รัฐอย่าซ้ำเติมเอสเอ็มอี ยกเลิกแต้มต่อมีแต่เสียกับเสีย


ข่าวใหญ่ในแวดวงเอสเอ็มอีตลอด 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา กรณีกรมบัญชีกลางปรับปรุงแนวทางการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุน โดยยกเลิกแนวทางปฏิบัติตามกฎกระทรวงกำหนดพัสดุและวิธีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุ ที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2563

โดยการยกเลิกแนวทางปฏิบัติดังกล่าว มี 2 ข้อที่เป็นประเด็นสำคัญ คือ 1.ยกเลิกกำหนดสัดส่วนจัดซื้อจัดจ้างหน่วยงานภาครัฐ ที่ต้องจัดซื้อจัดจ้างกับเอสเอ็มอีในสัดส่วน 30 เปอร์เซ็นต์ของงบประมาณ
2.ยกเลิกการกำหนดให้หน่วยงานภาครัฐ ต้องจัดซื้อจัดจ้างกับเอสเอ็มอีในพื้นที่ตั้งจังหวัดของหน่วยงานรัฐที่ตั้งอยู่ก่อน โดยวิธีคัดเลือกนั้นต้องมีเอสเอ็มอีในจังหวัดที่ขึ้นทะเบียนจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เข้าเสนอให้พิจารณา 6 รายขึ้นไป

การยกเลิกทั้ง 2 ข้อดังกล่าว เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก เพราะการกำหนดวิธีปฏิบัติการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุนี้ เกิดขึ้นด้วยแนวนโยบายของรัฐบาล ที่ต้องการช่วยเหลือเอสเอ็มอีในภาวะที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดโควิดอย่างรุนแรง เป็นการสร้างโอกาสให้เอสเอ็มอีมีช่องทางทำรายได้เพิ่ม ในช่วงที่ยากลำบาก

อีกทั้งในมุมการพัฒนาเศรษฐกิจ ยังเป็นการกระจายเม็ดเงินไปสู่พื้นที่ส่วนภูมิภาคที่มีประสิทธิภาพ เพราะในอดีตที่ผ่านมา บริษัทขนาดใหญ่จากส่วนกลาง จะเป็นกลุ่มที่เข้าไปประมูลในพื้นที่ต่างจังหวัด เม็ดเงินรายได้หรือผลกำไรก็จะถูกเก็บเกี่ยวกลับเข้าสู่ส่วนกลาง ทั้งที่ควรให้เม็ดเงินเหล่านั้นหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจภูมิภาค ขณะเดียวกันประโยชน์ที่เกิดต่อเนื่อง ยังเป็นการช่วยส่งเสริมให้เอสเอ็มอีต่างจังหวัดเข้มแข็งขึ้นด้วย

มีรายงานว่า สิ่งที่ทำให้มีความต้องการยกเลิกวิธีปฏิบัติทั้ง 2 ข้อ เนื่องจากมีการร้องเรียนว่า เกิดการฮั้วประมูลหรือเป็นช่องว่างให้เกิดการฮั้วนั้น ไม่น่าจะถูกต้อง เพราะความจริงระเบียบวิธีการป้องกันการฮั้วประมูลมีอยู่แล้ว สามารถที่จะนำมาป้องกัน หรือตรวจสอบได้ การยกเลิกวิธีปฏิบัติในสิ่งที่ดีอยู่แล้วเพื่อบอกว่าเป็นการแก้ปัญหา จึงไม่ใช่วิธีการที่ถูกต้อง

ล่าสุดเมื่อวันที่ 10 ก.พ. ที่ผ่านมา มีการประชุมบอร์ด สสว. มีนายกรัฐมนตรี ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกฯ และนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีคลัง เข้าร่วมด้วย และได้มีการหยิบยกเรื่องการยกเลิกแนวทางช่วยเหลือดูแลเอสเอ็มอีทั้ง 2 ข้อดังกล่าวมาให้ที่ประชุมได้รับทราบ ซึ่งยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร หวังว่ารัฐมนตรีกระทรวงการคลัง ที่ได้รับทราบข้อมูลเรื่องนี้ จะไปดำเนินการพิจารณาดำเนินการในสิ่งที่ถูกต้อง

อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ บรรดาคนในแวดวงเอสเอ็มอี รู้สึกได้ว่าหน่วยงานรัฐไม่เข้าใจเอสเอ็มอีดีพอ ไม่เข้าใจถึงสภาพแวดล้อมที่เอสเอ็มอีถูกกดดันอย่างหนักจากสถานการณ์โควิด รวมไปถึงการถูกกีดกันจากเงื่อนไขกฎเกณฑ์ทางการค้า ที่เป็นอุปสรรคหรือไม่เอื้อต่อการเติบโตของผู้ประกอบการรายเล็กๆ

ท่ามกลางมรสุมเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ หากแนวคิดที่จะยกเลิกการสนับสนุนให้เอสเอ็มอีเข้าถึงการประมูลภาครัฐทั้ง 2 ข้อ ยังไม่เปลี่ยนแปลง ก็จะเป็นการตอกย้ำความรู้สึกว่ารัฐบาลไม่เข้าใจเอสเอ็มอีมากยิ่งขึ้น ซึ่งเชื่อว่ารัฐบาลคงไม่อยากให้เป็นเช่นนั้น