สคช. – ออมสิน เตรียมต่อยอด ยกระดับภูมิปัญญาท้องถิ่น ด้วยระบบคุณวุฒิวิชาชีพ เสริมแรง สร้างความเชื่อมั่นให้สินค้าและบริการในชุมชนมีความเข้มแข็


สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) หรือ สคช. นำโดย นางสาววรชนาธิป จันทนู รองผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ร่วมงานมอบรางวัลออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น Best of the best ระดับประเทศ ประจำปี 2565 ซึ่งธนาคารออมสิน จัดขึ้นเพื่อยกระดับขีดความสามารถกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ที่รวมตัวกันสร้างผลิตภัณฑ์หรือบริการให้มีมูลค่าเพิ่ม รวมทั้งเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งทุนให้กับประชาชน แก้ปัญหาเศรษฐกิจฐานรากได้อย่างยั่งยืน โดยมี นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เป็นประธานเปิดงาน พร้อมด้วยนางวรนุช ภู่อิ่ม รองปลัดกระทรวงการคลัง และตัวแทนหน่วยงานภาคี อาทิ นายชวน ชูจันทร์ ประธานวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวเชิงเกษตรตลาดน้ำคลองลัดมะยม ตัวแทนธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานการอาชีวศึกษา กรมการท่องเที่ยว กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ภาคเอกชน รวมถึงสถาบันการศึกษา เข้าร่วมในงาน

 

 

นางสาววรชนาธิป กล่าวว่า โครงการดังกล่าว สามารถตอบโจทย์การแก้ปัญหาเศรษฐกิจฐานรากให้แก่กลุ่มผู้ประกอบการและวิสาหกิจชุมชน ที่กระจายอยู่ในทุกท้องถิ่นทั่วประเทศให้มีความเข้มแข็ง ทั้งการนำองค์ความรู้และนวัตกรรมสมัยใหม่ มาพัฒนายกระดับคุณภาพภูมิปัญญาและทรัพยากรในท้องถิ่นให้มีมูลค่าเพิ่ม สามารถตอบสนองต่อความต้องการและการแข่งขันของตลาดได้ ทั้งนี้ สคช. จะผลักดันให้มีการต่อยอดส่งเสริมให้บุคลากรในวิสาหกิจชุมชน ให้มีโอกาสได้รับประกาศนียบัตรคุณวุฒิวิชาชีพ ซึ่งเป็นคุณวุฒิของคนทำมาหากินเพื่อช่วยสร้างความมั่นใจกับผู้บริโภคอีกทางหนึ่ง โดย สคช. มีมาตรฐานอาชีพที่หลากหลายครอบคลุมในทุกกลุ่มอาชีพที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาชุมชน

 

 

ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า ธนาคารออมสินปรับบทบาทเข้าสู่การเป็น Social Bank หรือ “ธนาคารเพื่อสังคม” อย่างเต็มรูปแบบ เพื่อดูแลลูกค้าและประชาชน 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ ผู้มีรายได้น้อย ผู้ประกอบการรายย่อย (พ่อค้าแม่ค้า) และองค์กรชุมชน โดย สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ เป็นหนึ่งในภาคีสำคัญ ในการช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ยกระดับรายได้ ต่อยอดเป็นผู้ประกอบการรายย่อย และสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ

สคช. และ ธนาคารออมสิน ถือเป็นพันธมิตรที่ทำงานร่วมกันอย่างต่อเนื่อง ในการให้แหล่งเงินทุนต่อยอดคนในอาชีพ ตั้งแต่การอนุมัติวงเงิน “สินเชื่อ เพื่อมืออาชีพ” ให้กับผู้ที่ผ่านการประเมินฯ เป็นมืออาชีพกับ สคช. กว่า 7,400 ราย รวมวงเงินกว่า 2,400 ล้านบาท ต่อเนื่องมาจนถึง การใช้ประกาศนียบัตรคุณวุฒิวิชาชีพ เป็นเอกสารหลักฐานประกอบการขอสินเชื่อในโครงการสร้างงาน สร้างอาชีพ รวมถึงยังร่วมกันพัฒนาหลักสูตรการฝึกอบรมผ่านระบบ Virtual Classroom ตั้งแต่ปี 2564-2565 มีผู้ผ่านการพัฒนาภายใต้การสนับสนุนของธนาคารออมสินรวมกว่า 70,000 คน

 

 

สำหรับโครงการ “ออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น” ปี 2565 มีนักศึกษาจาก 65 สถาบันอุดมศึกษา สามารถช่วยพัฒนาภูมิปัญญาของชุมชนกว่า 1,350 ชุมชนทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ช่วยส่งเสริมและพัฒนาความรู้ให้คนที่อยู่ในอาชีพที่เกี่ยวข้องกว่า 10,600 คน มีนักศึกษาและชุมชน ได้รับรางวัล Best of the Best 6 ประเภท ประกอบไปด้วย รางวัลประเภทกินดี การพัฒนาอาหารและเครื่องดื่ม ประเภทอยู่ดี ด้านที่พัก ท่องเที่ยวชุมชน ประเภทสวยดี ของที่ระลึก เครื่องแต่งกาย ประเภทใช้ดี ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากสมุนไพร รักษ์ดี การอนุรักษ์ขนบธรรมเนียม ภูมิปัญญา และคิดดี คือสินค้าบริการเชิงนวัตกรรม ซึ่งช่วยการสร้างงาน สร้างอาชีพให้แก่กลุ่มชุมชนที่กระจายอยู่ในทุกท้องถิ่นทั่วประเทศ ที่แสดงให้เห็นถึงการนำองค์ความรู้ และนวัตกรรมสมัยใหม่ของสถาบันอุดมศึกษามาพัฒนายกระดับคุณภาพภูมิปัญญาและทรัพยากรในท้องถิ่นให้มีศักยภาพต่อไป