จากสถานการณ์โรคระบาดที่เกิดขึ้นในประเทศของเราที่ลากยาวต่อเนื่องมาตั้งแต่ต้นปีที่แล้ว ส่งผลให้ผู้ประกอบการทั้งรายเล็กรายใหญ่ ต่างได้รับผลกระทบนี้อย่างทั่วถึง เมื่อประกอบกับการล็อกดาวน์รอบล่าสุดนี้เข้าไป ทำให้สถานการณ์ตอนนี้ ย่ำแย่หนักยิ่งกว่าเดิมอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งเมื่อพูดถึงผู้ประกอบการธุรกิจในไทย เรามีโอกาสได้สัมภาษณ์ คุณแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย ผู้คร่ำหวอดในวงการนี้ ที่ได้ให้ความเห็นถึงผลกระทบของเอสเอ็มอีไว้อย่างน่าสนใจว่า
“ผู้ประกอบการ ได้รับผลกระทบจากโรคระบาดเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อย ซึ่งเป็นกลุ่มบอบบางและเป็นบุคคลธรรมดากว่า 2.7 ล้านราย ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง จากมาตรการการล็อกดาวน์ของรัฐบาล ซึ่งเป็นกลุ่มที่หาเช้ากินค่ำ มีรายได้น้อย ส่วนผู้ประกอบการรายย่อม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการนิติบุคคล ก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน จากสถานการณ์การระบาดที่รุนแรงในรอบที่ 3 ตั้งแต่เดือนเมษายน จนมาถึงระลอกที่ 4 ส่งผลให้มีปัญหาด้านยอดขายและสภาพคล่องตัว”
.
พร้อมให้ข้อมูลต่อว่า สถานการณ์ของเอสเอ็มอีในขณะนี้กว่า 80 % ที่ได้รับผลกระทบมียอดขายที่ลดลงกว่า 50-80% ซึ่งจะลงผลกระทบตามมาอีกในไม่ช้า ด้านความสามารถในการชำระหนี้ เป็นสิ่งที่สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทยมีความห่วงใย กังวล และพยายามที่จะหามาตรการที่ตอบโจทย์ เพื่อนำเสนอนายกรัฐมนตรี และผู้บริหารในหลายกระทรวงที่มีส่วนเกี่ยวข้อง เพื่อแก้ไขปัญหาพร้อมกับการป้องกันการเพิ่มขึ้นของหนี้ NPL ในระบบ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่สมาพันธ์เอสเอ็มอีพยายามขับเคลื่อนมาโดยตลอด
.
.
กลุ่มเปราะบางรายย่อยเจ็บหนักที่สุด
เพราะกลุ่มนี้คือกลุ่มรายย่อยที่มีรายได้ไม่ถึง 1.8 ล้านต่อปี ส่วนใหญ่ผู้ประกอบการกลุ่มนี้ มักเป็นบุคคลธรรมดา เช่น ร้านอาหาร ท่องเที่ยวรายย่อย โรงแรม ที่พัก รีสอร์ท จากเดิมที่ช่วงก่อนเทศกาลสงกรานต์เศรษฐกิจคึกคักและมีวี่แววว่าจะดีขึ้น แต่พอเจอวิกฤตที่เข้ามาช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมา ทำให้ธุรกิจที่อยู่ในห่วงโซ่ของการท่องเที่ยว ต่างได้รับผลกระทบทันที จนถึงตอนนี้ ซึ่งลามไปถึงอาชีพอิสระทั้งหมด โดยคนกลุ่มนี้นับได้ว่ากำลังวิกฤตอย่างมาก ที่ผ่านมามาตรการเยียวยาก็ยังตกถึงมือเอสเอ็มอีไม่ทั่วถึงเท่าที่ควร ซึ่งทางสมาพันธ์เอสเอ็มอีก็เรียกร้องให้ภาครัฐช่วยเหลือมาโดยตลอด
.
