เรื่องบนเตียง ไม่ใช่เรื่องเล็ก! เปิดสาเหตุทำไมถึงไม่ควรทำงานบนเตียง


“ทำงานบนเตียงนอน” หลายคนคงเคยมีโมเม้นท์นี้กันมาแล้วไม่มากก็น้อย ยิ่งเวลาที่งานใกล้ถึงเดดไลน์เดือด ที่นอนที่เคยเป็นเสมือนสววรค์น้อยๆก็กลับกลายเป็นสมรภูมิเดือดไปในทันที แต่สำหรับบางท่านที่อาจจะชื่นชอบการทำงานบนเตียงเป็นปกติ คงสะดวกใจและคิดว่าเป็นเรื่องที่ไม่น่าจะมีผลเสียอะไร (ถ้ารับสภาพได้ว่างานจะอยู่กับคุณตลอดเวลา) วันนี้เราเลยจะขอโอกาสพาทุกคนไปเช็คสุขภาพกาย สุขภาพใจ และผลเสียของการทำงานบนเตียง

1.คุณภาพการนอนลดลง

นักจิตอายุรเวท และนักบำบัดด้านเวชศาสตร์ด้านการนอนหลับ ระบุว่า เมื่อเราใช้เตียงนอน ในการทำกิจกรรมอื่นๆ เช่น ทำงาน อ่านหนังสือ แม้กระทั่งดูทีวี อาจจะเชื่อมโยงกับร่างกาย ทำให้เราตื่นตัว จนไม่รู้สึกว่าการนอนบนเตียงนั้นคือการผ่อนคลาย

2.ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง

เพราะบางครั้งที่นำงานไปทำบนเตียง จะแยกเวลาไม่ออกตอนไหนทำงาน ตอนไหนเป็นเวลานอน แล้วในหัวก็จะคิดถึงเรื่องงานอยู่ตลอด จนไม่รู้ตัวว่าทำงานเต็มที่แล้วหรือยัง หรืองานที่ทำนั้นออกมาดี หรือไม่ดี รวมไปถึงพอคุณภาพในการนอนลดลง ก็จะทำให้ประสิทธิภาพการทำงานลดลงไปด้วย

3.ส่งผลเสียต่อสรีระท่าทาง

การทำงานบนเตียง ทำให้สุขภาพร่างกายเสียได้ เพราะบางทีเรานั่ง หรือนอนบนที่นอน เช่นนอนหงาย นอนคว่ำ ซึ่งเป็นท่าที่ไม่ค่อยถูกต้อง เมื่อเทียบกับการนั่งทำงานที่โต๊ะ ที่สามารถจัดท่านั่งให้ถูกต้อง รวมถึงปรับระดับความสูงต่ำของโต๊ะที่วางจอโน๊ตบุ๊กได้ตามความเหมาะสม โดยเราไม่ต้องก้ม หรือเงยมากเกินไป ก็ช่วยลดอาการปวดคอ และปวดหลังลงได้

4.ทำให้ความสัมพันธ์แย่ลง

จากการศึกษา พบว่า ช่วงเวลาที่เราอยู่กับคนรัก การสนใจโทรศัพท์มือถือ อาจส่งผลต่อความพึงพอใจในความสัมพันธ์ในรูปแบบต่างๆ เช่น ครอบครัว คนรัก หรือคนรอบข้างให้ลดลง และยิ่งเป็นโน๊ตบุ๊กที่ใช้ในทำงานนั้น ก็อาจจะทำให้ความสัมพันธ์แย่ลงมากกว่าเดิม

5.ส่งผลกับการมีสุขอนามัยที่ดี

ถ้าทำงานบนเตียงบ่อยๆ อย่างต่อเนื่อง ส่งผลต่อการสะสมของแบคทีเรียที่เพิ่มมากขึ้นอีก จึงควรที่จะเปลี่ยนผ้าปูที่นอน และหมั่นทำความสะอาดห้อง โดยเฉพาะบริเวณเตียงที่เราทำงาน

6.กระทบต่ออารมณ์ และพลังในการทำงาน

เนื่องจากเตียงอยู่ภายในห้องนอน ที่ส่วนใหญ่จะมีการตกแต่งห้องด้วยการปิดผ้าม่าน หน้าต่างไม่ค่อยมี จะมืดๆ เพื่อจะได้นอนหลับสบายๆ อีกทั้งแสงแดดส่องเข้ามาในห้องนอนน้อยกว่าห้องอื่นๆ อาจทำให้เวลาชีวิตในการพักผ่อนกับทำงานผิดปกติ เพราะไม่มีแสงแดดเป็นตัวกระตุ้นให้มีพลังในการทำงาน จนส่งผลทำให้เรารู้สึกเหนื่อย เครียด