กลางสัปดาห์ที่ผ่านมา มีข่าวดีจากวงที่ประชุม คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.พืชกระท่อม พ.ศ. …. ซึ่งมี “สมศักดิ์ เพทสุทิน” รมว.ยุติธรรม เป็นประธานกมธ. โดยมีเรื่องของการอนุญาตให้สามารถปลูก “พืชกระท่อม” ได้โดยไม่จำกัดจำนวนต้น และไม่ต้องขออนุญาตปลูก
เราได้มีโอกาส พูดคุยกับ “สัณหพจน์ สุขศรีเมือง ส.ส.เขต 2 จ.นครศรีฯ รองโฆษกพรรคพลังประชารัฐ ในฐานะเลขาฯ กมธ.ชุดดังกล่าว ในประเด็นของการ “ปลดล็อกพืชกระท่อม” ที่ดูเหมือนจะทำให้ “พืชกระท่อมเสรี” มากขึ้น
“ขณะนี้ กมธ.มีการพิจารณาร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวไปแล้วเกินกว่าครึ่งหนึ่ง ซึ่งจะมีวาระการประชุมครั้งที่ 4 ในวันที่ 21 ก.ค.นี้ โดยมีประเด็นสำคัญคือเรื่องของการนำเข้าและส่งออกพืชกระท่อม ซึ่งจะต้องมีการพิจารณาที่รัดกุมเพิ่มมากขึ้น”
“กระท่อมเสรี” ที่ไร้นายทุน
พูดถึงการ “ปลดล็อกพืชกระท่อม” ที่ให้สามารถปลูกได้ทุกบ้าน โดยไม่ต้องขออนุญาตนั้น “สัณหพจน์” ได้ชี้แจงว่า เป็นการปลดล็อกให้ประชาชนคนไทยสามารถเข้าถึงพืชกระท่อมได้ โดยเฉพาะชาวบ้านในระดับฐานราก ซึ่งบางส่วนมีการบริโภคกระท่อมในชีวิตประจำวัน ซึ่งหากกฎหมายฉบับนี้ ผ่านขั้นตอนและมีการประกาศใช้ คาดว่าหลังวันที่ 26 ส.ค.64นี้ จะสามารถทำให้ประชาชนไม่ต้องหลบๆซ่อนๆ กับการใช้พืชกระท่อมในรายที่ใช้อยู่แล้ว และไม่ต้องกังวลเรื่องของความผิดทางกฎหมาย
แต่ยังมีข้อบังคับคือ การห้ามจำหน่ายให้เด็กต่ำกว่า 18 ปี และหญิงมีครรภ์ รวมทั้งการห้ามใช้เพื่อเป็นส่วนผสมของยาเสพติด
“ความสำคัญและเป้าหมายสูงสุดของกฎหมายฉบับนี้ คือความต้องการที่จะให้พืชกระท่อมเป็นพืชเศรษฐกิจของคนไทยทุกคนตั้งแต่ระดับฐานราก ไม่ให้มีข้อบังคับหรือข้อกีดกันทางการค้าจากระบบทุนใหญ่ ชาวบ้านสามารถจำหน่ายผลผลิตได้ด้วยตนเอง ไม่ว่าจะเป็นทั้งรายบุคคล หรือการรวมกลุ่มวิสาหกิจกรรมชุมชน ในรูปแบบของใบสด หรือการแปรรูปในระยะเบื้องต้น ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อการใช้บริโภค ใช้ไปในทางยา ไม่ใช่สารเสพติด” นี่คือสิ่งที่ “สัณหพจน์” ระบุกับเรา
อย่างไรก็ตามเบื้องต้น ในส่วนของช่องทางการตลาดนั้น การให้ชาวบ้านสามารถจำหน่ายผลผลิตได้เอง โดยตัดวงจรพ่อค้าคนกลาง หรือระบบทุน ยังอาจมีความหมายรวมถึงการจำหน่ายและส่งออกในต่างประเทศ ซึ่งมีข้อมูลว่า เบื้องต้นจะกำหนดให้ผู้ที่จะสามารถส่งออกได้จะต้องขอใบอนุญาตการส่งออก ต่อหน่วยงานรับผิดชอบ ที่ขณะนี้ยังไม่กำหนดว่าเป็นหน่วยงานใด ในราคาใบอนุญาตประมาณ 5,000 บาท
