ธุรกิจรถเช่าฟื้นตัวจากวิกฤติโควิด-19 พบยอดจัดตั้งนิติบุคคลเพิ่มขึ้น 41%


พาณิชย์เผยธุรกิจให้เช่ายานยนต์ รถยนต์ รถจักรยานยนต์ ฟื้นตัวจากวิกฤติโควิด-19 โดย 6 เดือนแรกปี 65 จดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคลเพิ่มขึ้นกว่า 41% ธุรกิจเร่งปรับตัวเพิ่มทางเลือกให้ผู้บริโภค รองรับวิกฤติพลังงาน เปลี่ยนรถให้เช่าเป็นรถยนต์ไฟฟ้า รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า พร้อมขยายไลน์ธุรกิจเปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปร่วมเป็นหุ้นส่วนนำรถยนต์ส่วนตัวมาให้เช่ารายวัน หารายได้พิเศษ ใช้ประโยชน์จากรถยนต์อย่างคุ้มค่า

นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เผยว่า ในช่วงของการแพร่ระบาดโควิด-19 ระหว่างปี 2563 – 2564 ที่ผ่านมา ธุรกิจต่าง ๆ ทั้งประเทศไทยและต่างประเทศล้วนแล้วแต่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก ที่เห็นชัดเจนเลยคือธุรกิจภาคการท่องเที่ยวและที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากนักท่องเที่ยวไม่สามารถเดินทางระหว่างประเทศได้ ขณะที่การเดินทางภายในประเทศก็ได้ถูกจำกัดด้วยมาตรการทางสาธารณสุข ซึ่งได้ทำให้การดำเนินธุรกิจเกิดภาวะหยุดชะงัก ปี 2565 โควิด-19 กำลังจะกลายเป็นโรคประจำถิ่น รัฐบาลได้มีการผ่อนคลายมาตรการเข้มงวดต่าง ๆ ลง ซึ่งส่งผลให้การดำเนินธุรกิจของทุกภาคส่วนฟื้นตัวและกลับมาคึกคัก

หนึ่งในธุรกิจที่ได้ฟื้นตัวจากโควิด-19 ที่เห็นได้ชัดเจน คือ ธุรกิจรถเช่า โดย 6 เดือนแรกในปี 2565 มีจำนวนนิติบุคคลจัดตั้งใหม่ ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2564 ถึงร้อยละ 40.74 ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นของเหล่านักลงทุนไม่ว่าจะเป็นชาวไทยหรือชาวต่างชาติที่มีต่อธุรกิจและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล

ปัจจุบัน มีธุรกิจรถเช่า ดำเนินกิจการอยู่จำนวน 2,045 ราย คิดเป็นร้อยละ 0.24 ของธุรกิจทั้งหมดที่ดำเนินการอยู่ มูลค่าทุน 23,239.85 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 0.11 ของธุรกิจทั้งหมดที่ดำเนินการอยู่ในประเทศไทย ซึ่งส่วนใหญ่จะตั้งอยู่ในจังหวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของประเทศ อย่างไรก็ตาม ธุรกิจรถเช่า มีรูปแบบการให้เช่าเพื่อดำเนินงาน (Operating Lease) แบ่งเป็นการเช่าระยะยาวรายปี และการเช่าระยะสั้นชั่วคราว โดยปัจจัยหลักที่ทำให้ธุรกิจรถเช่ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นช่วง 6 เดือนแรกของปี 2565 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมีปัจจัยมาจากบริษัทเอกชน หน่วยงานราชการ และรัฐวิสาหกิจ ปรับเปลี่ยนรูปแบบการครอบครองรถยนต์ จากการซื้อเป็นการเช่ารถยนต์เพื่อใช้ในสำนักงาน เป็นการลดภาระทางการเงินในการซื้อรถยนต์ รวมถึงได้มีบริการซ่อมบำรุงและมีการตรวจสภาพรถ ถึงแม้ว่าสถานการณ์ราคาน้ำมันและค่านิยมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมส่งผลต่อพฤติกรรมของผู้ใช้งานรถยนต์ที่มีการหันมาใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้า ส่งผลให้ธุรกิจรถเช่า ปรับเปลี่ยนรถที่ให้เช่าเป็นรถที่ใช้พลังงานไฟฟ้าแทน ซึ่งสอดรับกับจำนวนสถานีชาร์จยานยนต์ไฟฟ้าที่ระยะเวลา 6 เดือน เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 14 ส่งผลให้เดือนมีนาคม 2565 มีจำนวนกว่า 944 สถานี กระจายอยู่เมืองใหญ่ทั่วประเทศ รองรับรถพลังงานไฟฟ้า เป็นการชี้ให้เห็นถึงการขยายตัวและปรับเปลี่ยนมาใช้ยานยนต์พลังงานไฟฟ้าเพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ จะมีการเปลี่ยนประเภทรถเช่าเป็นรถยนต์ไฟฟ้าหรือรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับผู้บริโภค ธุรกิจก็ยังมีการปรับรูปแบบการดำเนินงาน โดยมีการเพิ่มจุดรับรถเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ที่ต้องการเช่ารถมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม

ดังนั้น ธุรกิจรถเช่า จึงได้มีการปรับตัวด้านการจัดการต้นทุน ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของการลงทุนซื้อรถยนต์ การที่ให้ประชาชนทั่วไปเป็นหุ้นส่วนในการนำรถยนต์ส่วนตัวมาให้เช่าเป็นรายวัน ซึ่งทางบริษัทจะเก็บค่าคอมมิชชั่นจำนวนหนึ่ง และอำนวยความสะดวกให้กับเจ้าของรถยนต์ สามารถเลือกวันที่เจ้าของรถยนต์ต้องการจะให้เช่า และเจ้าของสามารถติดตามรถยนต์ของตนเองบนแอปพลิเคชันที่จัดทำขึ้น รวมไปถึง มีประกันภัยรถยนต์ เพื่อสร้างความสบายใจให้กับเจ้าของรถยนต์ที่ได้เข้ามาร่วมเป็นหุ้นส่วนกับบริษัท ถือเป็นรูปแบบใหม่ของการประกอบธุรกิจ เป็นการหารายได้เสริม และเป็นการใช้ประโยชน์จากรถยนต์อย่างคุ้มค่า