‘KAMU KAMU’ ต้นแบบความสำเร็จของธุรกิจชานมไข่มุก ไอเดีย-ความใส่ใจ ที่เลียนแบบกันไม่ได้


จากกระแสเมนู “ปังชา” ช่วงนี้ที่ถูกพูดถึงอย่างดุเดือด ! ทำให้ฉุกคิดนึกถึง “ชานมไข่มุก” แบรนด์ธุรกิจเครื่องดื่มที่มองไปทางไหนก็เจอ ทั้งนี้ ประเด็นสำคัญที่อยากจะบอก คือ แต่ละแบรนด์ไม่ว่าจะรายเล็ก รายใหญ่ ต่างก็มีเมนูซิกเนเจอร์ของตัวเอง และที่ต้องมีเป็นเมนูมาตรฐานทุก ๆ ร้าน ก็คือ “ชานมไต้หวัน” ซึ่งทั้งชื่อเมนู, วัตถุดิบ , แพ็กเกจจิ้ง รวมไปถึงดีไซน์โลโก้ หรือการออกแบบตกแต่งร้าน มีทั้งแตกต่างกัน คล้ายกัน และแทบจะหมือนกันก็มีให้เห็นตั้งเยอะ (อย่างกรณี เสือและหมีพ่นไฟ)

อย่างไรก็ตาม ไอเดียของการทำธุรกิจ ล้วนเกิดจากการ ‘ครูพักลักจำ’ เพราะฉะนั้น การนำต้นแบบเพื่อมาต่อยอดไอเดีย คิดค้นพัฒนา ออกแบบและผลิตสินค้าออกมา ย่อมมีความเป็นไปได้ว่า สินค้าอาจจะมีความคล้ายคลึงกัน ใกล้เคียงกัน ซึ่งคงปฏิเสธไม่ได้

ทั้งนี้ หากผู้ประกอบการแต่ละแบรนด์ไม่ได้ก๊อบปี้หรือตั้งใจที่จะทำเทียมและเลียนแบบจริง ๆ ก็คงไม่เป็นอะไร แต่ให้มองในเรื่องของการแข่งขันกันแบบแฟร์ ๆ สู้กันด้วยความคิดสร้างสรรค์ ฝีมือการทำตลาด โปรโมชั่น การรักษาคุณภาพสินค้า ตลอดจนการให้บริการลูกค้า ถ้าทำเช่นนี้ได้ ประเด็น “ปังชา” ก็คงจะไม่เกิดขึ้น จริงไหม ?

กลับมาเรื่องของเราดีกว่า.. หากเอ่ยถึง “ชานมไข่มุก” ถ้าชวนทุกคนนึกย้อนกลับไปกว่า 1 ทศวรรษ จะมีแบรนด์แรก ๆ ที่เคลมตัวเองว่า เป็นชานมไข่มุกสัญชาติไทยแท้ ซึ่งทุกวันนี้ยังคงขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ผ่านพ้นวิกฤตต่าง ๆ มาได้แบบไม่ยี่หระแม้แต่น้อย บอกมาเท่านี้ คงเหลือไม่กี่แบรนด์ในใจของสาวกชานมไข่มุกที่น่าจะเดาไม่ยาก

ใช่แล้ว ! นั่นคือ KAMU KAMU ภายใต้การบริหารโดย คุณแทน-ทินกฤต สินทัตตโสภณ กรรมการผู้จัดการ บริษัท คามุ คามุ จำกัด หรือเจ้าของแฟรนไชส์ Kamu Tea กับคอนเซ็ปต์และสโลแกนที่ทุกคนคุ้นเคยเป็นอย่างดี “ชาเคี้ยวได้” #เหนื่อยเศร้าเหงาทุกข์สุขที่คามุที

ปัจจุบัน KAMU KAMU (คามุ คามุ) ไปไกลมาก เพราะล่าสุด OR หรือ บมจ. ปตท.น้ำมันและค้าปลีก แจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ ถึงการเข้าซื้อหุ้น บริษัท คามุ คามุ จำกัด ซึ่งการเข้าซื้อครั้งนี้ OR ให้งบลงทุนไม่เกิน 480 ล้านบาท เพื่อเข้าถือหุ้นในบริษัท คามุ คามุ จำกัด ในสัดส่วน 25% จากผู้ถือหุ้นเดิม

ในส่วนเหตุผลของการเข้าซื้อหุ้นคามุ คามุ ของ OR เพื่อเสริมสร้างศักยภาพกลุ่มธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มของ OR และเพิ่มความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ พร้อมกับสร้างโอกาสการเติบโตทั้งในและต่างประเทศ

นี่จึงเป็นเครื่องพิสูจน์ ว่า คามุ คามุ คือต้นแบบเครื่องดื่มชานมไข่มุกสัญชาติไทยที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูง และถือเป็น Business Model หรือ ‘พิมพ์เขียว’ สำหรับแบรนด์ชานมไข่มุกอื่น ๆ ที่สามารถยึดเป็นหลักและแนวทางการบริหารธุรกิจ/สร้างแบรนด์ให้เติบโตอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน

