‘ครัวบางกอกน้อย’ ระดมทุนทำข้าวกล่อง สร้างความดี กู้วิกฤติร้านอาหาร


พาไปเปิดอีกแนวทางการปรับตัวเพื่ออยู่รอดของธุรกิจร้านอาหาร ที่เลือกระดมทุนจากคอนเน็คชั่นที่มี และสร้างความดีด้วยการนำเงินทั้งหมดมาทำข้าวกล่องมอบให้ผู้ได้รับผลกระทบจากโควิดและบุคลากรทางการแพทย์ เพื่ออบกู้วิกฤติร้านอาหาร

คุณหน่อย เสถียรพงษ์ ธรรมสอน เจ้าของร้านอาหารพริกแดง และร้านอาหารตามสั่งครัวบางกอกน้อย 5 สาขา ภายในจังหวัดนนทบุรี เล่าว่า สถานการณ์โควิด ทำให้ธุรกิจที่ไม่ได้มีฐานลูกค้าประจำกว่า 3-4 สาขา ขาดทุนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะช่วงเดือนพฤษภาคม 2564 ที่มีประกาศการห้ามนั่งรับประทานอาหารในร้าน ยอดขายจากหลักหมื่นต่อวันต่อสาขา เหลือเพียง 3,000 บาท

แม้ในบางช่วง โครงการคนละครึ่งของภาครัฐ จะช่วยให้ร้านฟื้นกลับมามีกำไรได้บ้าง แต่ก็ไม่ได้มีตลอดเวลา จึงต้องหาวิธีปรับตัวด้านต่าง ๆ เช่น การขอลดค่าเช่าร้าน 30-50% การลดจำนวนเมนูที่ขายได้น้อย ลดจำนวนวันทำงานของพนักงานด้วยการถามความสมัครใจ ทำการตลาดผ่านฟู้ดเดลิเวอรี่ทุกแพลตฟอร์มด้วยการสมัครในโปรแกรมที่ไม่มีการเก็บค่า GP เนื่องจากเมนูของทางร้านจะมีกำไรเฉลี่ยเพียง 25% เท่านั้น

อย่างช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา กลุ่มเพื่อนได้ระดมทุนมาสั่งอาหารของทางร้าน เพื่อมอบให้บุคลากรทางการแพทย์ และชุมชนที่ได้รับผลกระทบ จากแรกเริ่มที่จำคิดเฉพาะต้นทุนเท่านั้น แต่ด้วยยอดการระดมทุนที่สูงขึ้นเป็นจำนวนหลักพันกล่อง จึงคิดค่าแรง แต่ไม่ได้บวกกำไร ทำให้พนักงานและร้านสามารถไปต่อได้ นอกจากนี้ยังมีกลุ่มคนรู้จักมากมายที่คอยช่วยบอกต่อด้วยการนำภาพแคมเปญนี้ไปโพสต์ตามโซเชียลต่าง ๆ ทำให้มียอดการสั่งซื้อเพิ่มขึ้น จากที่คาดว่าจะเป็นเดือนที่ขาดทุนมาก ก็กลับขาดทุนเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

ในเดือนที่ผ่านมา มียอดการสั่งซื้ออาหารให้บุคลากรทางการแพทย์และชุมชน รวมทั้งสิ้นกว่า 3,500 กล่อง โดยได้นำไปส่งมอบให้ตัวแทนของโรงพยาบาลและอาสาสมัครของชุมชน เพื่อนำไปแจกจ่ายต่อ อย่างในเดือนสิงหาคมนี้ก็เริ่มขอรับบริจาคเพื่อทำอาหารให้ผู้ได้รับผลกระทบอีกครั้ง ซึ่งยอดยังคงเข้ามาไม่มาก เนื่องจากการดำเนินโครงการรูปแบบนี้นอกจากกลุ่มคนรู้จัก ก็มักไม่ค่อยมีใครกล้าบริจาค อาจด้วยความกลัวที่ไม่รู้ว่าใครเป็นใคร

ในวิกฤติครั้งนี้ สิ่งสำคัญที่สุดคือการมีสติ และวางแผนล่วงหน้า เมื่อเราย้อนมาดูธุรกิจทั้ง 6 สาขา อาจมีบางสาขาที่ต้นทุนต่ำเนื่องจากมีค่าเช่าถูก หากเกิดเหตุการณ์ที่หนักมากกว่านี้ ก็อาจจำต้องปิดบางสาขา เพื่อลดรายจ่ายลง เพราะการขาดทุนสูงกว่า 5-7 หมื่นบาท ถือว่าค่อนข้างสาหัสมาก ใครที่ได้รับผลกระทบ อยากให้ลองสำรวจดูว่าอะไรที่จำเป็น และอะไรที่ต้องลดทอนลง อย่างในตอนนี้ได้ทดลองสร้างอีกแบรนด์ขึ้นมาเพื่อทำอาหารอีสานส่งฟู้ดเดลิเวอรี่โดยเฉพาะ แต่ด้วยเทรนด์ผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป จากเดิมจะสั่งซื้อสินค้าร้านใหม่ ๆ เพื่อลองชิม ก็ได้หันไปสั่งซื้อกับร้านที่ตนเองรู้จักเท่านั้น จึงทำให้เราต้องพยายามมากขึ้น

‘เราทำธุรกิจร้านอาหาร สิ่งที่เราทำได้ก็คือการทำอาหาร เราภูมิใจที่มีส่วนในการทำอาหารไปส่งมอบให้บุคลากรทางแพทย์ และผู้ได้รับผลกระทบ วิกฤติแบบนี้ใครมีหน้าที่อะไรก็ทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีก็เป็นสิ่งถูกต้องแล้ว ส่วนใครที่ไปต่อไม่ไหวก็ควรหยุดเพื่อรอเปิดใหม่ แต่ใครที่ยังดิ้นรน ก็ต้องขอความช่วยเหลือเพื่อลดต้นทุนค่าใช้จ่าย เช่น การขอลดค่าเช่าที่ไม่ควรอาย หรือหยิ่งไม่ยอมให้ใครช่วย และเมื่อพ้นวิกฤตินี้ไปได้ มันจะกลับมาดีเหมือนเดิมอย่างแน่นอน’

ติดต่อคุณหน่อย เสถียรพงษ์ 098 156 5416