ตัวเลขดังกล่าวจะทำให้ชาวบ้านสามารถเข้าถึงการส่งออกโดยตรงกับลูกค้าในต่างประเทศได้ นี่จึงอาจเป็นความหวังของ”คนตัวเล็ก” ที่จะสามารถทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ “พืชกระท่อม” และมีโอกาสส่งออกไปยังต่างประเทศได้
“ตลาดกระท่อม” ในโลกเสรี
สำหรับตลาดส่งออก ปัจจุบันพบว่า มีตลาดหลักในสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกา โดยการบริโภคส่วนใหญ่ใช้ในทางการแพทย์ ยาสมุนไพร และอาหารเสริม ที่ช่วยบรรเทาอาการปวดเรื้อรัง คลายอาการวิตกกังวล ในขั้นสูงขึ้นคือการใช้เป็น “ยาถอนฝิ่น”
ขณะที่รูปแบบซึ่งกำลังได้รับความนิยมนั้น คือ ผลิตภัณฑ์ชาชง และแคปซูล ซึ่งผู้บริโภคในตลาดได้เน้นถึงแหล่งที่มา และวิธีการปลูกแบบออร์แกนิก รวมทั้งการเก็บเกี่ยว การตากแห้ง และการแปรรูปอย่างถูกวิธี
สำหรับตลาดยุโรป จากการสำรวจของ European Monitoring Center for Drugs and Drug Addiction (EMCDDA) พบว่ากระท่อม มีการวางจำหน่ายขายทางออนไลน์อย่างแพร่หลาย แต่ยังมีบางประเทศที่กำหนดให้ เป็นยา หรือสารที่ “ผิดกฎหมาย” อยู่ คือ เดนมาร์ก ฟินแลนด์ ไอร์แลนด์ ลัตเวีย ลิทัวเนีย โปแลนด์ โรมาเนีย และสวีเดน
ในสหราชอาณาจักร กระท่อม ยังตกอยู่ในสถานะที่มีความคลุมเครือด้านกฎหมาย แม้จะไม่ถูกจัดให้เป็น “ยาเสพติด” แต่คงอยู่ในบัญชี “สารออกฤทธิ์ทางจิต” ของพ.ร.บ.สารออกฤทธิ์ทางจิต 2016 ในสหราชอาณาจักร
นอกจากนี้ตลาดหลักอีกแห่ง คือประเทศเยอรมนี ซึ่ง กระท่อม ถูกกฎหมาย และส่วนใหญ่มีการสั่งซื้อทางออนไลน์ โดยมีความพยายามของผู้ขายและผู้ใช้กระท่อม ที่จะจัดตั้งเป็นองค์กรสำหรับ กระท่อม โดยเฉพาะที่เรียกว่า Kratom Association ซึ่งเทียบได้กับ American Kratom Association เช่นที่มีในสหรัฐฯ
คนอเมริกัน 15 ล้านคนใช้ “กระท่อม”
ในส่วนของสหรัฐฯ ซึ่งถือเป็นตลาดใหญ่สุดของพืชกระท่อม ที่วันนี้มี “อินโดนีเซีย” เป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ จากจำนวนส่งออกประมาณ 1,950 ตัน/เดือน และจากการสำรวจของ American Kratom Association พบว่าปัจจุบันมีผู้บริโภคกระท่อมมากถึง 15 ล้านคน
โดย กระท่อม ถูกกฎหมายในเกือบทุกรัฐของสหรัฐอเมริกา ยกเว้น อาร์คันซอ แอละแบมา อินดีแอนา โรดไอแลนด์ วิสคอนซิน และเวอร์มอนต์ และเขตโคลัมเบีย และบางเมืองอย่าง โคลัมบัส มิสซิสซิปปี, เดนเวอร์ โคโลราโด, เจอร์ซีย์วิลล์ อิลลินอยส์ , ซานดิเอโก แคลิฟอร์เนีย และซาราโซตา รัฐฟลอริดา
