5 เงื่อนไขสำคัญหลังไทยขอกู้เงินญี่ปุ่น 1.3 หมื่นล้านบาท แก้ปัญหาเศรษฐกิจ-สังคมจากโควิด-19


เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่องการกู้เงินจากรัฐบาลญี่ปุ่นสำหรับ COVID-19 Crisis Response Emergency Support Loan

พื่ออนุวัติตามนัยมาตรา 8 แห่งพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคม จากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 ประกอบมาตรา 16 แห่งพระราชบัญญัติการบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548 และที่แก้ไขเพิ่มเติม กระทรวงการคลังขอประกาศให้ทราบโดยทั่วกันว่า

กระทรวงการคลัง โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี ตามมติเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2565 และอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 3 แห่งพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคม จากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 กระทรวงการคลังได้ลงนามในสัญญาเงินกู้กับองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (Japan International Cooperation Agency: JICA) เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2565 โดยมีสาระสำคัญและเงื่อนไขของการกู้เงิน ดังต่อไปนี้

1.เป็นเงินกู้สกุลเงินเยน จำนวน 50,000 ล้านเยน หรือเทียบเท่า 13,432.35 ล้านบาท (คำนวณตามอัตราแลกเปลี่ยนขายถัวเฉลี่ยของเงินบาทกับเงินเยน ณ วันลงนามในสัญญา คือ 26.8647 บาท ต่อ 100 เยน) อายุเงินกู้ 15 ปี ระยะปลอดการชำระคืนเงินต้น 4 ปี

2.อัตราดอกเบี้ยคงที่ ร้อยละ 0.01 ต่อปี กำหนดชำระปีละ 2 งวด โดยชำระในวันที่ 20 พฤษภาคม และวันที่ 20 พฤศจิกายน ของแต่ละปี

3.อัตราค่าธรรมเนียมการกู้เงิน (Front-End Fee) ร้อยละ 0.20 ของวงเงินกู้โดยต้องชำระภายใน 60 วัน หลังจากสัญญาเงินกู้มีผลบังคับใช้

4.กำหนดชำระคืนต้นเงินกู้ทุกวันที่ 20 พฤษภาคม และวันที่ 20 พฤศจิกายนโดยชำระต้นเงินกู้งวดแรกในวันที่ 20 พฤษภาคม 2569 และชำระคืนต้นเงินกู้งวดสุดท้ายในวันที่ 20 พฤษภาคม 2580

5.เพื่อนำไปใช้จ่ายสำหรับแผนงาน/โครงการภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคม จากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564