เดี๋ยวนี้ใคร ๆ ก็หันมาเข้าครัวทำอาหารทานกันเองเยอะขึ้น แต่ถ้าจะให้ได้รสชาติอร่อยกลมกล่อม แซ่บนัวจริง ๆ ก็ต้องมีตัวช่วยชูรสชาติ อย่าง “เครื่องปรุงรส”
จึงไม่แปลกใจที่จะมีผลิตภัณฑ์เครื่องปรุงรสหลากหลายชนิดมาก ๆ วางจำหน่ายอัดแน่นเต็มเชลฟ์หรือชั้นวางสินค้าในทุก ๆ ห้างสรรพสินค้า โมเดิรนเทรด ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อ เป็นต้น
อย่างไรก็ดี ตามหลักสูตรหรือวิชาเรียนทำอาหาร เครื่องปรุงรส ก็คือจำพวก น้ำตาล เกลือ น้ำปลา พริกไทย/เครื่องเทศ ซอสถั่วเหลือง เต้าเจี้ยว ฯลฯ ที่เราเห็นซื้อ-ขายกันตามตลาดสดในชุมชน ทั้งนี้ ด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีการผลิต การใช้เครื่องจักรที่ทันสมัยแทนกำลังคนเพื่อทุ่นแรง ทำให้เครื่องปรุงรสถูกแปรรูปได้หลายรูปแบบ โดยหลัก ๆ ที่เราซื้อใช้อุปโภคบริโภค คือ ซอสปรุงรส และ ผงปรุงรส
แต่หากกล่าวถึง ผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องปรุงรส ที่เป็นแบรนด์ชั้นนำของเมืองไทย ซึ่งยกระดับแบรนด์จนกระทั่งส่งออกไปหลายประเทศทั่วโลก มีการผลิตในไลน์อุตสาหกหรรมที่ได้มาตรฐาน มีฉลาก จดแจ้งเลขทะเบียน และเป็นที่คุ้นตาคุ้นปากสำหรับคนไทย คงมีไม่กี่แบรนด์ที่อยู่ในใจและต้องมีติดครัวบ้านคุณ ซึ่งจะพาเพื่อน ๆ มาติดตามกันในคอนเทนต์นี้
เครื่องปรุงรส มหัศจรรย์รสชาติอาหารไทย ที่ทั่วโลกยอมรับ !
ข้อมูลเครื่องปรุงรส (รวมทุกประเภท) ส่งออกต่างประเทศ ในปี พ.ศ.2564 โดยยอดการส่งออกซอสและเครื่องปรุงรสของไทย มีมูลค่า 29,878 ล้านบาท มีสินค้าหลัก ๆ ประกอบไปด้วย
• ผงปรุงรส มูลค่า 7,196 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 24%
• ซอสพริก มูลค่า 4,398 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 15%
• น้ำปลา มูลค่า 2,138 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 9%
• เครื่องแกงสำเร็จรูป มูลค่า 1,938 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 7%
• ซอสถั่วเหลือง มูลค่า 1,382 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 5%
นอกจากนี้ ยังมีเครื่องปรุงรสอื่น ๆ เช่น น้ำจิ้ม น้ำพริก รวมกันคิดเป็นสัดส่วนอีกกว่า 30% โดยจุดหมายปลายทางการส่งออกหลักของซอสและเครื่องปรุงรสไทย ได้แก่
1. สหรัฐอเมริกา 13%
2. ญี่ปุ่น 8%
3. ฟิลิปปินส์ 8%
4. ออสเตรเลีย 6%
5. เนเธอร์แลนด์ 6%
6. มาเลเซีย 5%
จะเห็นว่า ปลายทางส่งออกของซอสและเครื่องปรุงรสไทย จะแบ่งหลัก ๆ ออกเป็น 2 กลุ่ม คือ ประเทศเพื่อนบ้านในแถบอาเซียน และประเทศร่ำรวยในแถบยุโรป ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา
ทั้งนี้ ในช่วง TIMELINE ครึ่งหลังของปี พ.ศ.2563 เป็นช่วงที่ตลาดเครื่องปรุงรสในส่วนของครัวเรือน ขยายตัวเพิ่มขึ้นอีก สืบเนื่องจากช่วงวิกฤตโควิด-19 ผู้บริโภคไม่สามารถออกไปรับประทานอาหารนอกบ้านได้ จึงหันมาทำอาหารรับประทานกันเองกันมากขึ้น จึงเป็นสาเหตุทำให้ตลาดเครื่องปรุงรสโดยรวม เติบโตขึ้นอีก โดยรวมปี พ.ศ.2563 มีมูลค่า 41,893 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า คิดเป็นอัตราขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 4.3 ต่อปี
Smart SME จึงขอชวนเพื่อน ๆ ลองมาดูกันว่า ในประเทศไทย มีผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องปรุงรส (ซอส และ ผงปรุงรส) แบรนด์ใดกันบ้าง ที่ถือครองเจ้าตลาดในประเทศเป็นเบอร์ต้น ๆ และถือเป็นยี่ห้อขวัญใจสำหรับพ่อครัวแม่ศรีเรือนที่เข้าครัวทำอาหารทุกครั้งจะขาดเสียมิได้ !
