เงินเฟ้อไทยเดือน ก.ย.65 ลดลงเหลือ 6.41% เริ่มชะลอตัวตามที่คาดการณ์ไว้


สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เผยตัวเลขเงินเฟ้อไทยเดือน ก.ย.65 ลดลงเหลือ 6.41% ตามการชะลอตัวของราคาสินค้าในกลุ่มพลังงาน เคหสถาน และเครื่องประกอบอาหาร

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคของไทย เดือนกันยายน 2565 เท่ากับ 107.70 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเท่ากับ 101.21 ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไป อยู่ที่ร้อยละ 6.41 (YoY) ชะลอตัวลงจากเดือนสิงหาคม 2565 ที่สูงขึ้นร้อยละ 7.86 (YoY) ตามการชะลอตัวของราคาสินค้าในกลุ่มพลังงาน เคหสถาน และเครื่องประกอบอาหาร ประกอบกับฐานดัชนีราคาฯ ที่ใช้คำนวณเงินเฟ้อในเดือนเดียวกันของปีก่อนอยู่ระดับสูง อย่างไรก็ตาม ในเดือนนี้ราคาสินค้าและบริการโดยรวมยังคงสูงกว่าเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา จากการทยอยปรับราคาเพิ่มตามต้นทุนในช่วงก่อนหน้า พื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมขัง และอุปสงค์ในประเทศที่ปรับตัวดีขึ้น ซึ่งมีส่วนทำให้เงินเฟ้อยังคงขยายตัว แต่ในอัตราที่ชะลอตัวตามที่คาดการณ์ สำหรับปัจจัยที่ทำให้อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ร้อยละ 6.41 (YoY) ได้แก่

สินค้าในกลุ่มพลังงาน

ขยายตัวร้อยละ 16.10 (YoY) ตามการสูงขึ้นของราคาน้ำมันเชื้อเพลิง แม้ว่าราคาจะลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า แต่ราคายังคงสูงกว่าเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน นอกจากนี้ ค่ากระแสไฟฟ้า ก๊าซหุงต้ม การตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล (ค่าแต่งผมชาย ยาสีฟัน แชมพู) ค่าโดยสารสาธารณะ การศึกษา ยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ (บุหรี่ เบียร์ สุรา) ยังสูงกว่าปีที่ผ่านมา จึงส่งผลให้สินค้าในหมวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้นร้อยละ 4.10 (YoY) อย่างไรก็ตาม ยังมีสินค้าสำคัญหลายรายการที่ราคาลดลง อาทิ แป้งผัดหน้า น้ำยารีดผ้า ค่าส่งพัสดุ เครื่องรับโทรทัศน์ เครื่องปรับอากาศ และเครื่องซักผ้า เป็นต้น

สินค้าในกลุ่มอาหารสด

ขยายตัวร้อยละ 10.97 (YoY) ตามการสูงขึ้นของราคาสินค้าในกลุ่มเนื้อสัตว์ (เนื้อสุกร ไก่สด) ไข่ไก่ ผักสดและผลไม้ (พริกสด ผักคะน้า กะหล่ำปลี ส้มเขียวหวาน แตงโม มะม่วง) นอกจากนี้ อาหารสำเร็จรูปเพิ่มขึ้นเล็กน้อย และเครื่องประกอบอาหาร ราคาเริ่มชะลอตัว แต่ยังคงสูงกว่าเดือนเดียวกันของปีก่อน ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นการทยอยปรับราคาเพิ่มขึ้นตามต้นทุนการผลิต ราคาวัตถุดิบ และค่าขนส่ง ประกอบกับพื้นที่ผลิตสินค้าเกษตร ทั้งพืชผักและปศุสัตว์ประสบปัญหาจากฝนตกชุกและน้ำท่วมขัง ขณะที่อุปสงค์ในประเทศปรับตัวดีขึ้น จึงส่งผลให้สินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 9.82 (YoY) อย่างไรก็ตาม สินค้าสำคัญหลายรายการ อาทิ ข้าวสารเหนียว มะพร้าวผล/ขูด มะขามเปียก กล้วยหอม และอาหารโทรสั่ง (Delivery) ราคาปรับลดลง

