เปิดฉากไปเป็นที่เรียบร้อยกับงาน FTI EXPO 2022 – Shaping the Future Industry เพื่อแสดงศักยภาพและยกระดับความก้าวหน้าของภาคอุตสาหกรรมเป้าหมายในระดับประเทศภายใต้แนวคิด BIO-CIRCULAR-GREEN ECONOMY (BCG Economy) เพื่อขานรับนโยบายของรัฐบาลในการเปิดประเทศ และจุดประกายการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของอุตสาหกรรมไทย
ภายในพิธีเปิด คุณเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่าตนรู้สึกเป็นเกียรติต้อนรับทุกท่านที่มาในงานนี้ โดยงาน FTI EXPO 2022 เกิดขึ้นจากความร่วมมือของภาคอุตสาหกรรมทั้งประเทศ กลุ่มอุตสาหกรรมทั้ง 45 กลุ่ม 11 คลัสเตอร์ 76 จังหวัด
คุณเกรียงไกร เริ่มต้นว่าเป็นที่ทราบกันดีว่าทั้งโลกเผชิญกับความท้าทายในทุกรูปแบบ คลื่นแต่ละคลื่นที่เข้ามากระทบต่อภาคเศรษฐกิจมีความรุนแรงสูงมาก และไม่เคยมีมาก่อน เราเผชิญกับ
คลื่นลูกที่ 1 Digital Transformation : การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีของโลก ซึ่งเป็นการเกิดขึ้นแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน อุตสาหกรรมไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีเก่าแก่แค่ไหน แข็งแรงแค่ไหน มีกำไรแค่ไหนก็ถูก disrupt สภาอุตสาหกรรม 45 กลุ่มของเราพยายามหนีกระแส disrupt นี้ โดยการ Transform ตัวเอง ที่เรียกว่า Industry Transformation
แต่เริ่มไม่ทันไรก็ต้องมาเจอสงครามการค้าระหว่างสองมหาอำนาจที่ใหญ่ที่สุดในโลกทางด้านเศรษฐกิจ คือจีน-สหรัฐฯ ทั้งสองประเทศเป็นคู่ค้าอันดับ 1 และอันดับ 2 ของประเทศไทย โดยหลายอุตสาหกรรมอยู่ในห่วงโซ่การผลิตของจีน นำมาสู่ปัญหาทั้งบวก และลบ
ในด้านบวกหากเป็นแบรนด์ของประเทศไทย เราส่งออกได้มากขึ้น ถ้าเป็นด้านลบ หากอยู่ในห่วงโซ่ที่ต้องส่งชิ้นส่วน ส่งอะไหล่ไปยังประเทศจีน และต้องส่งต่อไปยังสหรัฐฯ พบว่าลดหมด เวลานั้นเราได้ปรับตัวอย่างยิ่งในการที่จะทำอย่างไรให้มีแบรนด์ประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น จึงเป็นที่มาของนโยบาย Made in Thailand และดูนโยบายอื่น ๆ ที่สำคัญ เช่น ความมั่นคงทางพลังงาน ความมั่นคงทางอาหาร แต่เราต้องมีความมั่นคงทางอุตสาหกรรม นั่นคือ “ซัพพลายเชน”
“เราได้ตั้งหน่วยงานขึ้นมา ทำอย่างไรให้เรายืนอยู่ด้วยขาตัวเองให้ได้มากที่สุด สร้างแบรนด์ไทยให้แข็งแกร่งที่สุด” คุณเกรียงไกร กล่าว
หลังจากนั้นต้องมาเจอการแพร่ระบาดของโควิด-19 อยู่ 2 ปีกว่า ทุกอย่างนิ่งเงียบ ทั้งภาคการท่องเที่ยวเคยมีนักท่องเที่ยว 40 ล้านคน ในปี 2562 ได้หายไปกับตา GDP คิดเป็น 20% หายไป เหลือเพียงเครื่องยนต์ตัวเดียวในช่วงนั้น คือภาคการส่งออก และในภาคการส่งออกคืออุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก
เพราะฉะนั้น สภาอุตสาหกรรมมุ่งเน้นว่าทำอย่างไรไม่ให้ภาคการผลิตต้องหยุดในช่วงเวลานั้น ดังนั้น จะเห็นได้ว่าประเทศไทยไม่ขาดแคลนอะไรเลย และยังส่งออกได้ มาปี 2563 GDP ติดลบไปทั้งโลก รวมถึงไทยที่ติดลบ 6.1 แต่ในปี 2564 การส่งออกของเราเพิ่มขึ้นอีก 17% กว่า จนสามารถพลิกตัวเลขออกมาเป็น 1.6
