น้ำดื่มหรือน้ำเปล่าผสมวิตามิน กลายเป็นธุรกิจที่น่าสนใจมาก ๆ ตอนนี้เข้าร้านสะดวกซื้อ หากเพื่อน ๆ จะสังเกตพบว่า มีชั้นวางน้ำผสมวิตามินมีหลายแบรนด์หลายยี่ห้อ แทบจะกลืนกินน้ำดื่มหรือน้ำเปล่าไปหมดแล้ว
บางทีก็สงสัยนะว่า ธุรกิจน้ำผสมวิตามิน หรือ Vitamin Water มันก็แค่น้ำใส ๆ แต่ทำไมดูมีหลายบริษัทหรือโรงงานผลิตกระโดดมาเล่นตลาดนี้กันอย่างอุ่นหนาฝาคั่งขนาดนี้
กับอีกข้อหนึ่งที่ว่า การดื่มน้ำผสมวิตามิน จะได้รับประโยชน์จากวิตามินที่แปะติดฉลากข้างขวดของแต่ละแบรนด์จริงเท็จแค่ไหน ?
เอาล่ะ ! ไปไขข้อข้องใจพร้อมกันดีกว่า เพราะแอดมินก็สงสัยมานานล่ะ ไปส่องตลาดหรือจับตาดูเทรนด์น้ำดื่มผสมวิตามินในประเทศไทยว่า อะไรถึงดึงดูดให้บริษัทหรือโรงงานผลิตน้ำรายใหญ่รายย่อย จึงตบเท้าเข้ามาในแวดวงธุรกิจน้ำดื่ม Vitamin Water ถึงเพียงนี้
โดยถ้ากล่าวถึงตัวเลขตลาดเครื่องดื่มทุกประเภทในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็น น้ำเปล่าบริสุทธิ์ น้ำแร่ธรรมชาติ เครื่องดื่มวิตามิน เครื่องดื่มชูกำลัง ชาพร้อมดื่มบรรจุขวด ฯลฯ และกล่าวอีกไม่หวั่นไม่ไหว โดยมีมูลค่าการตลาดสูงถึง 200,000 ล้านบาท
แต่หากจะลงรายละเอียดให้แคบลง เฉพาะ “น้ำดื่มผสมวิตามิน” ซึ่งจากข้อมูลของศูนย์วิจัยกสิกรไทย เคยคาดการณ์ไว้ว่า ช่วงปี พ.ศ.2563-2564 ตลาดเครื่องดื่มผสมวิตามินในไทย จะมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 5,500 ล้านบาท หรือคิดเป็นส่วนแบ่งตลาดประมาณ 1.2% ของมูลค่าเครื่องดื่มทั้งหมดของไทย
และคาดการณ์ไว้อีกว่า มูลค่าตลาดจะขยับขึ้นไปถึงประมาณ 6,000-7,000 ล้านบาทในปี 2564-2565 (ข้อมูลของศูนย์วิจัยกสิกรไทย อัปเดตเมื่อปี 2563 ที่เกิดโควิดฯ รุนแรงในขณะนั้น)
ซึ่งถ้าย้อนสตอรี่กลับไป ต้องยอมรับว่า กระแสน้ำดื่มผสมวิตามิน เริ่มเป็นที่รู้จักจริง ๆ ช่วงที่โลกเผชิญวิกฤตโควิด-19 ในช่วงที่ผู้คนต้องการบริโภคอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ ที่เสริมเข้าไปในร่างกายเป็นเกราะกำบังโรคระบาดต่าง ๆ สำหรับในประเทศไทย ที่คุ้นหน้าคุ้นตาเจ้าแรกที่มาวิน ! ถือเป็นผู้นำเทรนด์ น้ำดื่ม Vitamin Water ผลิตและจำหน่ายออกมาตามร้านสะดวกซื้อ ร้านค้า ต้องยกให้ตามลำดับนี้ (อ้างอิงจากนิลเส็น)
- ยันฮี วิตามิน วอเตอร์ (VITAMIN WATER) ผลิตและจำหน่ายโดย บริษัท ยันฮี วิตามิน วอเตอร์ จำกัด ครองส่วนแบ่ง 43.8%
- วิตอะเดย์ (VITADAY) ผลิตและจำหน่ายโดย บริษัท เจนเนอรัล เบฟเวอร์เรจ จำกัด ถือครองส่วนแบ่ง 28.7%