สำหรับเงินเฟ้อพื้นฐาน

เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออก อยู่ที่ร้อยละ 3.12 (YoY) ชะลอตัวลงจากเดือนก่อนหน้า ที่สูงขึ้นร้อยละ 3.15 ดัชนีราคาผู้บริโภคในเดือนนี้ เทียบกับเดือนก่อนหน้า เพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 0.22 (MoM) ตามราคาอาหารสำเร็จรูป และเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ รวมทั้งการเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวของสินค้าในกลุ่มอาหารสด ขณะที่น้ำมันเชื้อเพลิงทุกประเภท (ยกเว้นก๊าซยานพาหนะ(LPG)) สินค้ากลุ่มอาหารบางรายการ (ไก่สด ข้าวสารเจ้า เครื่องประกอบอาหาร) และสิ่งที่เกี่ยวกับทำความสะอาด ราคาปรับลดลง และดัชนีราคาผู้บริโภคเฉลี่ย 9 เดือน (ม.ค.-ก.ย.) ปี 2565 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สูงขึ้นร้อยละ 6.17 (AoA)

ดัชนีราคาผู้ผลิต

เดือนกันยายน 2565 สูงขึ้นร้อยละ 10.5 (YoY) ชะลอตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ซึ่งนับว่าเป็นสัญญาณที่ดีที่จะส่งผลให้ราคาขายปลีกสินค้าลดลง อย่างไรก็ตาม ต้นทุนการผลิต ทั้งราคาวัตถุดิบ พลังงาน และการขนส่งที่อยู่ในระดับสูง จากการทยอยปรับเพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ประกอบกับเงินบาทที่อ่อนค่าลง ส่งผลให้ดัชนีราคาผู้ผลิตยังคงขยายตัวเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ส่วนดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง อยู่ในระดับที่ทรงตัวคือ สูงขึ้นร้อยละ 5.2 (YoY) เท่ากับเดือนที่ผ่านมา โดยยังคงสูงขึ้นในทุกหมวดสินค้า โดยเฉพาะสินค้าสำคัญ อาทิ เหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก ซีเมนต์ และผลิตภัณฑ์คอนกรีต ซึ่งเป็นผลจากราคาวัตถุดิบและต้นทุนที่สูงขึ้น

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวม

ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 มาอยู่ที่ระดับ 46.4 จากระดับ 46.3 ในเดือนก่อนหน้า เป็นการปรับเพิ่มขึ้นของดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบัน ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคต (3 เดือนข้างหน้า) ปรับลดลงเล็กน้อย แต่ยังอยู่ในช่วงความเชื่อมั่นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 11 สาเหตุมาจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ดำเนินการได้เป็นปกติ โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวที่จะเริ่มฤดูกาลท่องเที่ยวในช่วงปลายปี ราคาน้ำมันที่ลดลง และมาตรการของภาครัฐที่ลดภาระค่าครองชีพ เพิ่มกำลังซื้อ และเพิ่มรายได้ให้กับประชาชน ส่งผลให้ความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ผลกระทบจากความขัดแย้งระหว่างประเทศ ความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจโลก และเงินบาทที่อ่อนค่าลง ยังคงเป็นปัจจัยลบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในประเทศไทย

สำหรับแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อไตรมาสที่ 4 ปี 2565 มีแนวโน้มชะลอตัวลงจากไตรมาสก่อนหน้า ตามต้นทุนการผลิตและโลจิสติกส์ในประเทศ ที่เป็นผลมาจากราคาน้ำมันดิบและอาหารโลกที่ปรับตัวลดลง ประกอบกับฐานราคาที่สูงในช่วงเดียวกันของปีก่อน และมาตรการดูแลค่าครองชีพของภาครัฐที่อาจจะมีเพิ่มในช่วงที่เหลือของปี จะทำให้อัตราเงินเฟ้อชะลอตัวลง อย่างไรก็ตาม อุปสงค์ในประเทศที่ปรับตัวดีขึ้น ตามภาคการท่องเที่ยว การส่งออก และรายได้เกษตรกรที่อยู่ในระดับดี รวมถึงฝนตกชุกน้ำท่วมขังพื้นที่เกษตร ส่งผลให้ปริมาณผลผลิตเข้าสู่ตลาดน้อย และเป็นอุปสรรคต่อการขนส่ง นอกจากนี้ ราคาพลังงานโลกที่ผันผวน และเงินบาทที่อ่อนค่า ส่งผลให้ต้นทุนการนำเข้าสินค้าและวัตถุดิบเพิ่มขึ้น จะเป็นปัจจัยที่ทำให้การชะลอตัวของอัตราเงินเฟ้ออยู่ในกรอบที่จำกัด

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ยังคงคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 2565 อยู่ที่ระหว่างร้อยละ 5.5 – 6.5 (ค่ากลางร้อยละ 6.0) ซึ่งเป็นอัตราที่สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจและการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อของหน่วยงานด้านเศรษฐกิจของไทย