ดังนั้น ภาคอุตสาหกรรมยังต้องเดินหน้าเร่งการส่งออก ขณะเดียวกันเราต้องหนีการถูก disrupt ตลอดเวลา
ต่อจากนั้นเป็นเรื่อง รัสเซีย-ยูเครน ซึ่งตรงนี้เป็นปัญหาทางด้านเงินเฟ้อทั่วโลก และเป็นปัญหาใหม่ เป็นปัญหาใหญ่ของโลก ตนคิดว่าประเทศไทยได้รับผลกระทบ เพราะว่าเป็นประเทศต้นทุนในเรื่องพลังงานที่ต้องนำเข้า ซึ่งเรื่องนี้เป็นปัญหาจนทำให้สินค้าต่าง ๆ ที่ต้องนำเข้าในส่วนวัตถุดิบต้องเพิ่มขึ้น
“ในไตรมาสที่ 1/2565 การส่งออกยังทำงานได้ดีอยู่มาก แต่ในไตรมาสที่ 2 และ 3 เนื่องด้วยภาวะเงินเฟ้ออาจส่งผลกระทบ ซึ่งตรงนี้เราต้องกดให้อยู่ให้ได้” คุณเกรียงไกร กล่าว
คลื่นต่อมา เมื่อมีการขึ้นดอกเบี้ยกันทั่วโลก รวมถึงการดูดเงิน โดยสหรัฐฯ ได้มีการใช้นโยบายที่เรียกว่า QT ในการดูดเงินออกจากระบบอาจทำให้เกิดการถดถอยทางเศรษฐกิจตามมา เรื่องนี้เป็นสิ่งที่ภาคอุตสาหกรรมต้องระมัดระวัง และคอยจับตาดูอย่างใกล้ชิด
สิ่งที่น่าห่วงมากกว่านั้น โดยเป็นคลื่นลูกใหญ่ที่เรียกว่า “Climate Change” หรือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตรงนี้เป็นโจทย์ใหญ่ที่ทั่วโลกให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะหากปล่อยไปแบบนี้ต่างคน ต่างทำ อุณหภูมิของโลกคงเปลี่ยนแปลงไปมาก นำมาสู่การละลายของน้ำแข็งในขั้วโลก เกิดภัยพิบัติต่อมวลมนุษยชาติ เพราะฉะนั้นเมื่อปลายปีที่แล้วก็มีการประชุม COP26 ที่สกอตแลนด์ ซึ่งท่านนายกของประเทศไทยได้เดินทางไปร่วมด้วย และทุกชาติก็แสดงเจตจำนง รวมทั้งประเทศไทยว่าในปี 2030 เราจะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลง 40% ส่วนปี 2050 เราจะเป็นกลางทางคาร์บอน หรือ Carbon neutrality และในปี 2065 เราจะเป็น Net zero
“เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมภาคการส่งออก และเป็น GDP เกือบ 60% ของประเทศไทย เราต้องติดตามอย่างใกล้ชิด รีบเร่งในการปรับตัว เพราะขณะนี้ทาง EU มีการตั้งคณะกรรมการตั้งมาตรฐานที่จะเรียกเก็บภาษีเหล่านี้ เพราะฉะนั้น เราต้องปรับตัว นี่เป็นความท้าทายที่กำลังเกิดขึ้น และกำลังเผชิญอยู่”
ทำความรู้จักนโยบาย ONE FTI คืออะไร
คุณเกรียงไกร กล่าวต่อว่าหลังจากเข้ามารับตำแหน่ง นโยบายสำคัญของตน คือ ONE FTI ที่เป็นหนึ่ง ประกอบด้วย ONE VISSION : “Strengthen Thai Industries for Stronger Thailand” เสริมสร้างความแข็งแกร่งให้อุตสาหกรรมไทยเพื่อประเทศไทยที่เข้มแข็งกว่าเดิม ตนมองว่าในภาคอุตสาหกรรม เราทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด ทำเครื่องยนต์ของเราให้เป็นที่ยอมรับ ให้เป็นที่น่าเชื่อถือ เพราะฉะนั้น GDP ที่เกี่ยวข้อง เราจะรับหน้าที่นั้น
ONE TEAM : คือการทำงานเป็นทีมเดียวกันทั้งภายใน ได้แก่ สมาชิก, กลุ่มอุตสาหกรรม, สภาอุตสาหกรรมจังหวัด และเจ้าหน้าที่ เหล่านี้จะหลอมรวมเป็นทีมเดียวกันเป็นความแข็งแรง จนเกิดการเชื่อมต่อกับหน่วยงานภายนอก คือภาครัฐ, สถาบันการศึกษา, องค์กรภาคมหาชน, องค์กรระหว่างประเทศ
