ทำไมร้านอาหารต้องจ่ายค่า GP เดลิเวอรี จ่ายแล้วคุ้มกับที่เสียไปหรือไม่?


การเปิดร้านอาหารในยุคปัจจุบันอาจจะเรียกได้ว่าการมีบริการหน้าร้านรอให้ลูกค้ามานั่งรับประทานอาจจะไม่ตอบโจทย์อีกต่อไป เพราะในแง่ของการทำธุรกิจแล้วนี่อาจเป็นการทำธุรกิจแบบตั้งรับ และเป็นการจำกัดช่องทางบริการที่มีรายได้เพียงทางเดียว

ด้วยเทคโนโลยีที่พัฒนาอย่างรวดเร็วทำให้เกิดแพลตฟอร์มจัดส่งอาหารแบบเดลิเวอรีขึ้นมามากมายเพื่อให้บริการกับร้านอาหารเป็นการตอบโจทย์พฤติกรรมผู้บริโภคสมัยใหม่ที่เน้นความสะดวกสบาย รวดเร็ว และเป็นการสอดรับกับสถานการณ์ การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ต้องลดการเดินทาง รวมถึงการหลีกเลี่ยงผู้คนแออัด

ข้อมูลจาก EIC ระบุว่ามูลค่าตลาด Food delivery ในปี 2021 จะมีมูลค่า 1.05 แสนล้านบาท เติบโต 62% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา แน่นอนว่ามีการประเมินว่าตลาดนี้ยังคงขยายตัวไปไกลได้อีกในอนาคตจากปัจจัยเรื่องการแข่งขันของผู้ให้บริการในเรื่องการจัดโปรโมชัน, การทำตลาด, การขยายพื้นที่ให้บริการ

อย่างไรก็ตาม ร้านอาหารที่เข้าร่วมใช้แพลตฟอร์มจัดส่งอาหารแบบเดลิเวอรี คือค่าดำเนินการ GP ที่ต้องเสียให้กับผู้ดำเนินการซึ่งแต่ละเจ้าจะมีการเก็บในอัตราที่แตกต่างกันออกไป

คำถามที่ตามมา คือแล้วทำไมร้านอาหารต้องจ่ายค่า GP หากจ่ายไปแล้วจะได้อะไรกลับมาบ้าง? ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่า GP ย่อมาจากคำเต็ม คือ Gross Profit โดยเป็นค่าบริการที่ร้านอาหารต้องจ่ายให้กับแพลตฟอร์มเดลิเวอรี ซึ่งไม่รวมกับค่า VAT 7% สำหรับค่า GP ที่ร้านอาหารเสียไปนั้นแพลตฟอร์มเดลิเวอรีจะมอบกลับคืนมาในรูปแบบของโปรโมชัน การตลาด สิทธิพิเศษต่าง ๆ ที่มีความโดดเด่นเพื่อดึงดูดลูกค้า รวมไปถึงความสะดวกสบายในเรื่องการขนส่งอาหารที่มีการจัดคิวมีคนมารับอาหารไปส่งให้กับลูกค้า

สำหรับแพลตฟอร์ม Food delivery ยอดนิยมในประเทศไทยมีการเก็บค่า GP ในอัตราเท่าไหร่บ้าง มาดูกัน

1.Grabfood เก็บค่า GP 30%

2.LINE MAN เก็บค่า GP 30%

3.Foodpanda เก็บค่า GP 32%

4.Shopee Food เก็บค่า GP 30%

5.Gojek เก็บค่า GP 30%

6.Robinhood ยังไม่เรียกเก็บค่า GP

7.True Food ยังไม่เรียกเก็บค่า GP

หากจะอธิบายให้เห็นภาพการเก็บค่า GP แบบเข้าใจง่าย ๆ หากคุณเปิดร้านอาหารแล้วมียอดขายวันนั้นทั้งหมด 10,000 บาท แล้วเสียค่า GP 30% หมายความว่า จะต้องชำระเงิน จำนวน 3,000 บาท จึงทำให้ยอดเงินที่ได้ คือ 7,000 บาท