ธุรกิจเล็ก ฝันไกล…ไปถึงได้ ติดปีก SME เพิ่มทางเลือกแหล่งระดมทุน


อย่างที่รู้กันว่า ก.ล.ต. หรือ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ มีบทบาทหน้าที่ในการกำกับและพัฒนาตลาดทุนให้น่าเชื่อถือ มีประสิทธิภาพ และสังคมทุกภาคส่วนเข้าถึงได้ (Capital Market for All) ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการส่งเสริมโครงสร้างเศรษฐกิจไทยให้เข้มแข็ง พร้อมสร้างระบบนิเวศที่เอื้ออำนวยต่อการระดมทุนของกลุ่มธุรกิจเป้าหมายของประเทศ สำหรับธุรกิจขนาดเล็กอย่าง SME และ Startup ก็เป็นกลุ่มธุรกิจเป้าหมายที่ ก.ล.ต. ให้ความสำคัญเนื่องจากเป็นฟันเฟืองสำคัญของเศรษฐกิจไทย ซึ่งได้ให้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่องตั้งแต่กลางปี 2562 เพื่อให้กิจการของคนตัวเล็กเข้าถึง “ตลาดทุน” โดยสามารถระดมทุนผ่านเครื่องมือต่าง ๆ ที่เหมาะสมและสอดคล้องกับความต้องการของกิจการได้

แม้ธุรกิจ SME จะมีอัตราเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องกว่า 3 ล้านรายในปัจจุบัน และมีส่วนสำคัญต่อการจ้างงานทั่วประเทศมากกว่า 12 ล้านคน ทำให้เกิดการไหลเวียนของเม็ดเงินมหาศาล แต่ขณะเดียวกันกลุ่มธุรกิจนี้ก็ยังมีอุปสรรคและข้อจำกัดในแง่ของทางเลือกใหม่ ๆ เพื่อเข้าถึงแหล่งทุนในการขยายกิจการ ก.ล.ต. จึงได้พัฒนาโซลูชั่นในการระดมทุนของ SME เพื่อเพิ่มโอกาสการเติบโตมากขึ้น

ปัจจุบันการระดมทุนของ SME มีทั้งสิ้น 3 รูปแบบ

PP-SME ระดมทุนจากผู้ลงทุนในวงจำกัด ด้วยต้นทุนที่ต่ำและลดขั้นตอนที่เป็นภาระผู้ประกอบการ

สำหรับ SME/Startup ที่เป็นบริษัทจำกัดและมีขนาดเล็กหรือกิจการที่เพิ่งเริ่มต้นประกอบธุรกิจ การระดมทุนจากผู้ลงทุนในวงจำกัด ด้วยขนาดต้นทุนที่ต่ำและมีขั้นตอนที่ไม่เป็นภาระต่อผู้ประกอบการ ถือเป็นช่องทางการระดมทุนที่สำคัญ และตอบโจทย์กับกิจการกลุ่มนี้ ก.ล.ต. จึงได้ออกหลักเกณฑ์รองรับการระดมทุนให้ SME/Startup ที่เข้าข่ายเป็น SME ขนาดกลางและขนาดย่อม ตามกฎกระทรวงกำหนดลักษณะของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม พ.ศ. 2562 และมีสถานะเป็นบริษัทจำกัด สามารถเสนอขายหลักทรัพย์ต่อผู้ลงทุนในวงจำกัด (PP-SME)* ได้ นอกจากนี้ เพื่อส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของกิจการทุกขนาด ก.ล.ต. ยังมีเกณฑ์เพื่อรองรับให้วิสาหกิจขนาดใหญ่สามารถระดมทุนผ่านช่องทาง PP-SME ได้ด้วย โดยกิจการสามารถเสนอขายหุ้นหรือหุ้นกู้แปลงสภาพ (Convertible Debenture) ให้แก่ผู้ลงทุน รวมถึงกรรมการหรือพนักงานได้โดยตรงโดยไม่ต้องยื่นคำขออนุญาตต่อ ก.ล.ต. แต่ต้องลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการส่งเสริมการระดมทุนผ่านตลาดทุนกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) รวมถึงต้องเปิดเผยข้อมูลให้ผู้ลงทุนทราบ และนำส่งเอกสารให้กับ ก.ล.ต. ตามที่กำหนด

