ผลสำรวจชี้บริษัทญี่ปุ่นมีคนเก่าแก่ครึ่งหนึ่งหมดไฟทำงาน อยู่ไปวันๆ ไม่ทำอะไรเลย


ภาพจำในเรื่องการทำงานที่มีต่อคนญี่ปุ่นคงหนีไม่พ้นเรื่องของความขยัน สู้งาน และทำงานอย่างหนักหน่วง เพื่อเป้าหมายขององค์กร และชีวิตที่ตั้งไว้

แต่ความคิดนี้อาจเปลี่ยนแปลงไป เมื่อมีงานวิจัยชี้ให้เห็นว่าคนเก่าแก่ในบริษัทญี่ปุ่นเกินครึ่งที่อยู่มานานอยู่ในสภาวะหมดไฟ ไม่มีแรงกระตือรือร้นที่จะทำงาน อยู่ไปวัน ๆ เพื่อรับเงินตอนสิ้นเดือนเท่านั้น แน่นอนว่าหากปล่อยไปเรื่อย ๆ ย่อมส่งผลกระทบต่อศักยภาพการทำงาน และผลลัพธ์ขององค์กร เพราะต้องไม่ลืมว่าญี่ปุ่นเดินเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ที่สัดส่วนแรงงานจะลดน้อยลง เมื่อเทียบกับผู้สูงอายุ

การวิจัยของ Shikigaku บริษัทที่ปรึกษา ทำการเก็บผลสำรวจกลุ่มตัวอย่างจำนวน 300 คน จากหลายบริษัท โดยตั้งประเด็นคำถามที่ว่า “บริษัทคนแก่ที่ไม่ทำงานหรือไม่” ซึ่งร้อยละ 49.2 ตอบว่า “มี” และมีการถามลงลึกไปอีกว่า หากไม่ทำงานพวกเขาเหล่านั้นจะทำอะไร

สี่คำตอบที่พบมากที่สุด คือหยุดพักสูบบุหรี่ และกินอาหารว่างหลาย ๆ ครั้ง คิดเป็นร้อยละ 49.7, เหม่อลอยไปในอากาศ คิดเป็นร้อยละ 47.7, จับกลุ่มสนทนาที่ไม่ใช่เรื่องงานกับเพื่อนที่ไม่ทำงาน คิดเป็นร้อยละ 47.3 และเล่นอินเทอร์เน็ต คิดเป็นร้อยละ 35.3

Shikigaku พยายามทำความเข้าใจว่าทำไมคนแก่เหล่านี้ถึงเลือกใช้ชีวิตที่เต็มไปด้วยความขี้เกียจ และถามผู้ตอบแบบสอบถามว่ามีความคิดเห็นอย่างไร พบว่าร้อยละ 45 บอกว่าพวกเขาไม่มีความปรารถนาที่จะทำงาน รองลงมา ร้อยละ 41 บอกว่าบริษัทขึ้นเงินเดือนตามความอาวุโสมากกว่าประสิทธิภาพงาน ตามมาด้วยร้อยละ 26.3 ไม่มีใครเชื่อมั่นว่าพวกเขาเหล่านี้พอที่จะทำงานได้

นอกจากนี้ยังมีเหตุผลอื่น ๆ โดยส่วนใหญ่มักจะบ่นว่าบริษัทไม่มีมาตรการมากพอที่จะกระตุ้นคนแก่เหล่านี้ให้พยายามทำงานมากขึ้น ซึ่งพวกเขาแนะนำให้พนักงานได้แสดงความคิดเห็นมากขึ้น และมีนโยบายชัดเจนเกี่ยวกับการเลิกจ้าง

ไม่เพียงเท่านั้น ผู้ตอบแบบสอบถามมีความต้องการเห็นบางสิ่งบางอย่างเกิดขึ้นกับสถานการณ์แบบนี้ โดนร้อยละ 90 ระบุว่าคนเก่าแก่ที่ไม่ทำงานส่งผลกระทบต่อบริษัท รองลงมาร้อยละ 59.7 ระบุว่าส่งผลกระทบต่อขวัญกำลังใจของคนที่ทำงาน ขณะที่ร้อยละ 49 ระบุว่าเป็นการเพิ่มงานให้คนอื่น และร้อยละ 35.3 ระบุว่าเป็นภาระของบริษัทในแง่ของค่าแรง

เรื่องนี้เป็นอีกมุมหนึ่งที่เราไม่เคยรู้มาก่อนเมื่อพูดถึงประเทศญี่ปุ่น ลบภาพจำการทำงานสไตล์ญี่ปุ่นแบบที่เคยมีมา ด้วยสถานการณ์ที่ญี่ปุ่นกำลังเผชิญทั้งในเรื่องเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อที่ส่งผลกระทบต่อค่าของชีพ จำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มมากขึ้น สุดท้ายต้องมาดูกันว่าญี่ปุ่นจะผ่านพ้นเรื่องนี้ไปได้อย่างไรแบบที่เจ็บตัวน้อยที่สุด

ที่มา: soranews24

#Smartsme #ญี่ปุ่น