ถ้าพูดถึงจุดวิกฤต หนี้ NPL ก็แทบจะเป็นคลื่นที่ส่งผลกระทบตามมาติดๆ
สถานการณ์ปัจจุบันสินเชื่อทั้งระบบของเอสเอ็มอีมีประมาณ 3.3 ล้านล้านบาท เป็น NPL ประมาณ 7 % หรือประมาณ 2.4 แสนล้านบาท โดยมีสิ่งที่น่ากังวลคือตัวเลขสินเชื่อของ Special Mention เริ่มขาดส่งการชำระ 30 วัน แต่ยังไม่ถึง 90 วัน กลุ่มนี้มีประมาณ 13 % หรือ 4.4 แสนล้านบาท ซึ่งหากเรานำกลุ่มหนี้ไฟเหลืองกับไฟแดงมารวมกันก็จะประมาณ 20 % ของสินเชื่อเอสเอ็มอีที่อยู่กับธนาคารทั้งหมด ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าห่วงใย เห็นได้จากตัวเลข ธนาคารแห่งประเทศไทยเมื่อวันที่ 10 มิ.ย.64 ที่ผ่านมา ตัวเลขสินเชื่อที่เป็น NPL ทุกประเภทของธนาคารพาณิชย์อยู่ที่ 3 % หรือประมาณ 5.4 แสนล้านบาทไปแล้ว
.
สิ่งที่น่าเป็นห่วงอย่างมากคือหนี้ Special Mention หรือหนี้ไฟเหลืองจะมีอยู่ประมาณ 1.1 ล้านล้านบาท หรือประมาณ 6.4 % ของหนี้ธนาคารพาณิชย์ทั้งหมด 17.4 ล้านล้านบาท
.
โดยสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทยได้ให้แนวทางขอความช่วยเหลือจากภาครัฐดังนี้
ขอให้ภาครัฐช่วยปรับแก้มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำภาค 2 โดยให้มีการปรับแก้ 4 เรื่อง อาทิ
.
– อยากให้ธนาคารแห่งประเทศไทยและธนาคารพาณิชย์ทุกแห่ง กำหนดนิยามเอสเอ็มอีใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับประกาศของ สสว. เพื่อให้มีผลต่อการแบ่งกลุ่มที่ชัดเจน ซึ่งจะช่วยในการกำหนดมาตรการช่วยเหลือ ให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของปัญหาและขนาดของเอสเอ็มอีในปัจจุบัน
.
– กำหนดกรอบวงเงิน 250,000 ล้านบาท ให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในแต่ละกลุ่ม ให้สอดคล้องกับจำนวนและความต้องการ เพราะในตอนนี้เราจะเห็นว่าเม็ดเงินส่วนใหญ่จะไปตกกับผู้ประกอบการขนาดใหญ่ ดังนั้น สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทยจึงมีความเห็นว่าควรจะแบ่งเงินให้กับผู้ประกอบการรายย่อย รายย่อม และรายกลาง ตามกลุ่มขนาดธุรกิจ เพื่อให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น
.
– กำหนดกรอบเป้าหมายวงเงินของเอสเอ็มอี เพื่อให้แต่ละสถาบันการเงินนำ ยอดวงเงินในแต่ละกลุ่ม ระบุเข้าไปด้วย เช่น ธนาคารรับวงเงินไป 30,000 ล้านบาท ต้องสามารถกำหนดจำนวนเอสเอ็มอีที่จะเข้าถึงไว้ด้วย เพราะที่ผ่านมาบ่อยครั้งที่ธนาคารมักจะปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการรายเดียวในอัตราวงเงินที่สูงจนเกินควร มากกว่าที่จะปล่อยให้กับผู้ประกอบการรายเล็ก ที่จะกระจายเม็ดเงินได้มากกว่า
.
