อากาศร้อน เงินในกระเป๋าร้อนตาม กระทบค่าไฟ-ค่าอาหาร-ค่าใช้จ่ายสุขภาพ เพิ่มสูง


อากาศที่ร้อน แน่นอนว่าย่อมนำมาสู่ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะค่าไฟ แต่ไม่เพียงแค่นี้ยังมีค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่เพิ่มตามด้วย

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เผยผลการวิเคราะห์ชี้อุณหภูมิที่ร้อนขึ้น เป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายครัวเรือที่ปรับเพิ่ม 3 หมวดหลัก ดังต่อไปนี้

1.ค่าไฟฟ้า

ในช่วงฤดูร้อนปี 2566 ค่าไฟฟ้าครัวเรือนต่อเดือนเฉลี่ยของผู้ที่อาศัยในชุมชนเมืองเพิ่มขึ้นราว 30-50% ทำให้คาดว่าค่าไฟฟ้าครัวเรือนเฉลี่ยในช่วงเดือนมี.ค.-พ.ค. ในปีนี้จะอยู่ที่ราว 974-1,124 บาทต่อครัวเรือน เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดือนอื่น ๆ คาดจะอยู่ราว 871 บาทต่อครัวเรือน ซึ่งเป็นไปตามค่า Ft เฉลี่ยปีนี้ที่เพิ่มขึ้นจากปีก่อน

อีกทั้ง สภาพอากาศที่ร้อนขึ้น ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายช่วงเดือน มี.ค.-พ.ค. ปรับสูงขึ้น โดยเฉพาะผู้ที่อาศัยอยู่ในชุมชนเมืองจากการใช้เครื่องปรับอากาศเพิ่มมากขึ้น

2.ค่าอาหาร

ราคาวัตถุดิบปรับเพิ่มขึ้นจากสภาพอากาศที่ร้อนจัด กระทบผลผลิตออกสู่ตลาดลดลง หรือเกิดการเน่าเสียได้ง่ายกว่าปกติ ไม่ว่าจะเป็น ราคาหมูเฉลี่ยปรับเพิ่มขึ้นราว 2%, ราคาผักแพงกว่าปกติในช่วงเดือน มี.ค.-พ.ค. โดยเฉพาะมะนาวที่ปรับเพิ่มกว่า 50% เมื่อเทียบกับราคาในช่วงเดือนอื่น ๆ

ไม่เพียงเท่านั้น ในส่วนของร้านอาหารต้องรับภาระต้นทุนส่วนเพิ่มจากการที่ต้องใช้น้ำแข็ง และตู้แช่เพื่อเก็บรักษาวัตถุดิบบางประเภทที่เน่าเสียง่าย เช่น อาหารทะเล, เนื้อสัตว์

3.ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ

มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นจากการใช้จ่ายเพื่อรักษาโรคที่มากับความร้อน เช่น โรคไมเกรน อาหารเป็นพิษ โรคทางผิวหนัง เป็นต้น รวมถึงกลุ่มคนที่มีความเสี่ยงที่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ได้แก่ กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มผู้มีโรคประจำตัว กลุ่มเปราะบาง (เด็กและสตรีมีครรภ์) และกลุ่มอาชีพที่ต้องทำงานกลางแจ้งเป็นเวลานาน ขณะที่ ค่ายา/เวชภัณฑ์ ค่ารักษาพยาบาล ก็มีแนวโน้มปรับตัวสูงตามต้นทุน

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่าค่าใช้จ่ายครัวเรือนเฉลี่ยต่อเดือนทั้ง 3 หมวดนี้ (ค่าไฟ ค่าอาหาร ค่าใช้จ่ายสุขภาพ) คิดเป็นจำนวนเงินราว 9,666 บาทต่อครัวเรือน เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา (ปี 2565) ที่อยู่ที่ราว 8,868 บาทต่อครัวเรือน หรือขยายตัวราว 9.0%YoY