พาไปทำความรู้จัก “แคคตัส” ต้นไม้ที่ “ฮิตติดชาร์ต” ตามหลังไม้ด่างมาไม่ไกล ชนิดที่ทำราคา หลักหมื่น หลักแสนก็มีให้เห็นกันแล้ว


“แคคตัส” เป็นต้นไม้อีกชนิดที่ตามกระแสต้นไม้ทำเงินอย่างไม้ด่าง รุ่นพี่ ซึ่งได้ทำให้ตลดไม้ประดับคึกคักขึ้นมาอย่างถนัดตาในเวลาเพียงปีกว่า จนทำให้บางต้นมีราคาไปถึงหลักล้าน โดยเฉพาะปี 2563 นับเป็นปีทองของ “แคคตัส” เช่นเดียวกับบรรดาไม้ด่างและไม้สวยงามชนิดอื่น ๆ

คุณอรทัย เนตรวงศ์ เจ้าของ “สวนล้านเล่าแคคตัสอุบล” เล่าถึงเสน่ห์ของการปลูก “แคคตัส” ว่า เพราะเป็นต้นไม้ดูแลง่าย ไม่ต้องให้น้ำทุกวัน แต่ก็ต้องให้การดูแลด้วยการเปลี่ยนดิน ให้ปุ๋ย แดดดี อากาศดี

“แคคตัส” เป็นต้นไม้ที่โตช้า แต่ถ้าปลูกก็ต้องให้ความใส่ใจ เพื่อให้แคคตัสโตออกมาสมบูรณ์ ได้ทรงงดงาม ลวดลายสีสันของต้นสวย มีความสมมาตรของลำต้น ดอกเมื่อออกมาแล้วแสดงสีที่สวยงาม แตกต่างจากต้นอื่น ๆ

หาก “แคคตัส” ที่โตมาแตกต่างจากแคคตัสทั่วไป เป็นที่ต้องตาต้องใจของเหล่าบรรดานักเล่นทั้งหลาย ก็จะซื้อขายกันในราคาสูง ยิ่งเป็นพันธุ์ที่หายาก คนสนใจยิ่งมีราคา บางต้นซื้อขายเป็นหลักหมื่น

และยิ่งถ้าเป็นพันธุ์ที่เพาะกันยากๆ ด้วยแล้ว บางต้นซื้อขายกันเป็นหลักแสนเลยทีเดียว และที่ฮิต ๆ กัน เช่นประเภทแคคตัสคริสตาต้า เพาะยากมาก ปลูกก็ยาก ถ้าจะออกมาให้สวยก็ต้องดูแล ลักษณะของต้นจะดูแปลกตาจากแคคตัสอื่นอย่างเห็นได้ชัด เวลาซื้อขายกันจึงเป็นหลักล้านบาท

“การออกดอกของแคคตัสเป็นความสำเร็จของคนเลี้ยง สร้างความภาคภูมิใจแก่คนเล่น และยังเป็นหนึ่งในตัวชี้วัดมูลค่าราคาของแคคตัส ส่วนจะออกดอกได้ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ประกอบด้วย 1.อายุไม้ ถึงเวลาแคคตัสก็จะออกดอกเอง 2.น้ำ 3.แสงแดด ต้องเพียงพอ 4.ปุ๋ย ทั้งหมดนี้ต้องอยู่ในสภาพเหมาะสม ไม้จะออกดอกได้ดี” คุณอรทัยกล่าว

คุณอรทัยเล่าต่อว่าปัจจุบันประเภทของแคคตัสที่คนส่วนใหญ่ให้ความนิยมคือ ยิมโนด่าง (ยิมด่าง) , แอสโตรไฟตัม ,โลโฟ เป็นต้น ซึ่งแต่ละประเภทก็แยกสายพันธุ์ย่อยออกไปนับพันสายพันธุ์ เช่น ยิมด่างมีมากกว่า 2,000 สายพันธุ์

 

.

.

.

.

นักเพาะแคคตัสที่ต้องการสายพันธุ์สวย ๆ ไม่ควรชำหน่อ แต่ควรหาพ่อ-แม่พันธุ์ที่ดีมาผสมพันธุ์กัน แล้วให้ออกมาเป็นเมล็ด ซึ่งแต่ละครั้งจะได้เป็นพันเมล็ด แล้วนำมาเพาะเพื่อหาต้นที่สวย แต่ในทางปฏิบัติกว่าที่จะได้สายพันธุ์ที่สวยและได้ราคาสูง ๆ ต้องเพาะกันเป็นหมื่น เป็นแสนต้นกันเลย ถึงจะได้ต้นที่สวยสักต้น ปัญหาที่สำคัญของคนปลูกแคคตัสคือ จะต้องระวังศัตรูพืช แมลงต่าง ๆ มากัดกิน ตลอดจนโรคที่เกิดกับแคคตัส