– ต้องแก้ไขปัญหาดอกเบี้ยสินเชื่อต่ำ ให้มีเกณฑ์การผ่อนปรน ซึ่งได้เสนอในที่ประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังไปแล้วว่า ควรที่จะให้มีเกณฑ์ผ่อนปรนโดยเอาภงด.50 ของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่เป็นนิติบุคคล และเอาภงด. 90 ที่เป็นผู้ประกอบการธรรมดา นำมาใช้เป็นหลักเกณฑ์ผ่อนปรนให้กับผู้ประกอบการเหล่านี้เข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้น
ขอให้มีการพักหนี้ทั้งต้นและดอก โดยไม่คิดดอกตลอดการพัก ซึ่งจะเป็นมาตรการที่ช่วยเหลือเอสเอ็มอีที่เข้าไม่ถึงมาตรการ “สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ” ได้มีโอกาสในการพักต้นพักดอกในกลุ่มที่ไม่สามารถเดินต่อได้แล้ว ส่วนในกลุ่มที่ยังพอเดินได้ ทางสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทยก็ได้เสนอให้สามารถนำเอาใบสั่งซื้อ ใบกำกับภาษี หรือสินเชื่อ Factoring มาขอสินเชื่อได้
.
นอกจากนี้ยังได้เสนอภาครัฐให้ตั้ง 2 กองทุนหลักในการขับเคลื่อน สร้างความเข้มแข็งให้กับเอสเอ็มอี
– กองทุนพัฒนาวิสาหกิจ ซึ่งตอนนี้ยังเป็นร่าง พ.ร.บ.อยู่ โดยเราอยากให้กองทุนออกมาช่วยเหลือเอสเอ็มอีที่เข้าไม่ถึงแหล่งทุนของธนาคาร มาใช้กองทุนนี้เพื่อช่วยเสริมสภาพคล่อง เพื่อแก้ปัญหาให้กับผู้ประกอบการช่วยแก้ไขหนี้นอกระบบ
.
– กองทุนฟื้นฟูหนี้ NPL เพื่อการพัฒนาเอสเอ็มอี กองทุนนี้จะมาแก้ไขสถานการณ์ NPL ไม่ให้สูงขึ้นไปกว่านี้ ป้องกัน NPL ล้นประเทศ เพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอีที่มีหนี้ NPL สามารถฟื้นคืนชีพกลับเข้ามาสู่ระบบเศรษฐกิจได้
.
นอกจากนี้ยังมีการเสนอให้ปรับเกณฑ์กองทุนสินเชื่อประกันสังคม 30,000 ล้านบาทให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงสินเชื่อนี้ได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งเรื่องนี้ได้นำไปปรึกษากับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งก็ได้มีหลายธนาคาร ทั้งของภาครัฐและเอกชน ได้เข้ามาให้การสนับสนุนและร่วมพัฒนาสินเชื่อกองทุนนี้
สำหรับความคืบหน้าของการขับเคลื่อนข้อเสนอที่ได้กล่าวไปข้างต้น ทางรัฐบาลได้รับทราบไปแล้ว พร้อมส่งต่อไปให้ส่วนงานที่เกี่ยวข้อง อาทิเช่น สภาพัฒน์ฯ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อนำไปทบทวนและปรับให้เข้ากับสถานการณ์ล่าสุด
.
นอกจากนี้ สิ่งที่สมาพันธ์เอสเอ็มอีได้เสนอเข้าไป คือการพัฒนาแพลตฟอร์มเดลิเวอรี่ โดยต้องการให้ภาครัฐเข้ามาช่วยสนับสนุน ลดค่าใช้จ่ายต้นทุน ทั้งในเรื่องของค่าใช้จ่ายของประชาชนในการใช้บริการเดลิเวอรี่และผู้ประกอบการที่จะมาเข้าร่วมแพลตฟอร์ม ซึ่งปลายทางจะสามารถช่วยเหลือการลดต้นทุนของผู้ประกอบการ ทั้งยังลดค่าใช้จ่ายของผู้บริโภคได้ไปในตัว
.
.
