การพัฒนาของเทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทสำคัญ สร้างการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของผู้คนไปจากเดิม ส่งผลกระทบต่อการทำธุรกิจที่ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาหน้าร้านเหมือนแต่ก่อนอีกต่อไป
ปัจจุบันเราจะเห็นแพลตฟอร์มในลักษณะของมาร์เก็ตเพลสที่สายชอปปิ้งออนไลน์รู้จักกันดี ไม่ว่าจะเป็น Shopee, Lazada ที่เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการทั้งรายเล็ก และรายใหญ่ ได้นำเสนอขายสินค้า พร้อมทั้งจัดโปรโมชันกระตุ้นยอดขายในช่วงเทศกาลต่าง ๆ เพื่อดึงดูดผู้บริโภคควักเงินซื้อสินค้ามากขึ้น รวมถึงขั้นตอนการซื้อ-ขายที่ไม่ยุ่งยากอะไร ครบจบในแพลตฟอร์มเดียว
นอกจากนี้ สื่อโซเชียลมีเดียก็ถูกประยุกต์นำมาใช้ประโยชน์ในเรื่องของการขายสินค้าเช่นกัน ทั้ง Facebook, Instagram ที่เป็นสื่อกลางในการขายสินค้า สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้โดยตรง และทำการตลาดขยายออกไปในวงกว้างได้อีกด้วย ไม่เพียงเท่านั้น ผู้ค้ายังรู้ถึงกระแสตอบรับของสินค้าชิ้นนั้นว่าได้รับความนิยมจากผู้บริโภคหรือไม่ เพื่อที่จะวางแผนทำการตลาดให้มีประสิทธิภาพต่อไป
อีกประเด็นที่สำคัญซึ่งสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน คือ การไม่มีหน้าร้านจะไม่เสียค่าใช้จ่ายเรื่องค่าเช่า ซึ่งเป็นการประหยัดต้นทุน รักษาสภาพคล่องให้กับธุรกิจ
อย่างไรก็ตาม เมื่อพูดถึงหน้าร้านแล้ว อาจจะมีข้อดีอยู่เหมือนกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมีตัวตนอยู่จริง ๆ เพราะที่ผ่านมาเราจะเห็นกรณีตัวอย่างในสังคมที่ถูกหลอกจากการซื้อของออนไลน์ ทั้ง การไม่ได้สินค้า, ได้สินค้าไม่ตรงปก หากแบรนด์มีหน้าร้านจะช่วยสร้างความน่าเชื่อให้กับผู้บริโภค
รวมถึงความกังวลของผู้บริโภคในเรื่องของไซส์สินค้าที่หากซื้อผ่านช่องทางออนไลน์จะต้องระบุไซส์ให้ชัดเจน ซึ่งหากเกิดข้อผิดพลาดทำให้ต้องเสียเวลาทำเรื่องเปลี่ยนสินค้า หรือกรณีบางร้านค้าระบุชัดเจนว่าไม่รับเปลี่ยนสินค้าทุกกรณี ตรงนี้จะทำให้ผู้บริโภคเสียเงินไปฟรี ตรงข้ามกับหน้าร้านที่สามารถลองสินค้าดูว่าเข้ากับตัวเองหรือไม่ ลองแล้วชอบหรือไม่ชอบ
เราไม่อาจสรุปได้ว่าทำธุรกิจยุคนี้ หน้าร้านยังจำเป็นหรือไม่ เพราะมีหลายปัจจัยให้ผู้ประกอบการพิจารณา ทั้งในเรื่องของกลุ่มลูกค้า, สินค้าที่จำหน่าย และปัจจัยเรื่องบริบททางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปที่ส่งผลกระทบหน้าร้านที่ขายหรือไม่ ซึ่งตรงนี้ต้องประเมินให้ถี่ถ้วน