จับตา! อินโดห้ามส่งออกน้ำมันปาล์ม จุดชนวนราคาอาหารทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้น


อินโดนีเซีย หนึ่งในประเทศส่งออกปาล์มน้ำมันอันดับต้น ๆ ของโลก กำลังประสบปัญหาน้ำมันปรุงอาหารภายในประเทศ จนรัฐบาลต้องออกประกาศห้ามส่งออกปาล์มน้ำมันออกไปต่างประเทศ เริ่มตั้งแต่วันที่ 28 เม.ย. เพื่อแก้ปัญหาตรึงราคาไม่ให้สูงไปมากกว่า และเพียงพอต่อการบริโภคภายในประเทศ

Joko Widodo ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย กล่าวว่าการออกคำสั่งห้ามส่งออกปาล์มน้ำมันเพื่อรักษาเสถียรภาพภายในประเทศจากปัญหาการขาดแคลนน้ำมันปาล์ม จำเป็นต้องเก็บสินค้าเอาไว้ให้มากที่สุด และจะต้องตรึงราคาน้ำมันปาล์มไม่ให้ขึ้นไปมากกว่านี้ เนื่องจากปาล์มเป็นสินค้าเกษตรที่สำคัญของอินโดนีเซีย

ในเรื่องนี้ ผู้เชี่ยวชาญต่างออกมาเตือนว่า การระงับส่งออกปาล์มอาจเป็นการซ้ำเติมสภาวะเงินเฟ้อที่กำลังพุ่งสูงขึ้น รวมถึงราคาอาหารที่อาจปรับตัวเช่นกัน โดยราคาน้ำมัน ไม่ว่าจะเป็น น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันดอกทานตะวัน คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นหลังอินโดนีเซียประกาศห้ามส่งออกปาล์มน้ำมัน

น้ำมันพืชที่สำคัญกำลังขาดตลาด เนื่องจากสภาพอากาศที่เลวร้าย และความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย และยูเครน ทำให้อินโดนีเซียต้องหยุดการส่งออกนำมาสู่ความกังวลให้กับผู้บริโภคในเอเชีย และแอฟริกาในเรื่องของราคาน้ำมัน และอาหารที่สูงขึ้น

James Fry ประธานที่ปรึกษาสินค้าโภคภัณฑ์ LMC International กล่าวกับสำนักข่าว Reuters ว่าการตัดสินใจของอินโดนีเซียไม่เพียงส่งผลกระทบต่อปาล์มน้ำมันเพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมถึงน้ำมันพืชทั่วโลกอีกด้วย โดยการส่งออกน้ำมันหลัก ๆ ตกอยู่ภายใต้ความกดดัน ทั้งน้ำมันถั่วเหลืองจากภัยแล้งในอเมริกาใต้, น้ำมันแรพซีดจากพืชคาโนลาในแคนาดา และน้ำมันดอกทานตะวัน เพราะความขัดแย้งสงครามรัสเซีย-ยูเครน

ด้าน Trinh Nguyen นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสแห่ง Natixis กล่าวกับ Al Jazeera ว่าอินโดนีเซียเป็นผู้นำผลิตน้ำมันปาล์ม และการระงับการส่งออกหมายความว่าอุปทานของน้ำมันพืชจะผลักดันให้ราคาสูงขึ้น เพื่อกดดันราคาอาหารส่งผลกระทบต่อผู้บริโภค

ทั้งนี้ อินโดนีเซียได้จำกัดการส่งออกน้ำมันปาล์มในเดือนมกราคม ก่อนที่จะยกเลิกข้อจำกัดในเดือนมีนาคม และล่าสุดได้ประกาศห้ามส่งออกในเดือนเมษายน

ปฏิเสธไม่ได้ว่าปาล์มน้ำมันถูกใช้ในการทำอาหาร, การผลิตเครื่องสำอาง, การผลิตผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด โดยอินโดนีเซียมีการส่งออกคิดเป็นสัดส่วนเกือบร้อยละ 60 ของการขนส่งน้ำมันพืชทั่วโลก และอินโดนีเซียถือเป็นผู้ผลิตชั้นนำที่คิดเป็น 1 ใน 3 ของการส่งออกน้ำมันพืชทั้งหมด

ที่มา: theguardianaljazeera