ขณะที่ผลการสำรวจขององค์กรที่ไม่ระบุชื่อ ในระบบออนไลน์ของสหรัฐฯ พบว่า ส่วนใหญ่ผู้ใช้กระท่อมเป็นชายผิวขาว อายุระหว่าง 31- 50 ปี มีรายได้/ปี/ครัวเรือน ตั้งแต่ 35,000 ดอลลาร์ขึ้นไป (ประมาณ 1.14 ล้านบาท) มีประกันสุขภาพเอกชน ระดับการศึกษาตั้งแต่วิทยาลัยขึ้นไป และใช้กระท่อมมาแล้วมากกว่า1ปี แต่ไม่เกิน 5 ปี
โดยส่วนใหญ่ใช้ในรูปแบบเพื่อบรรเทาอาการปวดเฉียบพลัน หรือเรื้อรัง ใช้สำหรับสภาวะทางอารมณ์หรือจิตใจ โดยมีผลทำให้ร่างกายมีพลังงานเพิ่มขึ้น ปวดลดลง มีสมาธิมากขึ้น อารมณ์หดหู่น้อยลง ความวิตกกังวลลดลง
แต่ก็ยังพบว่ามีผลข้างเคียง เช่น น้อยที่สุดคือ อาการคลื่นไส้ มากที่สุด คือ การเสียชีวิตที่ในเลือดพบสารส่วนประกอบของกระท่อมผสมอยู่จากการใช้ในปริมาณมากหรือโอเวอร์โดส
ดังนั้นจึงเป็นที่มา ที่ทำให้ ปปส.ของสหรัฐ หรือ DEA มีจุดยืนในคำเตือนว่า “ไม่ควรใช้เพื่อรักษาสภาพทางการแพทย์ และไม่ควรใช้เป็นทางเลือกแทน กลุ่มยา opioids ที่ต้องสั่งโดยแพทย์” สอดคล้องกับ FDA หรือ องค์การอาหารและยาสหรัฐฯ ที่ระบุว่า กระท่อม ไม่เป็นอาหารเสริม และห้ามใช้ยาบางประเภทที่มาจากกระท่อม
มูลค่า “กระท่อม”ในตลาดสหรัฐฯ
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีข้อแสดงความคิดเห็นของ DEA และ FDA ออกมาในรูปแบบดังกล่าว แต่ กระท่อม ยังมีสถานะว่า “ไม่ใช่สารควบคุม” ซึ่งแปลว่ายังคง “ถูกกฎหมาย” โดยมีนักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ ที่กล่าวถึงผลวิจัยแสดงให้เห็น กระท่อม มีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากการใช้ยาเกินขนาดน้อยกว่า กลุ่มยา opioids ถึง 1,000 เท่า และมหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์ แนะนำให้ FDA เปลี่ยนรูปแบบของการ “ห้ามใช้” เป็น “ควบคุม” แทน
สำหรับกระท่อมให้มุมมองของหน่วยงานควบคุมของสหรัฐฯ นั้น สวนทางกับตลาดในประเทศ เพราะแม้ว่าจะมีร้านค้าที่จำหน่ายกระท่อมเป็นหลักแหล่งเพียงไม่กี่แห่ง แต่ยอดขายออนไลน์ของกระท่อมนั้นเติบโตขึ้นเรื่อยๆ โดยมีการประเมินว่าตลาดของกระท่อมนั้น มีมูลค่ากว่า 1.13 พันล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 37,044 ล้านบาทเลยทีเดียว และจะมีโอกาสเติบโตขอย่างก้าวกระโดดในช่วงระหว่างปี 2021-2030