การปรับตัวของผู้ประกอบการในสภาวะวิกฤต
ควรตั้งรับโดยใช้หลักการ 4 อยู่ คือ อยู่รอด อยู่เป็น อยู่เย็น และอยู่ยาว ต้องมาทบทวนเริ่มต้นจากอยู่รอด โดยเราต้องกลับมาทบทวน 3 ลด คือ ลดต้นทุนชีวิต ลดต้นทุนธุรกิจ และลดต้นทุนทางสังคม ตลอดจนบริหารความเสี่ยงในภาวะวิกฤตอย่างรอบด้าน ทำให้เราอยู่รอดท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงได้
.
เมื่ออยู่รอดแล้ว เราต้องอยู่ให้เป็น อยู่อย่างมีชีวิต อยู่อย่างมีชีวา กล้าคิด กล้าทำและกล้าเปลี่ยนแปลง สามารถปรับตัวได้ ใช้เครือข่ายเป็น และสำคัญมากในยุคนี้ คือการนำนวัตกรรมเทคโนโลยีมาช่วยเปลี่ยนแปลงปรับตัวธุรกิจของตัวเอง ให้เข้าไปสู่ธุรกิจยุคใหม่
.
อยู่เย็นคือการใช้เศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 ในการที่จะดำรงตน ดำรงธุรกิจ ดำรงชีพ โดยใช้ความพอเพียง พอประมาณ และมีภูมิคุ้มกัน ที่สำคัญไม่ก่อหนี้สินเกินตัว ทำให้เราอยู่อย่างเย็น อยู่อย่างสบาย
.
สุดท้ายเรื่องการอยู่ยาว คือการใช้ชีวิตอย่างซื่อสัตย์ สุจริต มีธรรมาภิบาลในการดำเนินธุรกิจ สร้างความน่าเชื่อถือศรัทธากับคนที่มีส่วนได้เสีย ถึงจะไม่มี แต่เราก็ไม่หนี ต้องหันหน้ามาเจรจาเพื่อหาทางออกร่วมกันกับเจ้าหนี้ กับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง เพราะในวิกฤตในขณะนี้ ผู้ที่มีส่วนได้เสียกับหนี้ของเราต่างก็เข้าใจและรับรู้ได้ว่าเป็นเรื่องที่หนักหน่วง เป็นวิกฤตที่ไม่มีใครตั้งใจหรือเจตนาให้เกิด ควรหันหน้ามาเจรจาเพื่อหาทางออกร่วมกัน สำคัญที่สุดคือเราต้องให้กำลังใจให้กันทุกฝ่าย ต้องดูแลใจซึ่งกันและกัน ให้ความเห็นอกเห็นใจกัน และช่วยเหลือกันเท่าที่เราจะทำได้
.
มองโอกาสหลังผ่านวิกฤตนี้ไปแล้วไว้อย่างไรบ้าง จะเกิดอะไรขึ้นกับผู้ประกอบการไทย
วิกฤตินี้อาจไม่จบลงง่าย เหตุจากปัจจัยการกลายพันธ์ที่อาจจะทำให้เกิดการระบาดเพิ่มมากขึ้น เราต้องประเมินและหาแนวทางของแพทย์ทางเลือก วัคซีนทางเลือกเพื่อมาแก้ปัญหา สร้างเงื่อนไขของสถานการณ์ต่าง ๆ ขึ้นมาเพื่อหาแนวทางแก้ไขไว้ ความพยายามในการค้นคว้าแพทย์ทางเลือก วัคซีนทางเลือก ประเทศไทยต้องสามารถพึ่งพาตนเองได้ในอนาคต เป็นอีกหนึ่งคำตอบที่เราสามารถยืนได้ด้วยขาของตัวเอง ไม่พึ่งพากลไกของต่างประเทศที่เราไม่สามารถควบคุมปัจจัยต่าง ๆ ได้ เป็นยุทธศาสตร์หนึ่งเรื่องความมั่นคงด้านวัคซีนและสุขภาพ ไม่เพียงแต่การพึ่งตนเองด้านแพทย์ทางเลือกและวัคซีนทางเลือกเท่านั้นที่เราต้องพัฒนา การพัฒนาด้านบุคลากรทางการแพทย์ บุคลากรด้านวิจัยสุขภาพ รวมไปถึงการพัฒนาอุปกรณ์ทางการแพทย์ ต้องมีทิศทางแผนที่ชัดเจนจนเกิดเป็นยุทธศาสตร์ชาติทางการแพทย์ ความมั่นคงด้านสุขภาพ เป็นเรื่องที่เราต้องทำอย่างเร่งด่วน มองหนทางแก้ปัญหาไว้หลายรูปแบบใน 1-5 ปีนี้
.