จากข้อมูลกรมพัฒนาธุรกิจการค้า โดย คามุ คามุ มีงบการเงิน กำไรขาดทุน สรุปได้ดังนี้

ปี พ.ศ.2563 รายได้รวม 362.47 ล้านบาท กำไรสุทธิ 96.79 ล้านบาท
ปี พ.ศ.2564 รายได้รวม 247.19 ล้านบาท กำไรสุทธิ 29.37 ล้านบาท
ปี พ.ศ.2565 รายได้รวม 354.65 ล้านบาท กำไรสุทธิ 49.89 ล้านบาท

จะสังเกตว่า รายได้รวม และ กำไร(ขาดทุน)สุทธิ ของ คามุ คามุ มีผลประกอบการที่มีความเป็นเสถียรภาพ กล่าวคือ มั่นคง แน่นอน กราฟไม่ค่อยเปลี่ยนแปลง และมีผลกำไรทุก ๆ ปี แม้ในช่วงปี 2563-2564 รายได้รวมและกำไรจะลดลงไปบ้าง อันเนื่องจากเศรษฐกิจค่อย ๆ ฟื้นตัวหลังจากวิกฤตโควิด-19 ค่อย ๆ บรรเทาเบาบางลง แต่ก็ยังคง R&D ผลิตภัณฑ์พร้อมกับรักษามาตรฐานอย่างต่อเนื่อง

ความน่าสนใจของ KAMU KAMU

1. คามุ คามุ เป็นชาไทยแบรนด์อยู่ในธุรกิจชามาตั้งแต่ปี 2011 (พ.ศ.2554) มีสาขาแรกที่ อาคารอินเตอร์เชนจ์ 21 อโศก เพื่อเจาะกลุ่มพนักงานออฟฟิศ ปัจจุบันมีมากกว่า 100 สาขาทั้งไทยและต่างประเทศ เจาะกลุ่มหลายเซกเมนต์ทั้งวัยรุ่นและคนทำงานตามโลเคชั่นที่เปิดสาขา

2. สร้างภาพลักษณ์แบรนด์ให้มีความทันสมัย ผ่านการทำตลาดในรูปแบบต่าง ๆ โดยเฉพาะช่องทางออนไลน์เพื่อสื่อสารถึงผู้บริโภค พร้อมออกเครื่องดื่มใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างความถี่ในการดื่ม และดึงดูดลูกค้าใหม่ ๆ ให้เข้ามาใช้บริการอย่างต่อเนื่อง

3. คามุ คามุ มีรายได้เติบโตทุกปี นอกจากปี 2563 ธุรกิจได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่มีรายได้ที่ลดลง แต่มีผลกำไรที่เพิ่มขึ้น

ถึงตรงนี้ เพื่อน ๆ อาจสงสัยว่า คามุ คามุ มีดีอะไร ? ทำไมธุรกิจถึงยืนหยัดอยู่ได้ท่ามกลางวิกฤตต่าง ๆ และการแข่งขันที่สูงมากในเซกเมนต์ประเภทเดียวกัน โดยจากที่เคยให้สัมภาษณ์ในสื่อต่าง ๆ โดย คุณทินกฤต สินทัตตโสภณ ผู้บริหาร คามุ คามุ ได้บอกเคล็ดลับเอาไว้ ฟังดูเป็นแนวทางที่ไม่ยากเกินสำหรับคนที่อยากก้าวมาเป็นเจ้าของกิจการ และเป็นประโยชน์สำหรับคนที่อยากเริ่มต้นหรือมีความฝันอยากเปิดร้านชานมไข่มุกของตัวเอง ให้ประสบความสำเร็จดังเช่นแบรนด์ คามุ คามุ ประกอบด้วย..

• การทำธุรกิจในยุคดิจิทัล เจ้าของต้องปรับตัวตลอดเวลา
• สร้างแบรนด์ด้วยนวัตกรรม และสร้างโอกาสใหม่ ๆ เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย
• ใส่ใจคุณภาพและผลิตภัณฑ์ ให้เหมือนกับที่ใส่ใจลูกค้าเช่นเดียวกัน

ในการเริ่มต้นธุรกิจของแต่ละคน ไม่ได้มีหลักการหรือสูตรสำเร็จที่ตายตัว แต่หากสังเกต จะพบว่า สิ่งที่ผู้ประกอบการหลายคนมีเหมือนกัน คือ ความสนใจ และ มุ่งมั่นที่จะทำสิ่งนั้นให้สำเร็จ
หากคุณเป็นคนหนึ่งที่มีความฝันอยากเป็นเจ้าของแบรนด์ แต่ยังไม่รู้ว่าต้องเริ่มต้นอย่างไร ลองมองหา ‘บุคคลต้นแบบ’ ที่สร้างแบรนด์จนประสบความสำเร็จ เพื่อยึดเป็นไอดอล และก๊อบปี้ความสำเร็จของพวกเขา นำมาปฏิบัติได้เลย

แต่อย่า ! ก๊อบปี้ แบรนด์สินค้าหรือทรัพย์สินทางปัญญาของเขามานะ ระวัง ! จะซวย ตกเป็นข่าวเหมือนในตอนนี้แบบไม่รู้ตัว

ที่มา :

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า

https://www.thansettakij.com/business/marketing/536418