ONE GOAL : เป้าหมายเดียวกันสู่ความสำเร็จร่วมกัน มีเป้าหมายขับเคลื่อนเพื่อให้ประเทศไทยเข้มแข็งขึ้น
ภาพรวมอุตสาหกรรมในปัจจุบัน และอนาคต
คุณเกรียงไกร พูดถึงเรื่องนี้ว่าภาพรวมอุตสาหกรรมในปัจจุบัน และอนาคตแบ่งเป็น 2 ส่วนด้วยกัน คือ 1.FIRST INDUSTRIES ประกอบด้วย 45 กลุ่มอุตสาหกรรม 11 คลัสเตอร์, 76 สภาอุตสาหกรรมจังหวัด (5 ภาค/คลัสเตอร์จังหวัด) 2.NEXT-GEN INDUSTRIES ประกอบด้วย S-Curves Industries, BCG (Bio-Circular-Green Economy) และ Climate Change
สำหรับอุตสาหกรรม S-Curves Industries ประกอบด้วย 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย มีดังต่อไปนี้
First-s-CURVE
1.อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ โดยขณะนี้เรากำลังพูดคุยกันเรื่อง EV ประเทศไทยเป็นผู้ผลิตยานยนต์ส่งออกเป็นอันดับ 11 ของโลก แต่สิ่งที่เรากำลังหนี คือกระแสการถูก disrupt เพราะโลกกำลังเปลี่ยนไปใช้ EV ทั่วทั้งโลก ดังนั้น นี่จึงเป็นภารกิจทำอย่างไรให้ประเทศ Transform จากผู้ผลิตรถยนต์สันดาปมาสู่รถยนต์ EV
2.อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ : ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตฮาร์ดดิกส์ไดร์ฟที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาค เกิดการจ้างงานจำนวนมาก แต่สิ่งที่เราผลิตอยู่เป็นฮาร์ดดิกส์ไดร์ฟแบบโบราณซึ่งกำลังจะถูก disrupt สิ่งเหล่านี้เป็นการรีบเร่งให้ผ่านไปให้ได้
3.อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว กลุ่มรายได้ดี และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ : ทำอย่างไรให้ท่องเที่ยวของเราเป็นท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ
4.อุตสาหกรรมการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ :
5.อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร: ทุกวันนี้คนไม่ได้รับประทานอาหารเพื่ออิ่มอย่างเดียว แต่กินเพื่อสุขภาพ คนรุ่นใหม่มองกันแบบนี้
New S-curve ยกระดับมูลค่า (Value Shifted) ซึ่งกำลังเดินหน้าทำ ประกอบด้วย
6.อุตสาหกรรมหุ่นยนต์
7.อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์
8.อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ
9.อุตสาหกรรมดิจิทัล
10.อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร
11.อุตสาหกรรมการป้องกันประเทศ
12.อุตสาหกรรมการพัฒนาคนและการศึกษา
สำหรับงาน FTI EXPO 2022 จัดขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เริ่มตั้งแต่วันที่ 29 มิถุนายน – 3 กรกฎาคม 2565 ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติฯ ภายใต้โมเดลเศรษฐกิจ BCG 4 สาขา คือ สาขาเกษตรและอาหาร สาขาสุขภาพและการแพทย์ สาขาพลังงาน วัสดุและเคมีชีวภาพ และสาขาการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ พร้อมส่งเสริม Soft Power เพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจสร้างสรรค์ โดยคาดว่าตลอดการจัดงานจะมีเงินทุนหมุนเวียน 1,000 ล้านบาท