จาก “แหลมเกต”สู่ “ดารุมะ ซูชิ” บทเรียนการซื้อ Voucher ของผู้บริโภคที่เจ็บแล้วต้องจำ


กลายเป็นประเด็นร้อนแรงในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา สำหรับผู้บริโภคที่ชื่นชอบการรับประทานบุฟเฟต์กับการถูกเทก็ว่าได้ เมื่อร้าน “ดารุมะ ซูชิ” ได้เปิดขาย Voucher เป็นบุฟเฟต์แซลมอนให้กับลูกค้าในราคา 199 บาท (จองล่วงหน้า) ซึ่งลดจากราคาขายจริง คือ 499 บาท

แน่นอนว่าการทำการตลาดแบบนี้ย่อมสร้างความสนใจให้กับผู้บริโภคที่ไม่รีรอควักเงินซื้อ Voucher เพราะมองมุมไหนมีแต่คุ้มกับคุ้ม แต่สุดท้ายความจริงที่ปรากฏบ่งชี้ให้เห็นชัดเจนว่า “ดารุมะ ซูชิ” ไม่ต่างอะไรจาก “แหลมเกต” ที่ถูกฟ้องร้องไปก่อนหน้านี้

ย้อนกลับไปถึงกรณี “แหลมเกต” ซึ่งเป็นร้านอาหารซีฟู้ดชื่อดังที่เปิดบริการมามากกว่า 30 ปี เปิดขาย Voucher ให้ลูกค้าจองล่วงหน้า ในราคาที่ถูกกว่าปกติ หรือจัดโปรโมชันที่โดนใจ เหล่านี้เป็นการดึงดูดใจให้กับผู้บริโภคที่จะได้รับประทานอาหารทะเลคุณภาพเยี่ยมจากร้านอาหารที่มีชื่อเสียง

หลังจากโปรโมชันนี่ถูกประกาศออกไป เรียกได้ว่าได้รับความนิยมจากผู้บริโภคอย่างล้นหลาม แต่ปัญหาก็เกิดขึ้นจนได้ เมื่อลูกค้านำ Voucher ไปใช้กับทางร้าน ปรากฏว่าไม่เป็นไปตามเงื่อนไขที่เข้าใจ ไม่ว่าจะเป็น การรอคิวที่ใช้ระยะเวลานาน หรือเมื่อไปรับประทานแล้วต้องจ่ายเงินเพิ่ม

จุดจบของปัญหานี้ทางร้านต้องตัดสินใจยกเลิกทุกโปรโมชันที่เคยออกไป และให้ลูกค้านำ Voucher มาขอคืนเงิน ต่อมาร้านปิดกิจการชั่วคราวด้วยเหตุผลว่าลูกค้าเข้าร้านน้อยลง และปิดถาวรทุกสาขา นำมาสู่การฟ้องร้องของผู้บริโภค และ ศาลอาญาพิพากษาจำคุก 2 ผู้บริหารแหลมเกตซีฟู้ด 1,446 ปี ข้อหาหลอกลวงประชาชน โฆษณาเกินความเป็นจริง หลังหลอกขายโปรโมชันสุดถูกเพื่อดึงดูดลูกค้า

มากันที่ “ดารุมะ ซูชิ” จะเห็นได้ว่ามีลักษณะคล้ายๆ กัน คือการเปิดขาย Voucher โดยตอนนี้พบว่าสาขาของร้านได้ปิดชั่วคราวเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ไม่เพียงแต่ลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากการซื้อ Voucher ที่จะมีผู้ได้รับความเสียหายประมาณ 6,000 คน คิดเป็นมูลค่ารวมกันกว่า 100 ล้านบ้าน แต่ยังรวมถึงผู้ที่ร่วมลงทุนเปิดแฟรนไชส์ซีอีกด้วย ที่มารู้ข้อเท็จจริงถึงต้องประหลาดใจ เพราะธุรกิจมีเจ้าของดำเนินงานเพียงคนเดียว ไม่มีแผนกบัญชีดูเรื่องรายรับ-รายจ่าย โดยผู้ลงทุนจะไม่ได้เข้ามาบริหาร แต่จะได้รับปันผลในแต่ละเดือน

ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ระบุว่า “ดารุมะ ซูชิ” จดทะเบียนใช้ชื่อว่า บริษัท ดารุมะ ซูชิ จำกัด ดำเนินธุรกิจร้านอาหาร โดยมีทุนจดทะเบียน 5,000,000 บาท ซึ่งผลประกอบการปี 2564 พบว่าบริษัทมีรายได้ 45,621,832.60 บาท กำไร 1,256,609.03 บาท ปัจจุบันมี 27 สาขา

เรื่องนี้ถือว่าเป็นบทเรียนให้กับผู้บริโภคเป็นอย่างดีเกี่ยวกับซื้อ Voucher ของร้านอาหาร ว่าคราวต่อไปควรพิจารณาให้ดีเสียก่อน โดย สคบ. แนะนำให้ลูกค้าที่ซื้อคูปองบุฟเฟต์แซลมอน 199 บาท ให้เก็บหลักฐานการซื้อคูปอง แล้วร้องเรียนออนไลน์ที่ https://complaint.ocpb.go.th หรือแอป OCPB Connect ตลอด 24 ชม. ส่วนกรณีจ่ายเงินด้วยบัตรเครดิต ขอให้ติดธนาคารขอเงินคืน สอบถามโทร.1166

เรื่องที่เกี่ยวข้อง