ทำความรู้จักร้านอาหาร 8 ประเภท พร้อม How to เลือกยังไง? ให้ร้านคุณได้ไปต่อ


ในการทำธุรกิจร้านอาหาร สิ่งแรกที่เจ้าของร้าน (ในอนาคต) ควรรู้ คือ เราจะเปิดร้านอาหารแบบไหนดีให้เหมาะสมกับเรามากที่สุด เพื่อให้ได้กำไรมากที่สุดเช่นกัน นั่นก็คือการเลือก “คอนเซ็ปต์ร้านอาหาร” นั่นเอง

Smartsme มีคำแนะนำเพื่อให้ผู้ที่สนใจจะทำธุรกิจร้านอาหารได้ทำความรู้จักกับ ประเภทของร้านอาหารในรูปแบบต่าง ๆ มาให้เจ้าของร้านลองเลือกดู ว่าแบบไหนจะเหมาะสมกับธุรกิจที่เราต้องการจะทำในเบื้องต้น

ก่อนจะไปดูประเภทต่าง ๆ ของร้านอาหาร เจ้าของร้านควรต้องรู้จักตัวเองก่อนว่า ร้านที่เราต้องการนั้น จะสร้างมาเพื่อตอบโจทย์อะไร ถ้าต้องการตอบโจทย์เรื่องการสร้างรายได้ ก็อย่าทิ้งเรื่องความชอบ หรือหากจะเน้นตอบโจทย์เรื่องความชอบ ก็ต้องให้ความใส่ใจเรื่องรายได้เข้ามาด้วย เพราะสุดท้ายทั้งเรื่องความชอบและรายได้ ถ้าเราสร้างสองสิ่งนี้ไปด้วยกันได้ ร้านอาหารของเราจะเติบโตได้ในระยะยาวอย่างแน่นอน โดย 8 ประเภทของร้านอาหารแบ่งได้ดังนี้

1. ร้านอาหารประเภท Fast food

ยกตัวอย่างง่ายๆก็คือ ร้านแมคโดนัลด์ นั่นเอง ร้านอาหารประเภทนี้จะเน้นความสะดวกรวดเร็ว ไม่เน้นการบริการ หากเจ้าของร้านไม่เก่งเรื่องการบริการสักเท่าไร เพราะว่าต้องใช้ความรู้และพนักงานที่รักการบริการมาก ๆ ร้านอาหารประเภทนี้จึงเหมาะกับคนที่คิดว่ามีระบบที่เสิร์ฟอาหารได้ออกมาเร็ว และน่ากิน ส่วนรสชาติคงไม่ต้องอร่อยมากแค่กินได้ เน้นการเสิร์ฟด่วน เช่นการเปิดร้านข้าวแกง ก็เป็นร้านอาหารประเภท Fast food ในแบบไทยนั่นเอง

2. ร้านอาหารประเภท Fast casual

จะเป็นร้านอาหารที่มีมากในปัจจุบัน โดยเป็นส่วนผสมระหว่าง Fast food กับร้านประเภท casual จะเน้นไปที่อาหารที่มีคุณภาพ และการบริการที่ดีในระดับกลางๆ เพิ่มเติมความสะดวกรวดเร็วให้มากขึ้น เช่นร้านอาหารที่อยู่ตามห้างสรรพสินค้าต่าง ๆ ที่ต้องการขายทั้งรสชาติอาหารและความรวดเร็ว ยกตัวอย่างเช่นร้าน ฮะจิบังราเมน เป็นต้น

3. ร้านอาหารประเภท Casual

คือร้านอาหารนั่งสบายๆ มีอาหารให้เลือกมากมาย มีบริการและบรรยากาศที่ดี มีเอกลักษณ์เฉพาะเหมาะแก่การพักผ่อนหย่อนใจ ร้านแนวนี้ส่วนใหญ่จะเป็นร้านขนาดกลาง เพราะไม่ต้องห่วงเรื่องความรวดเร็ว ลูกค้าสามารถรอได้ในเวลาที่ไม่นานนัก เจ้าของร้านที่มีความชอบของบางส่วนตัว มักจะนิยมเปิดร้านประเภทนี้ เช่น เจ้าของร้านที่ชอบเก็บของเก่า ก็จะนำของเก่ามาตกแต่งร้าน สร้างบรรยากาศด้วยการเปิดเพลงเก่า เพื่อดึงลูกค้าที่มีความชอบเหมือนๆ กันมาใช้บริการ

