Takachar สตาร์ทอัพสายรักษ์โลก เปลี่ยนขยะการเกษตร ให้กลายเป็นเชื้อเพลิง ที่มีมูลค่าตลาดอยู่ราว 10,000 ล้านเหรียญ


ขยะที่เกิดจากภาคเกษตรกรรมนับว่าสร้างความเสียหายให้กับสภาพแวดล้อมโลกมาเป็นระยะเวลานานนับศตวรรษ อันเนื่องมาจากวิธีกำจัดขยะด้วยการเผา ซึ่งเป็นวิธีที่เร็วและใช้ต้นทุนที่ต่ำ จึงเป็นที่นิยมกันอย่างแพร่หลาย ซึ่งผลจากการกระทำนี้ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับสภาพภูมิอากาศโลกต่อเนื่องหลายสิบปี จนในปัจจุบัน เทรนด์ของการฟื้นฟูโลกได้ถูกจุดขึ้นอีกครั้ง จากประชากรโลกที่เริ่มเห็นถึงผลร้ายที่จะตามมาในอนาคต 

รวมถึงมีกลุ่มคนที่ใช้เทคโนโลยีเข้ามาจัดการกับเรื่องนี้โดยเฉพาะ ดังเช่น Takachar สตาร์ทอัพจากเมืองบอสตัน ที่ประยุกต์เอาเทคนิคกระบวนการทางเคมีสำหรับผลิตเชื้อเพลิง หรือเทคโนโลยีที่เรียกว่า Torrefaction แบบไม่ใช้ออกซิเจน ผ่านเครื่องจักรที่มีขนาดเล็กและต้นทุนต่ำ ในการเปลี่ยนของเสียเหล่านี้ให้กลายเป็นเชื้อเพลิงและปุ๋ย

Takachar อยู่ในภารกิจต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จากการสำรวจ ทั่วโลกมีการเผาพืชผลและเศษซากป่ามูลค่า 120,000 ล้านดอลลาร์ในแต่ละปี หากใช้อย่างมีประสิทธิผล สารตกค้างเหล่านี้จะมีมูลค่าสูงถึง 1 หมื่นล้านเหรียญ โดยพวกเขาได้เปลี่ยนชีวมวลของเสียจำนวนมหาศาลให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่วางจำหน่ายในตลาดทั่วโลก

.

.

.

.

นอกจากเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพราะลดการเกิดควันได้มากถึง 98 เปอร์เซ็นต์ของการเผาไหม้แบบปกติ กระบวนการนี้ยังสร้างรายได้ให้เกษตรกรด้วย เพราะขยะการเกษตรที่เต็มไปด้วยคาร์บอนไดออกไซด์และเหมาะกับการนำมาแปลงเป็นเชื้อเพลิงเหล่านี้จากทั่วโลกถูกประเมินว่ามีมูลค่าสูงถึง 10,000 ล้านเหรียญ

“อุปกรณ์ของเรามีต้นกำเนิดมาจากการคั่วเมล็ดกาแฟสไตล์ฝรั่งเศส ที่ใช้วิธีการควบคุมอากาศในการอบ วิธีการนี้จะดึงโมเลกุลที่มีพลังงานต่ำออกมา และเหลือไว้แต่วัตถุดิบที่อุดมด้วยคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งสามารถนำมาเป็นเชื้อเพลิงหรือปุ๋ยได้” Vidyut Mohan ผู้ร่วมก่อตั้งของ Takachar กล่าว

อันที่จริงเทคโนโลยี Torrefaction ถูกใช้อย่างแพร่หลายมาแล้วกว่าศตวรรษ ซึ่ง Takachar หวังว่าจะทำให้เทคโนโลยีดังกล่าวเข้าถึงเกษตรกรทั่วไปได้มากขึ้นโดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกล และเมื่อไม่นานมานี้ก็เพิ่งประสบความสำเร็จในโครงการนำร่องที่เคนยา ที่นำข้าวสารตกค้างมาเปลี่ยนเป็นเชื้อเพลิงและจำหน่ายให้กับเกษตรกรกว่า 5,000 ราย และกำลังมองหาความเป็นไปได้สำหรับการขยายบริการในเชิงพาณิชย์

และเมื่อเดือนที่ผ่านมา สตาร์ทอัพรักษ์โลกเจ้านี้ ก็เพิ่งคว้ารางวัล Earthshot ในงานประกวดด้านสิ่งแวดล้อมที่จัดขึ้นโดยเจ้าชายวิลเลียม และเคต มิดเดิลตัน ดยุกและดัชเชสแห่งเคมบริดจ์ เพราะเวทีนี้มองว่า Takachar แสดงให้เห็นถึงความเฉลียวฉลาดของมนุษย์ ในการลดผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่ง Freethink ก็ได้ยกย่องความสำคัญของการประกวดเวทีนี้ว่าเปรียบเสมือนออสการ์ของวงการสิ่งแวดล้อมเลยทีเดียว

ด้าน Mohan บอกว่ารางวัลนี้มีความหมายกับพวกเขามากๆ เพราะเปิดโอกาสในการยกระดับ Takachar ให้เป็นโครงการระดับโลก และยังทำให้เข้าถึงการสนับสนุนและแหล่งเงินทุนที่สำคัญ ซึ่งจำเป็นมากสำหรับภารกิจเปลี่ยนโลกในครั้งนี้

.