ผู้ทำธุรกรรมโอนเงินตั้งแต่ 50,000 บาท/ครั้ง 200,000 บาท/วัน ต้องไปธนาคารเพื่อติดต่อขอสแกนใบหน้า เป็นฐานข้อมูล ตัดวงจรภัยออนไลน์
น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า มาตรการที่จะเข้ามาช่วยให้ตัดวงจรภัยออนไลน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขณะนี้ธนาคารต่างๆ อยู่ระหว่างดำเนินการ คือ การปรับปรุงระบบความปลอดภัยในบริการผ่านแอปพลิเคชันบนโทรศัพท์มือถือหรือ Mobile Banking ซึ่งตั้งแต่ต้นเดือน พ.ค. เป็นต้นมา ธนาคารแต่ละแห่งได้ประชาสัมพันธ์ให้ลูกค้าที่ใช้บริการ Mobile Banking ที่จะมีการโอนเงินต่อครั้งตั้งแต่ 50,000 บาทขึ้นไป, โอนยอดรวมต่อวันตั้งแต่ 200,000 บาทขึ้นไป และกรณีการเปลี่ยนวงเงินการทำธุรกรรมต่อวันเป็นตั้งแต่ 50,000 บาทขึ้นไป จะต้องไปทำการสแกนใบหน้าเพื่อยืนยันตัวตน ที่สาขาธนาคาร หรือที่ตู้เอทีเอ็มตามที่ธนาคารกำหนด
.
ทั้งนี้ ธนาคารแต่ละแห่งจะให้ผู้ใช้บริการ Mobile Banking ดำเนินการยืนยันตัวตนไปตลอดเดือน มิ.ย. ก่อนที่จะเริ่มมาตรการจำกัดวงเงินผู้ไม่ดำเนินการยืนยันตัวตน ตั้งแต่ ก.ค. 66 เป็นต้นไป (บางแห่งเริ่มตั้งแต่ปลายเดือนมิ.ย.) ซึ่งหลังจากนี้ผู้ที่ยังไม่ยืนยันตัวตน ก็จะยังทำธุรกรรมผ่านแอปพลิชันได้ เพียงแต่การโอนเงินต่อครั้งจะไม่สามารถโอนตั้งแต่ 50,000 บาทได้ หรือโอนรวมต่อวันได้ไม่เกิน 200,000 บาท
.
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า นอกจากการติดต่อสอบถามที่สาขาธนาคารแล้ว ธปท. ได้แนะนำช่องทางที่ผู้ใช้บริการสามารถตรวจสอบได้เองว่าตนเองเคยสแกนใบหน้าเพื่อยืนยันตัวตนแล้วหรือไม่ ด้วยแอปพลิเคชันธนาคารบนโทรศัพท์มือถือ ซึ่งข้อมูล ณ วันที่ 30 พ.ค. 66 มีธนาคาร 7 แห่ง ที่ให้บริการตรวจสอบผ่านแอปพลิเคชันได้แล้ว ได้แก่ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กสิกรไทย เกียรตินาคินภัทร ทหารไทยธนชาต ไทยพาณิชย์ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และออมสิน ส่วนอีก 5 แห่งอยู่ระหว่างการปรับปรุงแอปพลิเคชันให้ตรวจสอบได้ ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ กรุงไทย ซีไอเอ็มบีไทย ทิสโก้ และ แลนด์แอนด์เฮาส์ ซึ่งเมื่อแล้วเสร็จจะมีการประกาศให้ทราบต่อไป