“คนละครึ่งเฟส 5” เมื่อผู้ประกอบการอยากให้ไปต่อ แต่รัฐฯ บอกพอก่อน


ปฏิเสธไม่ได้ว่าโครงการ “คนละครึ่ง” เป็นหนึ่งในมาตรการที่กระตุ้นเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดีเป็นประโยชน์ทั้งผู้ประกอบการ และประชาชน ทำให้มีเงินจับจ่ายซื้อสินค้ามากขึ้น ในยามที่สถานการณ์ไม่มีความแน่นอน

เชื่อว่าหลายคนที่อ่านมาถึงบรรทัดนี้คงเคยใช้สิทธิ์ “คนละครึ่ง” ซึ่งรัฐฯ จะช่วยจ่าย 50% ไม่เกินวันละ 150 บาท และประชาชนจะจ่าย 50% ผ่านแอปพลิเคชันเป๋าตัง อธิบายให้เห็นภาพ หากเราไปซื้อก๋วยเตี๋ยวในราคาชามละ 60 บาท เราจะจ่ายแค่ 30 บาท เท่านั้น โดยโครงการ “คนละครึ่ง” เดินทางมาถึงเฟสที่ 4 ซึ่งที่ผ่านมารัฐฯ ได้ให้วงเงิน 1,500 บาท, 1,200 บาท ตามลำดับ

เมื่อประเมินผลโครงการ พบว่าสามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ เพิ่มสภาพคล่องทางด้านการเงินให้กับประชาชนไม่ใช่น้อย ดูได้จากยอดการใช้จ่าย “คนละครึ่งเฟส 3” (ณ เวลา 23.00 น.) ที่มีผู้ใช้สิทธิสะสมจำนวน 26.22 ล้านราย มียอดใช้จ่ายรวม 184,823.7 ล้านบาท คิดเป็น 73,061.3 ล้านบาท

ขณะที่ “คนละครึ่งเฟส 4” ข้อมูล ณ วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2565 (ณ เวลา 23.00 น.) พบว่ามีผู้ใช้สิทธิจำนวน 26.26 ล้านราย มียอดใช้จ่ายรวม 60,617.8 ล้านบาท ซึ่งกำลังหมดเขตการใช้ในวันที่ 30 เม.ย. นี้

จะเห็นได้ว่าโครงการคนละครึ่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องออกมาสนับสนุนว่าให้ไปต่อกับ “คนละครึ่งเฟส 5” เช่น สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยที่เสนอให้รัฐบาลขยายโครงการดังกล่าว เพื่อกระตุ้นกำลังซื้อภายในประเทศ และลดค่าครองชีพให้กับประชาชน จากราคาสินค้า-อาหารที่ปรับสูงขึ้น พร้อมแนะว่าควรให้วงเงิน 1,500 บาท ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับประชาชนจำนวนมาก รวมถึงผู้ประกอบการ SME

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่า “คนละครึ่งเฟส 5” อาจจะเป็นเพียงแค่ความฝัน เมื่อกระทรวงการคลังยังไม่มีนโยบายไปต่อกับโครงการนี้ โดยต้องยอมรับว่า “คนละครึ่ง” เป็นโครงการที่ต้องใช้งบประมาณสูงประมาณนับหมื่นล้าน และเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจเพียงช่วงระยะสั้นเท่านั้น จึงมีแนวโน้มว่าโครงการ “คนละครึ่ง” อาจไม่ได้ไปต่อ

คำให้สัมภาษณ์ของนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า “คนละครึ่งเฟส 5” ต้องพิจารณาว่าจำเป็นหรือไม่ โดยโครงการคนละครึ่งสามารถแบ่งเบาภาระประชาชนในระดับหนึ่งที่เผชิญปัญหากับเรื่องรายได้ แต่ตอนนี้เศรษฐกิจเริ่มเข้าสู่สภาวะปกติ ประชาชนเริ่มกลับมาทำงาน ควรที่จะลดมาตรการดังกล่าวลง เปลี่ยนมาเป็นสนับสนุนการสร้างอาชีพ เพื่อให้ประชาชนมีรายได้แทน

เรื่องนี้ต้องมาติดตามกันต่อว่าจะได้บทสรุปออกมาอย่างไร ทางมองในมุมของประชาชน ผู้ประกอบการ โครงการนี้สามารถกระตุ้นการใช้จ่าย สร้างรายได้เพิ่มให้กับคนทำธุรกิจได้ แต่ทางมองในภาครัฐฯ ด้วยงบประมาณที่ต้องใช้เป็นจำนวนมาก จึงต้องประเมินความคุ้มค่าในภาพรวมเพื่อให้เกิดความสมดุลระหว่างกัน