ผู้ผลิตและจำหน่าย ‘ซอสปรุงรส’ แถวหน้าของไทย
บริษัท หยั่น หว่อ หยุ่น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป จำกัดผู้ผลิตซีอิ๊วตราเด็กสมบูรณ์
ผลประกอบการ ปี 2565
รายได้ : 3,948.7 ล้านบาท
กำไร : 719.4 ล้านบาท
ผลิตภัณฑ์เครื่องปรุงรสที่ผลิตและจำหน่าย : ซีอิ๊วดำ ซีอิ๊วขาว เต้าเจี้ยว ซอสหอยนางรม ซอสปรุงรสฝาเขียว
บริษัท เนสท์เล่ (ประเทศไทย) จํากัด ผู้ผลิตซอสปรุงรสตราแม็กกี้
ผลประกอบการ ปี 2565
รายได้ : 56,773.2 ล้านบาท
กำไร : 3,008.7 ล้านบาท
ผลิตภัณฑ์เครื่องปรุงรสที่ผลิตและจำหน่าย : ซีอิ๊วดำ ซีอิ๊วขาว เต้าเจี้ยว ซอสหอยนางรม ซอสปรุงรสฝาเขียว
(รายได้และกำไรของ บริษัท เนสท์เล่ (ประเทศไทย) จํากัด รวมทั้งหมดของยอดจำหน่ายสินค้าทุกกลุ่ม เช่น กาแฟสำเร็จรูป , ผลิตภัณฑ์ซีเรียล , นมกล่อง , ไอศกรีม , น้ำดื่ม ฯลฯ)
บริษัท ไทยเทพรส จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตซอสตราภูเขาทอง
ผลประกอบการ ปี 2565
รายได้ : 3,305.1 ล้านบาท
กำไร : 627.7 ล้านบาท
ผลิตภัณฑ์เครื่องปรุงรสที่ผลิตและจำหน่าย : ซอสสปรุงรสฝาเขียว ตราภูเขาทอง , ซอสฝาเหลืองตราภูเขาทอง , ซีอิ๊วขาว , ซีอิ๊วถั่วเหลือง , ซีอิ๊วญี่ปุ่น ตราคินซัน
บริษัท ตราแม่ครัว จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายซอสหอยนางรม
ผลประกอบการ ปี 2565
รายได้ : 2,783.7 ล้านบาท
กำไร : 80.3 ล้านบาท
ผลิตภัณฑ์เครื่องปรุงรสที่ผลิตและจำหน่าย : ซอสหอยนางรม ตราแม่ครัว , น้ำซอสปรุงอาหารฉลากเขียว ตราฉลากทอง , น้ำส้มสายชูกลั่น 5% ตราฉลากทอง , ซีอิ๊วขาว สูตร1 ตราแม่ครัวฉลากทอง
หมายเหตุ : ข้อมูลเครื่องปรุงรส ไม่นับรวมซอสพริก ซอสมะเขือเทศ น้ำจิ้มไก่ น้ำจิ้มสุกี้ น้ำซุป
ผู้ผลิตและจำหน่าย ‘ผงปรุงรส’ แถวหน้าของไทย
บริษัท ยูนิลีเวอร์ ไทย เทรดดิ้ง จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายผงปรุงรส ตราคนอร์
ผลประกอบการ ปี 2565
รายได้ : 47,412 ล้านบาท
กำไร : 5,013.4 ล้านบาท
ผลิตภัณฑ์เครื่องปรุงรสที่ผลิตและจำหน่าย : ซอสปรุงรส, ซอสทำอาหาร, ผงน้ำซุปก๋วยเตี๋ยว, น้ำซุปและน้ำสต๊อก
(รายได้และกำไรของ บริษัท อายิโนะโมะโต๊ะ (ประเทศไทย) จำกัด รวมทั้งหมดของยอดจำหน่ายสินค้าทุกกลุ่ม)
บริษัท อายิโนะโมะโต๊ะ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายผงปรุงรส ตรารสดี
ผลประกอบการ ปี 2565
รายได้ : 33,600.7 ล้านบาท
กำไร : 14,138.9 ล้านบาท
ผลิตภัณฑ์เครื่องปรุงรสที่ผลิตและจำหน่าย : ผงชูรส อายิโนะโมะโต๊ะ, รสดี, รสดีซุปก้อน, รสดีเมนูแป้งชุบทอด, กาแฟปรุงสำเร็จพร้อมดื่ม, บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปตรายำยำ ฯลฯ
(รายได้และกำไรของ บริษัท อายิโนะโมะโต๊ะ (ประเทศไทย) จำกัด รวมทั้งหมดของยอดจำหน่ายสินค้าทุกกลุ่ม)
