรูปธรรมจับต้องได้หรือเป็นธุรกิจที่มีการบริการเป็นสินค้า เช่น ธุรกิจซ่อมรถยนต์ เสริมสวย หมอดู เป็นต้น เป็นธุรกิจหลักที่ได้รับความนิยมและเติบโตมากในสหรัฐอเมริกา แต่เข้ามาในประเทศไทยตั้งแต่ยุคแรกๆประมาณปี1978 คือ แบรนด์ Mister Donut จนปัจจุบัน

 

แนวคิดด้านแฟรนไชส์เป็นที่รับรู้แพร่หลายมีการขยายสาขาในระบบแฟรนไชส์มากมาย แต่องค์ความรู้ด้านการบริหารธุรกิจแฟรนไชส์ที่ถูกต้องแท้จริงหรือตำราต้นฉบับจากแหล่งกำเนิดก็ยังมีไม่มาก หลายประเทศมีการเรียนการสอนทั้งออฟไลน์และออนไลน์แต่ผลลัพธ์ยังไม่น่าพึงพอใจ

 

สำหรับทั้งหลักการบริหารธุรกิจแฟรนไชส์และเชนสโตร์ผมจะนำเสนอในคราวต่อไป

 

ดร.วิชัย เจริญธรรมานนท์

15 กรกฎาคม 2564

[email protected]