วิจัยเผยดื่มแอลกอฮอล์ทุก 1 แก้ว ทำชีวิตสั้นลง 30 นาที


เครื่องดื่มแอลกอฮอล์อีกหนึ่งเครื่องดื่มสุดโปรดของใครหลายคนที่มักใช้ร่วมฉลอง สังสรรค์ในช่วงวันหยุด หรือเทศกาลต่าง ๆ แม้จะเป็นเครื่องดื่มที่ให้ความรื่นเริงเวลาอยู่กับเพื่อน ๆ แต่หากดื่มมากเกินไปก็อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพเช่นกัน

นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผอ.สำนักสนับสนุนการพัฒนาระบบสุขภาพ สสส. กล่าวว่า ที่ผ่านมามักมีคำถามว่า ทำไมบางคนดื่มหรือสูบเป็นมะเร็ง แต่บางคนกลับไม่เป็น ตรงนี้ต้องเข้าใจกลไกการเกิดมะเร็งว่า เป็นเซลล์ของร่างกายที่มีการเปลี่ยนแปลง หรือกลายพันธุ์ของสารพันธุกรรม หรือเป็นเซลล์กบฏที่อยู่ในร่างกาย จากการถูกทำร้ายซ้ำๆ โดยสารก่อมะเร็ง หนึ่งในนั้นคือเหล้า บุหรี่ หากคนที่ยังอายุน้อย ร่างกายแข็งแรง อาจจะไม่เกิดมะเร็งทันที แต่อวัยวะจะค่อยๆ เสียหาย เช่น ตับ ที่มีหน้าที่ขับของเสีย ถึงไม่เป็นมะเร็งตับทันที แต่จะค่อยๆ เกิดไขมันแทรก กลายเป็นโรคตับแข็ง ร่างกายเสื่อมโทรมจนไม่สามารถทำลายสารก่อมะเร็งได้ตามปกติ ทำให้สารก่อมะเร็งเข้ามาโจมตีร่างกายได้มากและเร็วขึ้น

“เรื่องนี้ต้องเตือนกัน เพราะปกติขนาดเราไม่ได้ตั้งใจจะรับสารก่อมะเร็ง แต่เราก็ถูกบังคับให้รับอยู่แล้วจากสิ่งแวดล้อมที่ปนเปื้อน แต่ที่น่ากลัวกว่านั้นคือการรับสารก่อมะเร็งโดยตั้งใจและพยายามจะเสพเข้าไปเพื่อหาความสุขสำเร็จรูปจากเหล้า บุหรี่ แบบนี้ยิ่งรุนแรงเข้าไปอีก มีงานวิจัยพบว่าการดื่มแอลกอฮอล์ทุกๆ 1 แก้วที่เพิ่มขึ้น จะทำให้ชีวิตสั้นลง 30 นาทีลองนึกดูว่า ถ้าดื่มทุกวัน บางคนคิดว่าจะอยู่ยืนยงไม่เป็นไร ร่างกายแข็งแรงเลยดื่มหรือเสพหรือสูบไป ก็จะทำให้อายุสั้นลงเป็นการใช้พลังชีวิตที่เหลืออยู่อย่างฟุ่มเฟือย ยอมตายเร็วขึ้นเพื่อเสพความสุขสำเร็จรูป โดยเฉพาะในโลกปัจจุบันคนเครียดมากขึ้น แสวงหาความสุขสำเร็จรูปมากขึ้น” นพ.พงศ์เทพ กล่าว

ศ.พญ.สาวิตรี อัษณางค์กรชัย ผอ.ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา กล่าวว่า ข้อมูลปี 2564 จากสถาบันมะเร็งแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา รายงานว่า การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สัมพันธ์กับการเกิดโรคมะเร็ง โดยกลุ่มนักดื่มหนักที่ดื่มเบียร์ 5 กระป๋อง/วัน เสี่ยงเกิดโรคมะเร็งช่องปาก และมะเร็งหลอดอาหาร 5 เท่า มะเร็งกล่องเสียง 2.6 เท่า มะเร็งตับ 2 เท่า มะเร็งเต้านม 1.6 เท่า และมะเร็งลำไส้ใหญ่ 1.5 เท่า เมื่อเทียบกับผู้ไม่ดื่ม ส่วนกลุ่มผู้ดื่มปานกลางที่ดื่มเบียร์ 2 กระป๋อง/วัน เสี่ยงเกิดโรคมะเร็งช่องปาก 1.8 เท่า มะเร็งเต้านม 1.23 เท่า และมะเร็งลำไส้ใหญ่ 1.2 เท่า ของผู้ที่ไม่ดื่ม และงานวิจัย meta-analysis ปี 2020 ในวารสาร Alcohol and Alcoholism ได้รวบรวมงานวิจัย 22 ชิ้นในอดีต พบว่าการดื่มแอลกอฮอล์ทุก 1 หน่วยดื่มมาตรฐาน หรือ10 กรัม/ต่อวัน เพิ่มความเสี่ยงเกิดมะเร็งเต้านม 10% จึงกล่าวได้ว่า แอลกอฮอล์เป็นสารก่อมะเร็ง ถึงดื่มปริมาณน้อยก็เพิ่มความเสี่ยงของมะเร็งหลายชนิด และความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นตามปริมาณที่ดื่ม และการดื่มไวน์แดงไม่ได้ช่วยป้องกันมะเร็ง ดังนั้น การไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะเป็นการดีที่สุด