ขี่สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าในไทยทำไมถึงถูกจับ เปรียบเทียบมุมมองประเทศอื่นต่อสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า


เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาเราได้เห็นข่าวที่กลายเป็นที่พูดถึงเกิดการวิพากษ์วิจารณ์เป็นประเด็นในมุมภาพกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เมื่อตำรวจภูธรป่าตอง จังหวัดภูเก็ต จับกุม-ปรับ ชาวต่างชาติที่เช่าสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้ามาขับขี่ ตามข้อร้องเรียนจากประชาชน จึงเกิดคำถามตามมาว่า แค่ขี่สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าเป็นเรื่องผิดกฎหมายเลยหรือ?

หากพิจารณาตามข้อกฎหมาย เราต้องเข้าใจก่อนว่าสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าที่นักท่องเที่ยวชาวต่างชาตินำมาขี่อยู่บนถนน หมายความว่ารถที่มาวิ่งจะต้องมีป้ายทะเบียน มีใบอนุญาตขับขี่ และเสียภาษีมาใช้ในทาง ซึ่งจากการเข้าตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ตำรวจ พบว่าไม่มีข้อมูลหลักฐานในส่วนที่กล่าวไป จึงเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.รถยนต์ 2522 มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

สำหรับสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้านี้ ถูกนิยามให้อยู่ในหมวด รถจักรยานยนต์ ที่กำลังขับเคลื่อนโดยเครื่องยนต์ หรือกำลังไฟฟ้า มีล้อไม่เกิน 2 ล้อ อย่างไรก็ตาม เราต้องแยกประเด็นให้ออกว่าสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้ายังสามารถใช้ขับขี่ เช่น ขี่ใช้ออกกำลังกายในพื้นที่สวนสาธารณะ, การขี่ในพื้นที่ส่วนบุคคล, การขี่ในพื้นที่หมู่บ้าน แต่ไม่สามารถนำมาขี่บนท้องถนนได้

อย่างไรก็ตาม หากต้องการนำสกู๊ตเตอร์มาขับขี่บนท้องถนนจะต้องไปขอจดทะเบียนกับกรมขนส่งทางบก เพื่อดำเนินการขอป้ายทะเบียน, ป้ายวงกลมแสดงการเสียภาษี รวมถึงการเสียค่า พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยทางรถยนต์ โดยการนำมาขับขี่บนท้องถนนนั้นผู้ขับขี่ต้องสวมใส่หมวกกันน็อก และปฏิบัติตามกฎจราจรเหมือนกับรถมอเตอร์ไซค์ทั่วไป

เมื่อพูด “สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า” แล้ว เราอาจจะกล่าวได้ว่านี่คือยานพาหนะทางเลือกใหม่ที่ตอบโจทย์การเดินทางในสภาพการจราจรติดขัด เพราะด้วยความมีขนาดเล็ก กะทัดรัด ทำให้สามารถเดินทางไปยังพื้นที่จุดหมายได้อย่างรวดเร็ว เป็นการลดพลังงานเชื้อเพลิง ซึ่งในต่างประเทศได้มีการสนับสนุนการใช้สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าสำหรับการเดินทางแล้ว

ออสเตรเลีย : ที่เมืองเพิร์ท เปิดให้บริษัทเอกชนทดลองใช้สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าเป็นระยะเวลา 12 เดือน เพราะมองว่าเป็นพลังงานสะอาด ตลอดจนเป็นทางเลือกให้กับประชาชนในการเดินทาง โดยคิดค่าบริการเริ่มต้น 1 ดอลลาร์ ซึ่งผู้ให้บริการได้เตรียมสกู๊ตเตอร์ไว้รองรับลูกค้าแล้วประมาณ 250 คัน ครอบคลุมพื้นที่เขตสเตอร์ลิง ราว 26 กิโลเมตร

อังกฤษ : ที่กรุงลอนดอน รัฐบาลอังกฤษส่งเสริมให้ประชาชนใช้วิธีเดินทางที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยเปิดให้เช่าสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าเพื่อสัญจรบนท้องถนน อีกทั้ง ยังสอดรับกับสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ที่ต้องการให้ประชาชนเว้นระยะห่าง ซึ่งการเช่าสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้ามีราคาเริ่มต้น 1 ปอนด์

ในส่วนของความปลอดภัย ทางผู้เกี่ยวข้องได้ทำเลน go-slow areas ที่จำกัดความเร็วในการวิ่งสูงสุด 13 กม./ชั่วโมง

เกาหลีใต้ : สนับสนุนให้ประชาชนใช้สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าในการเดินทาง แต่มีข้อกำหนดว่าผู้ใช้ต้องมีใบขับขี่ตามพระราชบัญญัติจราจร หากฝ่าฝืนจะมีโทษปรับเป็น 100,000 วอน ซึ่งการดำเนินการครั้งนี้ก็เพื่อลดอุบัติเหตุที่บนท้องถนนที่สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าเกิดอุบัติเหตุเพิ่มขึ้น

แน่นอนว่าด้วยบริบทของแต่ละประเทศมีความแตกต่างไม่เหมือนกัน ดังนั้นการสนับสนุนการใช้สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าจึงขึ้นอยู่กับความพร้อมของทั้งผู้เกี่ยวข้อง และผู้ใช้งาน ว่าเข้าใจในกฎระเบียบข้อบังคับหรือไม่ รวมถึงการมีออกมาตรการเพื่อส่งเสริมให้มีการใช้งานยานพาหนะรูปแบบนี้มากขึ้น