โดยนับตั้งแต่หลักเกณฑ์การระดมทุนในรูปแบบ PP-SME มีผลบังคับใช้ มีกิจการที่ระดมทุนสำเร็จแล้วจำนวน 17 กิจการ มีมูลค่าการระดมทุนสะสมจนถึงปัจจุบันอยู่ที่ 271.83 ล้านบาท (ข้อมูล ณ เดือนมีนาคม 2566) การระดมทุนผ่านช่องทาง PP-SME นี้ จะช่วยให้กิจการสามารถระดมทุนได้สะดวกขึ้น ไม่ต้องแบกรับภาระต้นทุนทางการเงินที่สูงจนเกินไป และเป็นเครื่องมือจูงใจให้ผู้มีความสามารถมาร่วมงานกับบริษัทได้

Crowdfunding เสนอขายหุ้นหรือหุ้นกู้ต่อผู้ลงทุนหมู่มากผ่านผู้ให้บริการระบบคราวด์ฟันดิง

ในกรณีที่ SME/Startup ต้องการระดมทุนจากบุคคลจำนวนมาก (แบบคนละเล็กละน้อย) สามารถเลือกระดมทุนในรูปแบบ Crowdfunding ได้ เนื่องจากเปิดให้ SME/Startup ทั้งที่เป็นบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดที่ไม่เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ สามารถระดมทุนโดยเสนอขายหุ้นหรือหุ้นกู้ต่อผู้ลงทุนหมู่มากผ่านผู้ให้บริการระบบคราวด์ฟันดิง (“funding portal”) ที่ได้รับความเห็นชอบจาก ก.ล.ต. ได้

ถึงแม้ว่าการลงทุนในกิจการ SME/Startup ที่อยู่ในช่วงเริ่มต้น อาจคาดหวังผลตอบแทนที่สูงมากได้ หากกิจการนั้นสามารถเติบโตจนมีบริษัทขนาดใหญ่เข้ามาซื้อ หรือกิจการนั้นสามารถเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ได้ แต่เนื่องจากการลงทุนในกิจการที่ยังอยู่ในช่วงตั้งต้นอาจมีความเสี่ยงสูงและยังมีความเสี่ยงด้านสภาพคล่องของหลักทรัพย์คราวด์ฟันดิงอันเนื่องมาจากการที่ไม่มีตลาดรองสำหรับซื้อขาย ส่งผลให้ผู้ลงทุนที่ลงทุนในหุ้นและหุ้นกู้คราวด์ฟันดิงอาจต้องถือหุ้นและหุ้นกู้ดังกล่าวต่อไปในระยะยาว ก.ล.ต. จึงกำหนดให้ผู้ลงทุนบางประเภทที่มีความเชี่ยวชาญในการลงทุนและรับความเสี่ยงจากการลงทุนในลักษณะนี้ได้ สามารถลงทุนในหุ้นและหุ้นกู้คราวด์ฟันดิงได้โดยไม่จำกัด เช่น ผู้ลงทุนสถาบัน* รวมถึงผู้ลงทุนประเภทกิจการเงินร่วมลงทุน (private equity) นิติบุคคลร่วมลงทุน (venture capital) และผู้ลงทุนที่มีลักษณะเฉพาะ (angel investor) ส่วนกรณีการระดมทุนจากผู้ลงทุนรายบุคคล
ก.ล.ต. กำหนดหลักเกณฑ์ให้มีการจำกัดวงเงินระดมทุนแก่ผู้ลงทุนรายบุคคลที่เป็นสมาชิกของ funding portal โดยลงทุนได้ไม่เกิน 100,000 บาทต่อ 1 กิจการ ซึ่งมูลค่าเงินลงทุนรวมทุกกิจการต้องไม่เกิน 1 ล้านบาทต่อปี (นับรวมทั้งมูลค่าหุ้นและหุ้นกู้) เพื่อควบคุมความเสี่ยงให้อยู่ในวงที่จำกัด

ทั้งนี้ การระดมทุนผ่าน Crowdfunding ในไตรมาส 1 ปี 2566 มีบริษัทที่ดำเนินการสำเร็จแล้ว 327 บริษัท มูลค่ารวม 1,585.44 ล้านบาท (การระดมทุนผ่าน Crowdfunding ตั้งแต่ปี 2562 ถึงไตรมาส 1 ปี 2566 รวม 729 ราย มูลค่า 7,158.49 ล้านบาท)

*ก.ล.ต. อยู่ระหว่างปรับปรุงหลักเกณฑ์เกี่ยวกับนิยามผู้ลงทุนสถาบันให้สอดคล้องกับประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการกำหนดบทนิยามผู้ลงทุนสถาบัน ผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษ และ
ผู้ลงทุนรายใหญ่ โดยในร่างประกาศฉบับใหม่ การเสนอขายหลักทรัพย์คราวด์ฟันดิงแบบไม่จำกัดวงเงินลงทุนสำหรับผู้ลงทุนสถาบัน จะรวมไปถึงผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษ และผู้ลงทุนรายใหญ่ด้วย

PO-SME ระดมทุนจากผู้ลงทุนในวงกว้าง ผ่าน LiVE Exchange

เพื่อเป็นการเติมเต็มช่องว่างให้กิจการ SME/Startup ที่เติบโตในระดับหนึ่งแล้ว และมีความต้องการเงินทุนสำหรับต่อยอดกิจการหรือเพิ่มศักยภาพในการดำเนินงาน ก.ล.ต. จึงได้ออกหลักเกณฑ์การระดมทุนในรูปแบบ PO-SME* ซึ่งเปิดให้กิจการ SME/Startup ที่มีลักษณะตามที่กำหนด เช่น มีสถานะเป็นบริษัทมหาชน สามารถระดมทุนในวงกว้างโดยเสนอขายหุ้นให้กับผู้ลงทุนที่มีความรู้ ประสบการณ์ ความเข้าใจในการลงทุน และสามารถรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูงได้ เช่น ผู้ลงทุนสถาบัน, private equity, venture capital, angel investor เป็นต้น โดยกิจการที่สนใจระดมทุนผ่านช่องทาง PO-SME จะต้องนำกิจการเข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนใน “LiVE Exchange” ซึ่งเป็นตลาดรองแห่งใหม่ที่ ก.ล.ต. ร่วมกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ต.ล.ท.) จัดตั้งขึ้น เพื่อรองรับการเสนอขายหลักทรัพย์ในวงกว้างของ SME/Startup

และเพื่อไม่ให้ผู้ประกอบการ SME/Startup ต้องแบกรับภาระต้นทุนที่สูงมากเกินไป และช่วยให้กิจการสามารถเข้าถึงการระดมทุนได้สะดวกขึ้น ก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้กำหนดหลักเกณฑ์การเข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนใน LiVE Exchange และคุณสมบัติของกิจการที่จะเข้าจดทะเบียน ให้มีลักษณะผ่อนปรนกว่าการเข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) และตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (MAI) และเหมาะสมกับลักษณะและขนาดกิจการของ SME/Startup เช่น ไม่กำหนดให้มีที่ปรึกษาทางการเงินและไม่ต้องยื่นคำขออนุญาตต่อ ก.ล.ต. ในการเสนอขายหุ้น รวมถึงผ่อนปรนหน้าที่ของกิจการภายหลังการเสนอขาย โดยยังคงมีกลไกคุ้มครองผู้ลงทุนตามกฎหมาย ทั้งตามพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. 2535 และพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535

ปัจจุบัน มีกิจการที่ระดมทุนผ่านช่องทาง PO-SME สำเร็จแล้วจำนวน 3 บริษัท มูลค่ารวม 196.40 ล้านบาท โดยการระดมทุนจากผู้ลงทุนในวงกว้างหรือ PO-SME ถือเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ เนื่องจากกิจการไม่ต้องแบกรับภาระต้นทุนที่สูงมากเกินไป ช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ของกิจการ และช่วยขยายฐานผู้ลงทุนของกิจการให้สามารถระดมทุนจากแหล่งเงินทุนที่มีศักยภาพได้ในวงกว้าง

ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมและติดต่อ ก.ล.ต. ได้ที่
https://www.sec.or.th/TH/Pages/Home.aspx
https://www.facebook.com/sec.or.th
PP-SME: https://www.sec.or.th/TH/Pages/LAWANDREGULATIONS/SME-PP.aspx
PO-SME: https://www.sec.or.th/TH/Pages/LAWANDREGULATIONS/PO-SME.aspx