บริษัท ไพโรจน์ (ทั่งซังฮะ) จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายผงปรุงรส ตราทิพรส
ผลประกอบการ ปี 2565
รายได้ : 2,887.4 ล้านบาท
กำไร : 402.8 ล้านบาท
ผลิตภัณฑ์เครื่องปรุงรสที่ผลิตและจำหน่าย : น้ำปลาแท้ตราทิพรส , น้ำปลาตราดีหนึ่ง, น้้ำส้มสายชูกลั่น 5% ตราทิพรส ฯลฯ
บริษัท เอฟ-พลัส จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายผงปรุงรส ตราฟ้าไทย
ผลประกอบการ ปี 2565
รายได้ : 1,598.6 ล้านบาท
กำไร : 156.5 ล้านบาท
ผลิตภัณฑ์เครื่องปรุงรสที่ผลิตและจำหน่าย : ผงปรุงรส, น้ำก๋วยเตี๋ยวสำเร็จรูปเข้มข้น, ซุปน้ำ, น้ำจิ้มสุกี้, น้ำจิ้มไก่, ชุดเครื่องแกงพร้อมปรุง, น้ำปลาร้าต้มสุก ฯลฯ
หมายเหตุ : ข้อมูลผงปรุงรส ไม่นับรวมซอสพริก ซอสมะเขือเทศ น้ำจิ้มไก่ น้ำจิ้มสุกี้ น้ำซุป
จากข้อมูลต่าง ๆ อาจสรุปได้ว่า อุตสาหกรรมผลิตและจำหน่ายเครื่องปรุงรสในไทยยังคงคึกคัก ซึ่งในแต่แบรนด์แต่ละบริษัทยังคงพัฒนาและแตกไลน์ผลิตภัณฑ์เครื่องปรุงรสอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ตอบโจทย์ลูกค้าทุกกลุ่มในการนำไปผลิตหรือปรุงอาหาร ไม่ว่าจะเป็น Consumer Product , ธุรกิจร้านอาหาร , ภัตตาคาร โรงแรม ซึ่งคาดการณ์ได้ว่า ตลาดเครื่องปรุงรสในประเทศจะมีมูลค่า 50,423 ล้านบาท ในอีก 5 ปีข้างหน้า โดยคิดเป็นอัตราขยายตัว เฉลี่ยร้อยละ 3.9 ต่อปี
จึงชี้ให้เห็นว่า ผลิตภัณฑ์เครื่องปรุงรสสำเร็จรูป กลายเป็นตัวขับเคลื่อนตลาดที่สำคัญ เนื่องจากสามารถตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคยุคใหม่ที่ต้องการความรวดเร็วและสะดวกสบายได้เป็นอย่างดี
โดยซอสปรุงรสสำเร็จรูปจะเป็นตัวช่วยให้การทำอาหารง่ายและประหยัดเวลามากขึ้น ประกอบกับผู้ประกอบการเองมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ เครื่องปรุงรสสำเร็จรูปหลากหลายรูปแบบและเมนู รวมถึงการเข้ามาของผู้ประกอบการหน้าใหม่ ทำให้ตลาดมีความคึกคักมากยิ่งขึ้น คาดว่าปี พ.ศ.2568 ตลาดเครื่องปรุงรสสำเร็จรูปมูลค่า 2,025 ล้านบาท
สำหรับเรื่องอัตราขยายตัว และความคึกคักของตลาดซอสปรุงรสในไทย เราอาจต้องยกเครดิตให้หลายภาคส่วน ทั้งความครีเอทีฟ สร้างสรรค์ไม่หยุดอยู่กับที่ของผู้ประกอบธุรกิจเครื่องปรุงรสในไทย ย้อนกลับไปจนถึงรสชาติอาหารไทยที่อนุญาตให้เราสามารถมีเครื่องปรุงรสที่มากมาย และมีรสชาติอันหลากหลายได้
ทั้งนี้ ผลประโยชน์ทั้งปวง จึงตกมาอยู่ในมือผู้บริโภคที่เมื่อไหร่ก็ตามที่เราเดินไปในโซนเครื่องปรุงรสเราจึงรู้สึกเหมือนกับว่าเราได้ท่องเที่ยวไปในดินแดนแห่งรสชาติอย่างไรอย่างนั้นเลย
________________________________________________________________
แหล่งข้อมูลอ้างอิง :
https://www.bangkokbiznews.com/
http://www.foodfocusthailand.com/
https://www.blockdit.com/