1. ตั้งชื่อภาพ – ใส่คำอธิบาย เพื่อช่วยในการเข้าถึง
ควรตั้งชื่อภาพและใส่ข้อความเพื่ออธิบายภาพเสมอ โดยข้อความที่ใส่ต้องสื่อความหมาย และอธิบายภาพได้อย่างชัดเจน เนื่องจาก Google ไม่ได้มองเห็นภาพในแบบที่เรามองเห็น แต่สิ่งที่ Google เห็นเป็นเพียงชื่อไฟล์ หรือ Code ต่างๆ ที่อยู่ด้านหลังของภาพ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องใส่คำอธิบายหรือการตั้งชื่อภาพ เพราะนอกจากจะช่วยให้ Google เข้าถึงเว็บไซต์ได้ง่ายขึ้น ยังช่วยสร้างโอกาสในการทำความเข้าใจในคีย์เวิร์ดหลักที่หน้านั้นๆ กำลังพูดถึงได้ด้วย
2. ควรใช้ไฟล์ภาพที่มีขนาดเหมาะสม
เพื่อช่วยให้ความเร็วในการแสดงผลข้อมูลต่างๆ บนเว็บไซต์ได้ดีขึ้น ขนาดของไฟล์รูปภาพไม่ควรให้เกิน 200 KB (Kilobyte) และควรบีบอัดไฟล์ตั้งแต่เริ่มต้นการออกแบบภาพ สำหรับหลักการบีบไฟล์ให้มีขนาดที่เหมาะสมนั้น หากใช้โปรมแกรม Photoshop ออกแบบภาพ ควรตั้งค่า Resolution 72 Pixels/Inch และควรใช้ไฟล์ภาพเป็น .jpg หากรูปไหนต้องการพื้นหลังโปร่งใสสามารถใช้เป็นไฟล์ .png และการเซฟภาพเพื่อให้มีขนาดไฟล์ที่เหมาะสม ตรง Quality ควรเลือกเป็น Low หรือ Medium นอกจากนี้ ก่อนที่จะอัพโหลดภาพขึ้นเว็บ ควรบีบอัดไฟล์ให้เล็กลงด้วยโปรแกรมหรือเว็บไซต์บีบอัดภาพ รูป เช่น tinypng, JPEGMini, Kraken.io, ImageOptim
3. ใส่รูปภาพให้เข้ากับบริบท
ไม่ควรมองข้ามเรื่องตำแหน่งของการวางภาพ เพราะในการใส่รูปภาพเรื่องบริบทก็มีความสำคัญ โดยรูปที่ใช้ควรสัมพันธ์กับบริบทในเนื้อหานั้น และหากรูปใดที่มีความสำคัญหรือเป็นรูปหลักในหน้าเว็บไซต์นั้นๆ ควรใส่เป็นรูปแรก หรือใส่ไว้ด้านบนของเนื้อหา
4. ภาพที่ถูกถ่ายใหม่ สร้างโอกาสมากกว่าที่ซื้อจาก Stock Image
หากต้องการเพิ่มความน่าเชื่อถือจากผู้ที่เข้ามาเยี่ยมชมเว็บไซต์ ภาพที่ถูกถ่ายจริงๆ ของบริษัทน่าจะส่งผลต่อความน่าเชื่อถือมากกว่าภาพที่ซื้อมาอย่างแน่นอน เพราะภาพที่ไม่เหมือนใคร ย่อมมีโอกาสถูกคลิกต่อมากกว่าภาพที่เห็นจนคุ้นตา
5. สร้าง URL ให้สื่อความหมาย
อย่ามองข้ามการสร้าง URL ของรูปภาพให้สื่อความหมายพร้อมคำอธิบายที่ชัดเจน นอกจากจะช่วยประสิทธิภาพในการค้นหา ยังเพิ่มโอกาสให้บุคคลอื่นสามารถแชร์รูปภาพไปยังเว็บไซต์ได้ง่ายขึ้น จนเกิดเป็น Backlink ซึ่งคือลิงก์ที่จะเชื่อมโยงจากเว็บไซต์อื่นมายังเว็บไซต์ของคุณได้ โดย Backlink ถือเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญอันดับต้นๆ ในการจัดอันดับของ Google เพื่อใช้เป็นตัวชี้วัดว่าเว็บไซต์มีคนพูดถึง หรือน่าเชื่อถือมากแค่ไหน หากเว็บไซต์มีคุณภาพมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งมีโอกาสที่จะทำ SEO แล้วติดอันดับได้ง่ายขึ้น
6. ตั้งภาพเพื่อการแชร์ไปยังโซเชียลมีเดียให้ถูกต้อง
เนื่องจากทุกๆ แพลตฟอร์มบนโซเชียลมีเดีย มีหลักการใช้งานที่ไม่เหมือนกัน หากจะโพสต์หรือแชร์สิ่งต่างๆ ควรใช้รูปภาพในขนาดที่เหมาะสม โดยเฉพาะรูปภาพจากบทความบนเว็บไซต์ที่ต้องการแชร์ไปยังเฟซบุ๊ก ควรเลือกรูปภาพหน้าปกด้วยขนาด 1200X630 Pixel
7. อย่าลืมทดสอบบนสมาร์ทโฟน
เมื่อใส่รูปภาพบนเว็บไซต์เสร็จเรียบร้อย ควรมีการทดสอบหน้าเว็บไซต์ผ่านสมาร์ทโฟน เพราะผู้ใช้งานส่วนใหญ่มักจะค้นหาใน Google จากสมาร์ทโฟนบ่อยกว่าอุปกรณ์การใช้งานอื่นๆ อีกทั้ง Google ยังให้ความสำคัญกับเว็บไซต์ที่เป็น Mobile Friendly เป็นอย่างมาก โดยต้องออกแบบเว็บไซต์ให้สามารถแสดงผลในอุปกรณ์ที่แตกต่างกันได้อย่างเหมาะสมกับทุกอุปกรณ์ ต้องโหลดเร็ว และแสดงผลได้อย่างชัดเจน โดยเฉพาะบนสมาร์ทโฟน ดังนั้นหากเว็บไซต์ของคุณสร้างความสะดวกสบายให้กับคนที่เข้ามาเปิดอ่าน ซึ่งถือเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพของรูปภาพให้เหมาะสมสำหรับอุปกรณ์เคลื่อนที่อาจจะมีประโยชน์มากขึ้น