ทางด้านมาตรการด้านเศรษฐกิจ ทั้งภาครัฐและเอกชนต้องใช้วิกฤตนี้เป็นโอกาส แก้ปัญหาที่หมักหมมเรื้อรังกันมานาน ตั้งแต่ความไม่เป็นธรรมในเรื่องของการคิดดอกเบี้ยที่สูงของสถาบันการเงินทุกประเภท การคิดเบี้ยปรับ การคิดอัตราดอกเบี้ย กลไกการสร้างความเป็นธรรมของธุรกิจ ภาคการเงินการธนาคารจะต้องพลิกไปอีกบริบทหนึ่ง การสร้างความเป็นธรรมไม่เหลื่อมล้ำให้ผู้บริโภคหรือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี
.
“เชื่อว่าในอนาคตจะมีความเหลื่อมล้ำมากขึ้น เห็นได้จากปัจจุบันมีสัญญานบ่งชี้ว่าจะมีความเหลื่อมล้ำในอนาคต ดังจะเห็นได้จากตัวเลขหนี้ภาคครัวเรือนทุกวันนี้แตะอยู่ที่ 90 % ของจีดีพีประเทศ หรือประมาณ 14.4 ล้านล้านบาท ในขณะที่จีดีพีของประเทศจะอยู่ที่ประมาณ 16.77 ล้านล้านบาท เพราะถ้าหากไม่แก้หนี้ภาคครัวเรือน ในอนาคตจะเป็นสึนามิลูกใหญ่ที่จะถาโถมเศรษฐกิจของประเทศของเรา ทำให้เกิดหนี้ NPL จนเกิดการยึดทรัพย์สินขายทอดตลาด แล้วตัดราคาต่ำกว่ามูลค่าจริง ซึ่งเป็นสิ่งที่เราต้องเลิกการกดมูลค่าของทรัพย์สินให้ต่ำ เพื่อให้เอสเอ็มอีและประชาชนไม่เป็นหนี้ซ้ำซ้อน”
.
“นอกจากนี้อยากเห็นการบริหารประเทศ ที่สามารถบูรณาการกลไกต่าง ๆ ของภาครัฐ โดยนำเอาเทคโนโลยีมาปรับใช้ ทำให้รวดเร็ว สามารถตรวจสอบโปร่งใสมากยิ่งขึ้น เรื่องของ Big Data , Data Sharing การวิเคราะห์ข้อมูลถูกนำมาใช้อย่างกว้างขวางในองค์กรณ์ใหญ่เป็นเรื่องปกติไปแล้ว สุดท้ายคือการพัฒนาเอสเอ็มอีไทยให้มีขีดความสามารถสูงขึ้น ส่งเสริมการลงทุน ขยายความสามารถด้านนวัตกรรม เพิ่มขีดความสามารถในประเทศ ลดการนำเข้า ภาครัฐจำเป็นต้องปรับตัวไปพร้อมกับประชาชนทุกภาคส่วน ซึ่งทางสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทยก็จะผลักดันเรื่องนี้ร่วมด้วยอย่างถึงที่สุด” ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย ได้กล่าวทิ้งท้าย และเสนอวิสัยทัศน์ที่มองไปข้างหน้า ว่าจะมีผลกระทบต่อประเทศและผู้ประกอบการเอสเอ็มอีอย่างไร พร้อมกับเสนอแนวทางออก ของวิกฤตนี้ที่จะส่งผลต่ออนาคตของเอสเอ็มอีไทย
.