- บลู (B’lue) ผลิตและจำหน่ายโดย บริษัท ดาน่อน-เซ็ปเป้ เบฟเวอเรจส์ จำกัด ถือครองส่วนแบ่ง 15.4%
- พีเอช พลัส (PH Plus) ผลิตและจำหน่ายโดย บริษัท อิชิตัน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ถือครองส่วนแบ่ง 5.1%
- น้ำดื่มผสมวิตามินแบรนด์อื่น ๆ ถือครองส่วนแบ่ง 7%
ทีนี้ลองมาดูว่า แต่ละแบรนด์ผลิตรสชาติไหนออกมากันบ้าง และอะไรได้รับความนิยมจากนักดื่มมากที่สุด
ยันฮี วิตามิน วอเตอร์ (YANHEE VITAMIN WATER)
ปริมาณ 460 มิลลิลิตร ราคาขายปลีกเริ่มต้น 25 บาท มีรสชาติ ได้แก่
• ยันฮี วิตามินบี วอเตอร์ รสเก๊กฮวย
• ยันฮี วิตามินซี วอเตอร์ รสเฉาก๊วย
• ยันฮี วิตามินซี วอเตอร์ รสลิ้นจี่
• ยันฮี วิตามินซี วอเตอร์ รสสตรอเบอร์รี่
• ยันฮี วิตามินซี วอเตอร์ รสกระชายขาวกลิ่นน้ำผึ้งมะนาว
วิตอะเดย์ (VITADAY)
ปริมาณ 480 มิลลิลิตร ราคาขายปลีกเริ่มต้น 17-20 บาท มีรสชาติ ได้แก่
• วิตอะเดย์ รสชานมไต้หวัน
• วิตอะเดย์ รสลูกพีช
• วิตอะเดย์ รสเก๊กฮวย
(มีส่วนผสมของวิตามิน : B1 , B3 , B5 , B6 , B7 , B9 , B12)
บลู (B’lue)
ปริมาณ 500 มิลลิลิตร ราคาขายปลีกเริ่มต้น 25 บาท มีรสชาติ ได้แก่
• บลู (B’lue) รสเพลย์ฟลูพีช
• บลู (B’lue) รสโพสซิทิฟแพร์
• บลู (B’lue) รสลัคกี้ไลชี่
• บลู (B’lue) รสคูลคาลาแมนซี่
พีเอช พลัส (PH Plus)
ปริมาณ 550 มิลลิลิตร ราคาขายปลีกเริ่มต้น 20 บาท มีรสชาติ ได้แก่
• พีเอช พลัส ผสมวิตามินบีรวม
• พีเอช พลัส ผสมวิตามินและสารสกัดใบแปะก๊วย
ดื่มได้ประโยชน์จริง หรือแค่อิง..กระแส
ด้วยพื้นฐานของการบริโภคอาหารในชีวิตประจำวันของทุกคน ย่อมได้รับสารอาหารครบ 5 หมู่อยู่แล้ว สำหรับการสร้างแบรนด์และทำตลาดของน้ำดื่มผสมวิตามิน อาจมองเป็นขุมทรัพย์ของนักลงทุน นักธุรกิจที่พยายามปั้นน้ำดื่มประเภทนี้ให้มีมูลค่า กอบโกยส่วนแบ่งการตลาดน้ำดื่มให้ได้มากที่สุด โดยหยิบประเด็น หรือเล่นกับคนสมัยนี้ที่มีพฤติกรรมหันมาดูแลสุขภาพกันมากขึ้น มันจึงเป็น Pain Point อย่างหนึ่งในการใช้เป็นเครื่องมือของเจ้าของแบรนด์ เพราะหากเพื่อน ๆ เคยดื่มน้ำวิตามิน ถ้าสังเกตก็ยังมีส่วนผสมของน้ำตาลเล็ก ๆ น้อย ๆ ผสมอยู่ด้วยเช่นกัน
แต่หากมองในมุมกลับ ในทางที่ดี ที่ผู้บริโภคได้มีทางเลือก เปิดประสบการณ์ใหม่ในการดื่มน้ำ นอกจากนี้ ยังส่งเสริมภาพลักษณ์ให้ดูเป็นคน Healthy และจริง ๆ แล้วคุณค่าทางวิตามินก็มีประโยชน์จริง ๆ อย่างที่เราทราบกันดี ซึ่งสุดท้ายแล้วมันก็ขึ้นอยู่กับไลฟ์สไตล์และความพึงพอใจของแต่ละคนจริง ๆ น่ะแหละ