พาณิชย์เผยอัตราเงินเฟ้อของไทยชะลอตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3


นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคของไทย เดือนพฤศจิกายน 2565 เท่ากับ 107.92 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเท่ากับ 102.25 ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไป สูงขึ้นร้อยละ 5.55 (YoY) เป็นการสูงขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 (จากร้อยละ 6.41 และ 5.98 ในเดือนกันยายน และตุลาคม 2565 ตามลำดับ) ตามการชะลอตัวของราคาสินค้าในกลุ่มอาหาร โดยเฉพาะผักสด ผลไม้สด เนื้อสัตว์ และเครื่องประกอบอาหาร เนื่องจากปริมาณผลผลิตที่มีมากกว่าเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ เมื่อเทียบกับเงินเฟ้อของต่างประเทศ (ข้อมูลล่าสุดเดือนตุลาคม 2565) พบว่า อัตราเงินเฟ้อของไทยอยู่ในระดับดีกว่าหลายประเทศ ทั้งสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร อิตาลี เม็กซิโก อินเดีย รวมถึงประเทศในอาเซียน ทั้งลาว ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์ โดยมีรายละเอียด ดังนี้

หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 8.40 (YoY) เป็นการสูงขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวจากเดือนก่อนที่สูงขึ้นร้อยละ 9.58 ตามราคาผักสดที่ลดลงค่อนข้างมาก (ผักกาดขาว ผักคะน้า ขึ้นฉ่าย ฟักทอง) เนื่องจากพื้นที่เพาะปลูกได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมน้อยกว่าปีที่ผ่านมา และมีการขยายพื้นที่เพาะปลูกมากขึ้น ทำให้ปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดจำนวนมากเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน นอกจากนี้ สินค้าในกลุ่มผลไม้ เนื้อสุกร และไก่สด ปริมาณผลผลิตที่มีมากกว่าเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา ขณะที่ความต้องการในประเทศเพิ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ส่งผลให้ราคาชะลอตัว รวมถึงเครื่องประกอบอาหารที่ราคาชะลอตัว และส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการกำกับดูแลราคาสินค้าและบริการที่สมดุลระหว่างผู้ผลิต ผู้ค้าและผู้บริโภค ของกระทรวงพาณิชย์ที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง

หมวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้นร้อยละ 3.59 (YoY) ตามการสูงขึ้นของสินค้ากลุ่มพลังงาน ทั้งน้ำมันเชื้อเพลิง ค่าไฟฟ้า และก๊าซหุงต้ม รวมทั้งค่าโดยสารสาธารณะ นอกจากนี้ สิ่งที่เกี่ยวกับทำความสะอาด อาทิ ผงซักฟอก น้ำยาปรับผ้านุ่ม และน้ำยาล้างจาน ราคาสูงขึ้นเล็กน้อย

เงินเฟ้อพื้นฐาน เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออก สูงขึ้นร้อยละ 3.22 (YoY) เพิ่มขึ้นเล็กน้อย
จากเดือนก่อนหน้าที่สูงขึ้นร้อยละ 3.17 (YoY) ตามต้นทุนการผลิตที่เกิดจากราคาพลังงานยังอยู่ในระดับสูง ส่งผลให้ราคาขายปลีกสินค้าและบริการปรับเพิ่มขึ้น

ดัชนีราคาผู้บริโภคในเดือนนี้ เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ลดลงร้อยละ 0.13 (MoM) ตามการลดลงของสินค้ากลุ่มอาหาร โดยเฉพาะผักและผลไม้สด (ผักบุ้ง ผักคะน้า ส้มเขียวหวาน ฝรั่ง) เนื้อสุกร ไข่ไก่ ข้าวสารเจ้า และเครื่องประกอบอาหาร (น้ำมันพืช มะพร้าว (ผลแห้ง/ขูด)) สำหรับดัชนีราคาผู้บริโภคเฉลี่ย 11 เดือน
(ม.ค. – พ.ย.) ปี 2565 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สูงขึ้นร้อยละ 6.10 (AoA) อยู่ระดับใกล้เคียงกับที่กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ไว้ (ระหว่างร้อยละ 5.5 – 6.5 ค่ากลางร้อยละ 6.0)

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวม เดือนพฤศจิกายน 2565 ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5

มาอยู่ที่ระดับ 49.9 จากระดับ 47.7 ในเดือนก่อนหน้า ซึ่งใกล้จะเข้าสู่ช่วงความเชื่อมั่น โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบัน ปรับเพิ่มขึ้นจากระดับ 38.7 มาอยู่ที่ระดับ 40.4 และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคต (3 เดือนข้างหน้า) ปรับเพิ่มขึ้นจากระดับ 53.7 มาอยู่ที่ระดับ 56.3 อยู่ระดับที่มีความเชื่อมั่นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 13 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่ปรับตัวดีขึ้นตามลำดับ มาตรการช่วยเหลือและกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่มีต่อเนื่อง รวมทั้งราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่สูงขึ้นไม่มากนัก

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเศรษฐกิจของไทยจะปรับตัวดีขึ้น แต่มีปัจจัยเสี่ยงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญ และความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ในต่างประเทศ รวมถึงราคาสินค้าและบริการในประเทศที่ยังอยู่ในระดับสูงจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในระยะต่อไป

แนวโน้มเงินเฟ้อเดือนธันวาคม 2565 คาดว่าจะยังขยายตัวในระดับที่ใกล้เคียงกับเดือนที่ผ่านมา
เนื่องจากราคาพลังงาน (น้ำมันเชื้อเพลิง ค่าไฟฟ้า ก๊าซหุงต้ม) สินค้ากลุ่มอาหาร (อาทิ เนื้อสัตว์ ไข่และผลิตภัณฑ์นม และอาหารสำเร็จรูป) และค่าโดยสารสาธารณะ ยังสูงกว่าเดือนเดียวกันของปีก่อน รวมทั้ง อุปสงค์ในประเทศที่เริ่มปรับตัวดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ปริมาณผลผลิตสินค้าเกษตรบางชนิดที่มีมากกว่าปีที่ผ่านมา มาตรการดูแลค่าครองชีพของภาครัฐ แนวโน้มการแข็งค่าของเงินบาท และการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่จะเป็นปัจจัยที่อาจลดทอนอัตราเงินเฟ้อในช่วงที่เหลือได้ ซึ่งจะต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ยังคงคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 2565 อยู่ที่ระหว่างร้อยละ 5.5 – 6.5 (ค่ากลางร้อยละ 6.0) ซึ่งเป็นอัตราที่สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจ