เยี่ยมชม ‘ศูนย์ฝึกทักษะการแพทย์ธรรมศาสตร์’ เพิ่มขีดความสามารถ ‘กำลังคนด้านสุขภาพ’ ด้วย ‘เทคโนโลยี-นวัตกรรม’ ขั้นสูงสุด


อาคารล้ำสมัยสูง 8 ชั้น บนเนื้อที่ใช้สอยมากกว่า 3.2 หมื่นตารางเมตร ที่อัดแน่นไปด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการแพทย์มาตรฐานสากล ซึ่งอยู่ในรั้วมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ศูนย์รังสิต คือที่ตั้งของ “อาคารศูนย์ฝึกทักษะทางการแพทย์ธรรมศาสตร์” ภายใต้การบริหารจัดการของคณะแพทยศาสตร์ มธ.

 

 

อาคารศูนย์ฝึกทักษะฯ แห่งนี้ นอกจากจะเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้-ฝึกทักษะให้กับนักศึกษาธรรมศาสตร์แล้ว ยังเปิดกว้างต้อนรับและพร้อมให้บริการวิชาการ Up Skill ให้กับ ‘กำลังคนด้านสุขภาพ-บุคลากรสหวิชาชีพ’ ในระบบสุขภาพ ตลอดจนเป็น ‘ฐานฝึกอบรม’ ให้กับประชาชน และหน่วยงานองค์กรต่างๆ

 

 

กล่าวให้เห็นภาพมากขึ้น อาคารแห่งนี้จะเป็นพื้นที่กลางสำหรับนักศึกษาจากทุกคณะในศูนย์สุขศาสตร์ อันประกอบด้วย คณะแพทยศาสตร์ คณะสหเวชศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ คณะทันตแพทยศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ และวิทยาลัยแพทยศาสตร์นานาชาติจุฬาภรณ์

พร้อมกันนี้ ยังจะเป็นพื้นที่กลางสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ อันได้แก่ แพทย์ประจำบ้าน (Resident) แพทย์ประจำบ้านต่อยอด (Fellow) และแพทย์ทั่วไป (General Practitioner) และเป็นแหล่งฝึกอบรมสำหรับบุคลากร องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) องค์กร-หน่วยงาน ที่ต้องมีความรู้และทักษะทางด้านการแพทย์

การก่อสร้างอาคารศูนย์ฝึกทักษะฯ มธ. ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากสำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง (กค.) เป็นจำนวนกว่า 400 ล้านบาท เรียกได้ว่าก่อตั้งขึ้นจากงบประมาณแผ่นดิน คณะผู้บริหารอาคารศูนย์ฝึกทักษะฯ จึงหมายมั่นที่จะใช้ประโยชน์อย่างสูงสุด เพื่อยังประโยชน์แก่ประชาชนให้สมดั่งปณิธาน ‘มหาวิทยาลัยเพื่อประชาชน’

 

 

สำหรับอาคารสูง 8 ชั้นแห่งนี้ ประกอบด้วย ชั้นที่ 1 ห้องปฏิบัติการด้านนิติเวชศาสตร์ มีบริการด้านผ่าชันสูตรศพและจัดทำรายงานการตรวจศพ ที่เสียชีวิตในเขตพื้นที่ความรับผิดชอบ ในจังหวัดปทุมธานี 4 แห่งหลักๆ ได้แก่ เขตพื้นที่ สถานีตำรวจภูธรคลองหลวง (สภ.)สภ.ธัญบุรี สภ.คลองห้า และ สภ.ประตูน้ำจุฬาลงกรณ์

 

 

ชั้นที่ 2 ศูนย์ฝึกปฏิบัติการกายวิภาคศาสตร์ (Anatomy Laboratory Center) ซึ่งจะมีห้องปฏิบัติการกายวิภาคศาสตร์ 2 ห้อง ห้องปฏิบัติการกล้องจุลทรรศศาสตร์ 2 ห้อง ห้องปฏิบัติการเครื่องจำลองระบบภาพกายวิภาค 3 มิติเสมือนจริง ชั้นที่ 3 และ 4 เป็นลานจอดรถ สามารถจอดรถได้จำนวน 210 คัน

 

 

ชั้นที่ 5 ศูนย์ฝึกทักษะการผ่าตัด (Surgical Skill and Cadaveric) เป็นศูนย์ฝึกผ่าตัดจากร่างอาจารย์ใหญ่ที่ทันสมัย สามารถถ่ายทอดสัญญาณไปยังห้องเรียนและห้องประชุมได้พร้อมๆ กัน ประกอบด้วยห้องผ่าตัดแสดงถ่ายทอดสัญญาจำนวน 1 ห้อง, ห้องบรรยาย 2 ห้อง, ห้อง Cadaver 3 ห้อง จำนวนเตียงรวม 36 เตียง

 

ชั้นที่ 6 ศูนย์ฝึกทักษะคลินิก (Clinical Skill Center) เป็นศูนย์สอบทักษะทางการแพทย์ที่ใหญ่ที่สุด ในประเทศได้มาตรฐานสากล และเป็นศูนย์สอบในระดับชาติและนานาชาติ ประกอบด้วยจำนวนห้องสอบรวม 48 ห้อง อีกทั้งมีศูนย์ปฏิบัติการฝึกทักษะทางคลินิกจำนวน 12 ห้องซึ่งสามารถจัดสอบให้แก่ผู้เข้าสอบจำนวน 80 คนต่อ 1 รอบการสอบ และสามารถจัดสอบทั้งภายในและภายนอกรวมมากกว่า 100 ครั้งต่อปี

 

ชั้นที่ 7 ศูนย์ฝึกสถานการณ์จำลอง (Clinical Simulation Center) ที่จะมีห้องฝึกสถานการณ์จำลอง (Simulation room) ประกอบด้วย ห้องควบคุมและห้องอภิปรายกลุ่ม สามารถช่วยฝึกการดูแลผู้ป่วยก่อนมาถึงโรงพยาบาลที่เรียกว่า Prehospital care หรือ emergency medical service (EMS) และจะเป็นศูนย์ฝึกทักษะการดูแลผู้ป่วยสำหรับบุคลากรในสายสุขศาสตร์ และชั้นที่ 8 ศูนย์ประชุมคณะแพทยศาสตร์ (Faculty of Medicine Conventional Center) ประกอบด้วยห้องประชุม 500 ที่นั่ง และห้องประชุม 300 ที่นั่ง

นอกจากนี้ ยังมีห้องเรียนขนาด 30-50 ที่นั่ง จำนวน 11 ห้อง ห้องเรียนขนาด 100 ที่นั่ง จำนวน 3 ห้อง ห้องเรียนขนาด 150 ที่นั่ง จำนวน 1 ห้อง ห้องสำนักงาน ห้องควบคุมอาคาร และห้องควบคุมระบบโสตทัศนูปกรณ์

“ศูนย์ฝึกทักษะทางการแพทย์แห่งนี้ถือเป็นหนึ่งในไม่กี่แห่งในประเทศไทยที่มีทั้งเทคโนโลยี และนวัตกรรมขั้นสูง เช่น หุ่นฝึกทักษะทางการแพทย์สำหรับจำลองสถานการณ์ให้ได้ฝึกปฏิบัติทั้งในสถานการณ์ฉุกเฉิน ไปจนถึงการผ่าตัด ระบบกำจัดกลิ่นฟอร์มัลดีไฮด์จากประเทศญี่ปุ่นเป็นแห่งเเรกในประเทศไทย พร้อมเครื่องจำลองระบบภาพกายวิภาค 3 มิติเสมือนจริงในศูนย์ฝึกปฏิบัติการกายวิภาคศาสตร์” รศ.นพ.ดิลก ภิยโยทัย คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มธ. ให้ข้อมูล

 

ในฐานะผู้บริหารสูงสุดของศูนย์ฝึกทักษะฯ ‘นพ.ดิลก’ เล่าว่า หลังจากที่ก่อสร้างอาคารเสร็จ คณะแพทยศาสตร์ได้ใช้ประโยชน์จากอาคารนี้ไปบ้างแล้ว เช่น งานบริการประชาชนด้านการอบรมให้ความรู้ทางการแพทย์ต่างๆ เช่น การกู้ชีพผู้ที่หัวใจหยุดเต้น (CPR) ช่วยชีวิตผู้ที่มีภาวะวิกฤต ฯลฯ ให้กับ อสม. องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) คนทั่วไป หรือแม้กระทั่งบุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องการทบทวนองค์ความรู้ ทั่วประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคกลาง และ จ.ปทุมธานี

ไม่น่าเชื่อว่า อาคารแห่งการเรียนรู้ที่ทันสมัยและครบครันแห่งนี้ ใช้เวลาสร้างเพียง 2 ปีเศษ นับตั้งแต่วางอิฐก่อนแรกในวันที่ 1 ต.ค. 2563 และแล้วเสร็จในวันที่ 20 ก.ย. 2565 โดยผู้ที่เป็นกำลังสำคัญและเป็นผู้สนับสนุนการก่อสร้างคือ ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ นายกสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

“แม้การก่อสร้างอาคารเรียนในครั้งนี้ได้ใช้งบประมาณการสร้างจำนวนมาก แต่นั่นเป็นการลงทุนที่มีความคุ้มค่าอย่างยิ่งถ้าสามารถทำให้นักศึกษามีพัฒนาการทางการเรียนรู้ได้อย่างมีคุณภาพ ซึ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการใช้อาคารเรียนใหม่จะเกิดประโยชน์สูงสุดแก่นักศึกษา และประชาชนทุกคน” อาจารย์สุรพล กล่าว

 

 

ศ.ดร.สุรพล เผยว่า ศูนย์ฝึกทักษะทางการแพทย์แห่งนี้ถือเป็นประจักษ์พยานสำคัญที่ยืนยันหลักการและแสดงให้เห็นถึงความสำเร็จของการแยกการบริหารจัดการ ระหว่าง ‘การจัดเรียนการสอน’ ทางการแพทย์ คือคณะแพทยศาสตร์ มธ. กับ ‘หน่วยบริการ’ คือโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ออกจากกันตั้งแต่เมื่อ 20 ปีก่อน เป็นสิ่งที่ถูกต้อง

“ขณะนั้นมีหลายฝ่ายค่อนข้างกังวลถึงการบริหารจัดการแบบนี้ แต่ในวันนี้ชัดเจนว่าเป็นหลักการที่ถูกต้อง เพราะโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ซึ่งก่อตั้งมานานกว่า 36 ปี ได้รับการรับรองมาตรฐาน Advanced Hospital Accreditation (AHA) ถือเป็นหนึ่งใน 17 โรงพยาบาลใหญ่ของประเทศที่ได้รับรอง ส่วน คณะแพทยศาสตร์ มธ. ซึ่งก่อตั้งมาได้ประมาณ 33 ปี ก็ก้าวขึ้นมาเป็นคณะแพทยศาสตร์ อันดับ 4 ของประเทศ จะตามหลังก็เพียงคณะแพทยศาสตร์จากมหาวิทยาลัยอื่นที่มีอายุมากกว่า 100 ปีเท่านั้น โดยทั้ง 2 หน่วยงานยังได้ร่วมมือกันในการออกแบบอาคารแห่งนี้ด้วย” ศ.ดร.สุรพล กล่าว

นายกสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวด้วยว่า การสร้างศูนย์ฝึกทักษะทางการแพทย์ธรรมศาสตร์ ถือเป็นหลักประกันที่ทำให้บุคลากรภายนอกที่เข้ามาใช้บริการ รวมถึงบุคลากรในวงการแพทย์ได้เห็นว่า ทั้ง 2 หน่วยงานประสบความสำเร็จเป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวาง ทั้งในมุมการผลิตแพทย์ การให้บริการในสถานศึกษา รวมถึงเป็นที่พึ่งให้แก่ประชาชนอย่างแท้จริง