กลายเป็นประเด็นดรามาขึ้นมาทันที หลังจากร้านลูกไก่ทอง ทำการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาเมนู “ปังชา” หรือ “ปังชาไทย” พร้อมสงวนสิทธิ์ห้ามลอกเลียนแบบ ทำซ้ำ ดัดแปลง แก้ไข ตลอดจน สงวนสิทธิ์ห้ามนำชื่อแบรนด์ปังชา Pang Cha ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ไปใช้เป็นชื่อร้านหรือใช้เป็นชื่อสินค้าเพื่อจำหน่าย
เรื่องนี้ถูกแสดงความคิดเห็นอย่างแพร่หลาย ไม่ว่าจะเป็น ต่อไปเมนูนี้จะขายได้หรือไม่ ทั้งบิงซู ใส่ชาไทย รวมถึงการใช้ชื่อเวลาขายจะต้องทำอย่างไร
อย่างไรก็ตาม ร้านอาหารลูกไก่ทอง โพสต์ชี้แจงว่าร้านอาหารลูกไก่ทอง และร้านปังชา ขอประกาศชี้แจงถึงกรณีข้อความในโพสต์ที่มีการโพสต์ผ่านทางโซเชียลมีเดียของทางร้าน ทางร้านขออภัยที่มีการสื่อสาร และทำให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน
ทางร้าน ขอน้อมรับทุกคำติชม คำแนะนำ และจะปรับปรุง พัฒนาทั้งในการสื่อสาร การบริการ สินค้า ต่อไป
ขอขอบคุณกรมทรัพย์สินทางปัญญาที่ให้ข้อมูลและหาแนวทางร่วมกันในการชี้แจงเพื่อให้ความรู้ ความเข้าใจทางแบรนด์เป็นอย่างดีที่สุด
ที่สำคัญที่สุด กราบขอบพระคุณด้วยความเคารพจากใจในทุกๆ ท่านที่ร่วมกันโพสต์แสดงความคิดเห็นให้แนวทาง อธิบายในข้อมูลที่มีเพื่อเป็นความรู้กับปังชาเป็นอย่างดีที่สุด ขอบพระคุณจริงๆ ค่ะ
ที่ผ่านมาจากกระแสที่เกิดขึ้น ทางร้านลูกไก่ทอง และปังชา มิได้นิ่งนอนใจแต่อย่างใด แต่ได้มีการสอบถามและปรึกษาแนวทางร่วมกันชี้แจงกับกรมทรัพย์สินทางปัญญา
ด้านกรมทรัพย์สินทางปัญญา อธิบายว่าขอชื่นชมผู้ประกอบการที่ตระหนักรู้ถึงความสำคัญของทรัพย์สินทางปัญญาและสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ได้อย่างแท้จริง จึงขอถือโอกาสนี้ชวนทุกท่านมาทำความรู้จักกับทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวข้องแต่ละประเภท เพื่อจะได้มีความเข้าใจที่ถูกต้องกันต่อไป
โดยประเด็นสำคัญ คือน้ำแข็งไสราดชาไทยมีขายมานานแล้ว จึงไม่มีใครสามารถจดสิทธิบัตร และอนุสิทธิบัตรแล้วอ้างเป็นสิทธิแต่เพียงผู้เดียวในเมนูนี้ได้ แต่ภาชนะที่ใส่ “ปังชา” ของแบรนด์ที่เป็นข่าว เขาจดสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ไว้ อย่างไรก็ตาม เมนูน้ำแข็งไสราดชาไทย ใครก็ขายได้ แต่อย่านำลวดลายหรือแบบภาชนะที่คนอื่นจดสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ไว้ไปผลิต
แต่ถ้าคิดค้นสูตรขนมขึ้นใหม่ ซึ่งยังไม่เคยปรากฏในที่ใดมาก่อน สามารถนำมาขอจดอนุสิทธิบัตรได้
เรื่องที่เกี่ยวข้อง