จงมองหาแอ่งน้ำในบึงที่เหือดแห้ง


กว่า 2 ปีที่เราเผชิญกับพิษโควิด วันนี้ก็ยังไม่รู้ว่าจะต้องใช้เวลาอีกนานสักเท่าไหร่กว่าการระบาดจึงจะจบลง และเป็นเวลากว่า 1 เดือนแล้ว ที่เราถูกซ้ำเติมด้วยสถานการณ์สู้รบระหว่างยูเครนกับรัสเซีย ที่ส่งผลทำให้ต้นทุนพลังงานพุ่งสูงขึ้น กระทบกับผู้ประกอบการเต็มๆ รวมทั้งทำให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

สถานการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ออกมาปรับลดคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย จากเดิมที่คาดว่าในปีนี้จะเติบโตราวร้อยละ 3.5-4.5 เหลือร้อยละ 3-4 พร้อมทั้งคาดว่าเงินเฟ้อระยะสั้นจะพุ่งสูงในระดับไม่ต่ำกว่าร้อยละ 5 จากที่เมื่อเดือน ก.พ. ที่ผ่านมาอยู่ที่ 5.28 ส่วนเงินเฟ้อระดับสูงนั้นจะคงอยู่ในระยะเวลายาวนานเท่าไหร่ ขึ้นอยู่กับราคาน้ำมันว่าจะลดลงเมื่อไหร่

เงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการตกอยู่ในสภาพถูกบีบเป็นแซนด์วิช เพราะต้องแบกรับต้นทุนที่สูงขึ้น โดยไม่สามารถส่งผ่านต้นทุนไปยังผู้บริโภคได้ ขณะที่ตลาดก็กำลังซื้อน้อยหรืออ่อนแรง

นักเศรษฐศาสตร์ท่านหนึ่ง พูดกับผมว่า หน่วยงานภาครัฐพยายามปลอบประโลมสังคม โดยฉายภาพสถานการณ์เงินเฟ้อดังกล่าวเป็นเพียงระยะสั้น และภาพรวมเศรษฐกิจประเทศยังมีแนวโน้มการขยายตัวเพิ่มขึ้น แต่อย่าลืมว่าวันนี้พิษโควิดและสงครามยูเครน ได้ทำร้ายพื้นฐานทางเศรษฐกิจเราไปมาก สถานการณ์เวลานี้จึงย่อมน่าเป็นห่วง

พื้นฐานทางเศรษฐกิจที่สำคัญตัวหนึ่ง คือ หนี้สินภาคครัวเรือน โดยเมื่อปลายปี 2563 หนี้ครัวเรือนของไทยอยู่ที่ ร้อยละ 89.7 ของจีดีพี แต่เมื่อไตรมาส 4 ปี 3564 หนี้ครัวเรือนทะลุไปร้อยละ 90.1 และคาดว่าน่าจะสูงขึ้นอีกในสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งจะเป็นแรงกดดันสำคัญในการขยายตัวทางเศรษฐกิจ รวมทั้งอาจลุกลามไปถึงภาคการเงิน ที่ทำให้ NPL อาจจะเพิ่มสูงขึ้นในอนาคต

สิ่งที่กล่าวมาข้างต้น ทั้งเรื่องต้นทุนการประกอบธุรกิจที่เพิ่มจากต้นทุนพลังงาน ภาวะเงินเฟ้อที่สูงขึ้น และปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือน รวมทั้งหนี้สินทางธุรกิจ คือความเสี่ยงที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยเต็มไปด้วยความเปราะบาง แล้วผู้ประกอบการเอสเอ็มอีอย่างพวกเราต้องทำอย่างไร….ในสถานการณ์เช่นนี้

ทั้งนี้ที่ผ่านมาผู้ประกอบการหลายๆแห่งพยายามลดต้นทุน ด้วยการลดขนาดองค์กรแต่นั้นอาจไม่ใช่สูตรสำเร็จ ที่จะนำพาธุรกิจผ่านพ้นสถานการณ์นี้ไปได้ เพราะการลดขนาดองค์กรหมายถึงลดขนาดกิจกรรมทางธุรกิจซึ่งเป็นที่มาของรายได้ด้วย ดังนั้นควรพิจารณาทางเลือกอื่นๆควบคู่ไปด้วย เช่น

1.พิจารณาสินค้าหรือบริการที่ทำอยู่ว่า สินค้าใดไปต่อได้หรือไม่ได้ โดยสินค้าที่ไปต่อไปไม่ได้ก็ยุติ ยกตัวอย่าง ธุรกิจโรงพิมพ์หนังสือวันนี้ พบว่าแม้จะโดย Disruption จากสื่อใหม่ แต่เชื่อไหมว่า หนังสือความรู้พื้นฐานของเด็กๆ ยังเป็นที่ต้องการของพ่อแม่ที่ซื้อให้เด็กๆได้อ่าน ดังนั้นแทนที่เราจะเลิกพิมพ์หนังสือทั้งหมด เราก็มาเน้นหนังสือเกี่ยวกับเด็ก

2.ตลาดปัจจุบันเราไม่จำเป็นต้องเก่งทุกเรื่อง ต้องหาให้เจอว่าเราเก่งเรื่องอะไรจริงๆ แล้วพัฒนาสินค้าหรือบริการให้โดดเด่น เรียกว่าเจาะ Niche Market เช่นวันนี้ธุรกิจเสื้อผ้าแฟชั่น มีบริษัทคนรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อยที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง จากการจับตลาดเสื้อยืดอย่างเดียว เพียงแค่สร้างความโดดเด่นชัดเจนว่า เชี่ยวชาญเรื่องเสื้อยืดเท่านั้น ลูกค้ากลุ่มนี้ก็แห่แหนมาซื้อหา

3.เก็บข้อมูลด้านการตลาดหรือลูกค้าอย่างละเอียด เพื่อให้รู้ความต้องการที่แท้จริงของลูกค้า แล้วนำมาบริหารจัดการเพื่อตอบสนองความต้องการลูกค้าอย่างมีประสิทธิภาพ อนาคตก็จะมีลูกค้าประจำมากขึ้น ที่สำคัญตราบใดที่ยังมีลูกค้าก็เท่ากับว่ายังมีโอกาสเสมอ

4.ผู้ประกอบการต้องหาโอกาสใหม่ให้เจอ ตัวอย่าง วันนี้ต้นทุนพลังงานพุ่งสูงมาก ทำให้เกิดความต้องการประหยัดพลังงานในหมู่ประชาชนมากขึ้น ดังนั้นจะเห็นว่าสินค้าเกี่ยวข้องกับการใช้พลังงานแสงอาทิตย์จะขายดีมาก

“ในบึงที่เหือดแห้ง ย่อมมีแอ่งน้ำเล็กๆให้ปลาซุกซ่อนอยู่เสมอ” ยังเป็นข้อคิดที่ใช้ได้กับทุกวิกฤต เพียงแต่ทุกคนไม่ยอมแพ้และมีสติในการดำเนินธุรกิจ เชื่อว่าจะผ่านพ้นสถานการณ์นี้ไปได้อย่างแน่นอน ขอบคุณครับ