“การปลูกแคคตัสให้ได้ราคา ต้องศึกษาว่าขณะนั้นตลาดต้องการอะไร แบบไหน ไม้แต่ละตัวราคามีขึ้นลงตามกลไกตลาด ทำอย่างไรถึงจะได้ราคา เราก็ต้องพัฒนาสายพันธุ์ต้นไม้ของเราให้มีคุณภาพ สวยงาม ไม้แปลก ไม้หายากยังเป็นที่ต้องการของนักสะสม ราคาก็จะสูงตามไป”

“เวลาขายแคคตัส ไม่ควรนำไปประมูล เพราะเมื่อเปิดประมูลแล้ว แม้ไม่ได้ราคาก็ต้องขาย ทำให้เสียของ การทำตลาดที่ดีของแคคตัสที่เป็นพันธุ์ดี ๆ สวยและหายากคือการตั้งราคาที่เราต้องการแล้วไปโพสต์ขายตามกลุ่มที่เล่นแคคตัสต่าง ๆ ในเฟซบุ๊ก ถ้าลูกค้าสนใจก็จะทักเข้ามาซื้อ ส่วนแคคตัสทั่วไปก็นำไปขายตามตลาดนัด ตลาดต้นไม้ หรืองานแฟร์ต่าง ๆ ก็ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี” คุณอรทัยแนะนำถึงวิธีการทำตลาดที่ประสบความสำเร็จ

.

.

.

.

“สวนล้านเล่าแคคตัสอุบล” เป็นน้ำพักน้ำแรงที่เกิดจากคุณอรทัยและสามี ซึ่งตอนแรก ๆ คุณอรทัยไม่ได้ตั้งใจที่จะทำกิจการเพาะพันธุ์แคคตัสขาย กิจการนี้เริ่มต้นจากความชอบแคคตัสของคุณอรทัยตอนสมัยยังไม่แต่งงาน ซื้อมาปลูกเป็นงานอดิเรก และเพาะขยายไปเรื่อย ๆ พอมากเข้าก็นำไปขายตามตลาดนัดวันเสาร์-อาทิตย์ และช่วงเช้าก่อนไปทำงาน ช่วงเย็นหลังเลิกงาน ปรากฎว่าขายดี เพาะไม่ทันบางส่วนจึงไปซื้อมาขาย

ตัวที่สร้างชื่อเสียงและทำรายได้ให้คุณอรทัยคือ ยิมโนด่าง หรือ ยิมด่าง ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่อยู่ในความสนใจตั้งแต่แรก ๆ ของการเล่นแคคตัส ยังไม่ได้ทำเป็นอาชีพเป็นหลักเป็นฐาน ซื้อมาค่อย ๆ เพาะ ค่อย ๆ ขาย ต่อมาพันธุ์นี้ได้รับความนิยมประกอบกับประสบการณ์ในการเพาะพันธุ์ส่งผลให้ทาง “สวนล้านเล่าแคคตัสอุบล” สามารถทำเงินได้เป็นกอบเป็นกำกับสายพันธุ์นี้

ต่อมางานที่ทำงานไม่ดี และเห็นโอกาสของการขายแคคตัส คุณอรทัยจึงได้ลาออกมาขายแคคตัสเต็มตัว โดยลงทุนสร้างโรงเรือนแรกด้วยเงินทุน 320,000 บาท ซึ่งค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่เป็นค่าซื้อไม้ ส่วนการก่อสร้างอาศัยแรงของสามีเป็นคนสร้าง กิจการของ “สวนล้านเล่าแคคตัสอุบล” เติบโตต่อเนื่อง มีคนซื้อไปปลูกเป็นไม้ประดับมากขึ้น บางส่วนเป็นงานอดิเรก 2-3 ปีที่ผ่านมาพูดได้ว่าเป็นยุคเฟื่องฟูของแคคตัสเลยก็ว่าได้ ยิ่งในปี 2563 ถือเป็นปีทอง โควิดทำให้คนอยู่แต่ในบ้าน จึงหันมาสนใจปลูกต้นไม้ แคคตัส ต้นไม้ด่างต่างขายดีเป็นเทน้ำเทท่าจนคนขายปลูกไม่ทันกันเลยทีเดียว

จากขาขึ้นของตลาดแคคตัส ทำให้คุณอรทัยใช้เวลาเพียง 6 ปีกว่า ๆ สร้างโรงเรือนถึง 8 หลัง และกำลังก่อสร้างอีก 1 หลัง โดยแต่ละหลังมีมาตรฐานใช้เงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 1-2 ล้านบาท ที่สำคัญไปกว่านั้น การลงทุนสร้างโรงเรือนเหล่านี้เกิดจากการสะสมเงินที่ขายแคคตัสได้ ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องที่น่าภาคภูมิใจ เพราะอาชีพที่เกิดจากความรัก ส่งผลให้ชีวิตประสบความสำเร็จจากความเพียรพยายามตลอดหลายปีที่ผ่านมา 

.

.

.