ใบกัญชา ยังคงได้รับความนิยมในคาเฟ่-ร้านอาหาร “สายเขียว” มากที่สุด รองลงมาได้แก่ กิ่งก้าน และราก
ข้อมูลการสำรวจความก้าวหน้าการขับเคลื่อน กำกับ และติดตาม การใช้กัญชา-กัญชง ในสถานที่จำหน่ายอาหารของ กรมอนามัย กระทรงสาธารณสุข ซึ่งได้ทำการสำรวจในระหว่างวันที่ 24 มิ.ย.-17 ก.ค.64 พบว่ามีหลายๆสถิติการใช้กัญชา ในร้านอาหารที่น่าสนใจ
สถิติการขออนุญาตใช้กัญชาในร้านอาหาร พบว่า ร้านอาหาร 57.6% มีใบอนุญาตการใช้ที่ถูกต้อง และยังมีถึง 28.8 % ที่ไม่มีใบอนุญาตหรือหนังสือรับรองการแจ้ง จะเห็นได้ว่าเรื่องดังกล่าวมีผลต่อการดำเนินธุรกิจ ซึ่งหากไม่ทำตามหลักเกณฑ์ที่ถูกต้อง ก็อาจทำให้ธุรกิจไม่สามารถเดินต่อไปได้อย่างดีเท่าที่ควร
สำหรับแหล่งที่มาของกัญชา ที่เป็นวัตถุดิบในร้านนั้น พบว่า มาจากวิสาหกิจชุมชนมากถึง 52.5% รองลงมา 22% ไม่ระบุแหล่งที่มา ขณะที่ 15.3% มาจากมหาวิทยาลัย 6.8% มาจากบริษัท และที่เหลือมาจากโรงพยาบาล
ส่วนเมนูยอดฮิตที่ลูกค้านิยม ยังคงเป็นเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของกัญชาถึง 77.97% รองลงมาได้แก่ เมนูประเภทต้ม 45.76% เมนูทอด 37.29% และแกง 16.95%
ด้านการใช้ส่วนต่างๆของกัญชาลัญชงในการประกอบอาหาร พบว่า ใบกัญชา ได้รับความนิยมมากที่สุดถึง 96.61% รองลงมาได้แก่ กิ่งก้าน และราก ซึ่งพบว่ามีการใช้ใบแห้งถึง 64.41% รองลงมาเป็นใบสด 59.32% ซึ่งอาจวิเคราะห์ได้ว่า การใช้ใบแห้งมากกว่านั้น เนื่องจากการปรุงอาหารในรูปของเครื่องดื่มมีความนิยม และขายได้ง่ายกว่า รวมทั้งใบแห้งยังง่ายต่อการเก็บรักษามากกว่าใบสด ที่มีอายุการใช้งานเพียงไม่กี่วัน
อีกประเด็นหนึ่ง ซึ่งพบว่าร้านอาหารและคาเฟ่ “สายเขียว” ให้ความสำคัญคือเรื่องของคำแนะนำและคำเตือนสำหรับผู้บริโภค โดยพบว่า มีการติดป้ายเตือนสำหรับการบริโภคมากถึง 84.21% และมีพนักงานคอยให้คำแนะนำ 57.89%
นอกจากนี้ข้อมูลที่น่าสนใจ จากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จากการวิเคราะห์คำนวณปริมาณการใช้กัญชาที่แนะนำต่อวัน ในเมนูอาหาร โดยในเมนูทอด ปริมาณที่แนะนำให้ใช้ใบสด 1-2 ใบต่อเมนู โดยไข่เจียว ให้ใช้เพียงแค่ครึ่งใบ หรือ 1 ใบเท่านั้น เหตุเพราะTHC และ CBD จะละลายได้ดีในน้ำมัน
ขณะที่เมนูผัด แกง ต้ม ให้ใช้ใบสด 1-3 ใบ และหากผสมในเมนูเครื่องดื่มให้ใช้ใบสด ประมาณ 1 ใบ ก็เพียงพอแล้ว
ผลการสำรวจดังกล่าวของกรมอนามัย พบว่า ร้านอาหารและคาเฟ่เครื่องดื่ม “สายเขียว” ส่วนใหญ่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์อย่างเคร่งครัด ซึ่งถือเป็นส่วนที่ดีของการเดินหน้านโยบายกัญชา
แต่หากจะให้ธุรกิจนี้สามารถเดินต่อได้อย่างยั่งยืน ต้องอาศัยความใส่ใจของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งเรื่องการปลูกการผลิต และการนำไปใช้ ที่ต้องสามารถเข้าถึงได้ง่าย และสร้างฐานความรู้ การวิจัย พัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ เพื่อให้กลุ่มประกอบการทั่วไปสามารถเข้าถึงได้