4. ร้านอาหารประเภท Fine Dining

Fine Dining เป็นประเภทของร้านอาหารระดับหรู เหมาะสำหรับการเลี้ยงรับรองแขก และกลุ่มลูกค้าที่มีความสามารถในการซื้อสูง การเลือกร้านอาหารประเภทนี้ เจ้าของร้านอาจอยู่ในสังคมที่มีกำลังซื้ออยู่แล้ว หรือเป็นที่รู้จัก เป็นเชฟชื่อดังมาก่อน จะยิ่งสร้างฐานลูกค้าได้ไม่ยากนัก

5. ร้านอาหารประเภท Catering

เป็นประเภทที่เน้นการจัดเลี้ยงนอกสถานที่แบบไม่ต้องมีหน้าร้าน แต่ต้องมีครัวกลางเอาไว้เก็บอุปกรณ์ เน้นอาหาร การจัดเลี้ยง และการบริการแบบเข้าถึง ส่งถึงที่ เจ้าของร้านจะต้องมีความแอคทีฟอย่างหนัก แก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้เก่ง และบริหารคนให้เป็น ถึงจะเอาอยู่ ส่วนใหญ่การลงทุนของธุรกิจประเภทนี้จะหมดไปกับอุปกรณ์การตกแต่งเป็นส่วนใหญ่

6. ร้านอาหารประเภท Delivery

เป็นการส่งอาหารตามออเดอร์โดยเฉพาะ อาจไม่มีหน้าร้าน เน้นรสชาติอาหาร และเป็นอาหารที่หากินที่ไหนไม่ได้ หรือเป็นอาหารที่เฉพาะกลุ่ม เช่นอาหารทะเลราคาสูง อาหารคลีน อาหารมังสวิรัติ เป็นต้น เจ้าของร้านที่เก่งในการทำการตลาดจะได้เปรียบ เพราะยุคนี้ผู้บริโภคส่วนใหญ่ชอบซื้อของออนไลน์ จนเกิดค่านิยมชอบสั่งอาหารแบบ Delivery ตามไปด้วย การสร้างคอนเทนต์ดี ๆ จะสามารถเรียกลูกค้าทางออนไลน์ได้เยอะเลยทีเดียว

7. ร้านอาหารประเภท Food Truck

เป็นประเภทที่ไม่ต้องใส่ใจเรื่องทำเล เพราะอยู่ไม่เป็นที่ ที่ไหนคนเยอะค่อยไปที่นั่น และก็ไม่เน้นการบริการเท่าไร ใส่ใจในความแปลกใหม่ของอาหารและรสชาติมากกว่า เจ้าของร้านที่มีงบไม่สูงและเป็นขาลุย ตัวเลือกนี้ก็น่าสนใจอยู่เหมือนกัน

8. ร้านอาหารประเภท Buffet

ร้านอาหารที่เน้นการขายอาหารให้กับผู้ที่ต้องการความคุ้มค่า มีการกำหนดราคาเป็นรายบุคคล เช่นร้านชาบู ร้านหมูกระทะ จะไม่เน้นที่บริการเท่าไร แต่เจ้าของร้านจำเป็น ที่จะต้องเก่งในเรื่องการตลาดและการคิดคำนวณต้นทุนให้แม่นยำเพื่อที่จะเรียกคนมากินร้านอาหารเราเยอะๆ และต้นทุนไม่สูงมาก

เหล่านี้ คือคอนเซปต์ของการเปิดร้านอาหาร หากใครอยากต้องการทำธุรกิจแนวจริง ๆ ก็ลองมาสำรวจ หาข้อมูลในทุก ๆ ด้าน ให้ดีก่อนว่ามีความถนัด เหมาะสมกับร้านอาหารแนวแบบไหน เพื่อเมื่อถึงเวลาทำจริงจะได้เกิดอุปสรรคน้อยที่สุด