เอลซัลวาดอร์ เผชิญหนี้สินมหาศาล เพราะทุ่มซื้อบิตคอยน์มากจนเกินไป


หากยังจำกันได้เอลซัลวาดอร์เป็นประเทศแรก ๆ ของโลกที่ให้ความสนใจเกี่ยวกับสกุลเงินดิจิทัลเป็นอย่างมากภายใต้การนำของ Nayib Bukele ประธานาธิบดีเอลซัลวาดอร์ ที่ถึงขนาดมีการแก้กฎหมายเพื่อสามารถนำบิตคอยน์มาใช้เป็นเงินในการใช้จ่ายอย่างถูกต้องตามกฎหมาย
.
หรือแม้แต่ช่วงเวลาที่เหรียญบิตคอนย์อยู่ในช่วงของความผันผวนอย่างหนัก ตลาดอยู่ในช่วงขาลงช่วงต้นปี 2022 Nayib Bukele ก็โพสต์ผ่านทวิตเตอร์ว่า รัฐบาลเอลซัลวาดอร์ได้เข้าซื้อบิตคอยน์จำนวน 410 BTC คิดเป็นมูลค่า 15 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ พร้อมทั้งโพสต์ข้อความเพิ่มเติมว่า “บางคนขายถูกจริง”
.
นอกจากนี้ ยังมีนโยบายดึงดูดคนต่างชาติให้เข้ามาในประเทศ โดยข้อเสนอเด่น ๆ ที่สำคัญ คือการเสนอให้สัญชาตินักลงทุนคริปโตฯ ด้วยเหตุผลว่าจะเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ
.
อย่างไรก็ตาม นโยบายนี้ของเจ้าตัวดูเหมือนว่าจะไม่ได้รับกระแสตอบรับที่ดีจากประชาชนเท่าที่ควร เพราะผู้คนที่คุ้นชินกับการทำธุรกรรมแบบเดิม เช่น ธนบัตร, การโอนผ่านทางสมาร์ทโฟน สอดคล้องกับการสำรวจเมื่อเดือนสิงหาคม 2564 ที่ชี้ให้เห็นว่าประชาชนเอลซัลวาดอร์ส่วนใหญ่ไม่มั่นใจ และปฏิเสธแนวคิดนี้ บางคนยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่า 1 BTC มีค่าประมาณเท่าไหร่
.
อีกทั้ง ผลสำรวจดังกล่าวระบุอีกว่า มีเพียง 15% ของผู้ทำแบบสำรวจที่มีความมั่นใจในสกุลเงินดิจิทัล และมีการแสดงความคิดเห็นว่า บิตคอยน์เป็นสกุลเงินที่เอื้อประโยชน์ให้กับคนรวย คนทั่วไปแทบไม่ได้อะไรเลย เพราะว่าเป็นสกุลเงินที่ไม่มีอยู่จริง พร้อมกับตั้งคำถามว่าคนจนจะลงทุนอย่างไร เอาแค่ค่าใช้จ่ายในแต่ละวันยังจะไม่พอเลย
.
มาวันนี้ สกุลเงินดิจิทัลที่เคยลงทุน และคิดว่ามีมูลค่าสูงในอนาคตกำลังกลับมาทำร้ายเอลซัลวาดอร์ เมื่อมีรายงานออกมาว่า ประเทศกำลังเผชิญกับหนี้สินประมาณ 8 แสนล้านบาท โดยส่วนหนึ่งมาจากการทุ่มเงินซื้อบิตคอยน์ของรัฐบาล พร้อมทั้งปรับแผนการซื้อสกุลเงินดิจิทัลในที่สุด
.
เงินกองทุนคริปโตฯ ของรัฐบาลเอลซัลวาดอร์ลดลงครึ่งหนึ่ง และปฏิเสธไม่ได้ว่าบิตคอยน์ไม่สามารถใช้จ่ายได้ทั่วประเทศตามที่วาดฝันไว้จริง โดยตอนนี้ต้องการเงินสดเป็นจำนวนมาก เพื่อรองรับการชำระหนี้ที่มีอยู่ จน Nayib Bukele ต้องปรับแผนการชะลอหนี้เร่งด่วน
.
เมื่อดูตัวเลขล่าสุดพบว่า เอลซัลวาดอร์ขาดทุนจากการซื้อคริปโตอย่างน้อย 58 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หากนำไปรวมกับหนี้อื่น ๆ ของประเทศแล้วจะอยู่ในอัตราที่สูง
.
ขณะที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์ว่าหนี้สาธารณะของเอลซัลวาดอร์อาจสูงถึง 95% ของ GDP ได้ภายใน 4 ปี
.
เรื่องนี้เราอาจมองได้ว่าเอลซัลวาดอร์อาจดำเนินนโยบายการลงทุนที่มีความเสี่ยงมากเกินไปกับการนำเงินลงทุนเข้าไปซื้อสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงจนเกิดสภาวะขาดทุน สูญเสียเงินลงทุนไปจำนวนมหาศาล

ที่มา: cnbc, cnbcbloomberg