คำว่า “Soft Power” เป็นคำที่ถูกพูดถึงมากในระยะหลัง และเราเห็นกรณีศึกษาที่ประสบความสำเร็จอย่างเกาหลีที่สามารถผลักดันวัฒนธรรมของพวกเขากลายเป็นที่รู้จักของผู้คนทั่วโลกผ่านอุตสาหกรรมบันเทิงอย่าง ซีรีส์, MV เพลง
เมื่อมองย้อนกลับมาที่ประเทศกับคำถามที่ว่า “มีเรื่องอะไรบ้างที่พอจะเป็น Soft Power ได้บ้าง” หากยกตัวอย่างให้เห็นภาพง่าย ๆ ผ่านเรื่องราว หรือกิจกรรมที่ทำก็มีอยู่ไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็น “เจ๊ไฝ” บุกอิตาลีหอบเตาอังโล่โชว์ทำไข่เจียวปู, การกินข้าวเหนียวมะม่วงโชว์ของ “มิลลิ” ศิลปินแรปเปอร์ชาวไทยบนเวทีงานเทศกาลดนตรีระดับโลก Coachella Valley Music and Arts Festival ที่สหรัฐฯ, การให้สัมภาษณ์ของ “ลิซ่า BLACKPINK” ที่บอกว่าลูกชิ้นยืนกินที่สถานีรถไฟจังหวัดบุรีรัมย์คืออาหารโปรดของเธอ
ผลลัพธ์ที่ตามมาคือ “ข้าวเหนียวมะม่วง” กลายเป็นเรื่องที่ถูกพูดส่งผลดีต่อร้านค้าที่มียอดออเดอร์สั่งจองเข้ามาเป็นจำนวนมาก เช่นเดียวกับ “ลูกชิ้นยืนกิน” ที่มีท่องเที่ยวเดินทางไปยังจังหวัดบุรีรัมย์ ตามรอยลูกชิ้นยืนกิน สร้างความคึกคักต่อการท่องเที่ยว และระบบเศรษฐกิจ รวมถึงมีการต่อยอดสู่การขายแฟรนไชส์
แน่นอนว่าตอนนี้ประเทศไทยได้มียุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ที่จะขับเคลื่อน ส่งเสริม เป็นเครื่องมือช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า และบริการ ตลอดจนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันระดับประเทศ ผ่านคอนเทนต์ 11 อุตสาหกรรม Soft Power เป้าหมายของประเทศไทย
โดยการขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายตามนโยบาย OFOS และ THACCA แบ่งขั้นตอนการดำเนินงานเป็น 3 ขั้น ได้แก่
ขั้นที่ 1 : การพัฒนาคนผ่านกระบวนการส่งเสริมบ่มเพาะศักยภาพ โดยจะเฟ้นหาคนที่มีความฝันและอยากทำความฝันนั้นให้เป็นจริง ไม่ว่าจะเด็ก ผู้ใหญ่ หรือผู้สูงอายุ จำนวน 20 ล้านคน จาก 20 ล้านครัวเรือน โดยให้แจ้งลงทะเบียนกับกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง เพื่อบ่มเพาะผ่านศูนย์บ่มเพาะทักษะสร้างสรรค์ ทั้งด้านทำอาหาร ฝึกมวยไทย วาดภาพศิลปะ ฝึกการแสดง ร้องเพลง ออกแบบ แฟชั่น ฝึกแข่ง e-sport และอื่น ๆ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย
ขั้นที่ 2 การพัฒนาอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์สาขาต่าง ๆ ภายในประเทศ 11 สาขา ได้แก่ อาหาร กีฬา เฟสติวัล ท่องเที่ยว ดนตรี หนังสือ ภาพยนตร์ เกม ศิลปะ การออกแบบและแฟชั่น โดยจะมีการแก้กฎหมาย ข้อบังคับต่าง ๆ ให้มีความสอดคล้องกับยุคสมัยมากขึ้น
ขั้นที่ 3 การนำอุตสาหกรรมชอฟต์พาวเวอร์รุกสู่เวทีโลก จะเดินหน้าผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศสู่ระดับสากลด้วยการทูตเชิงวัฒนธรรม
ทั้งนี้ การขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศไทยได้เริ่มนับ 1 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และได้กำหนดเป้าหมายระยะสั้นและกลาง คือ ภายใน 11 ม.ค. 2567 โดยกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองจะเปิดให้ประชาชนลงทะเบียนแสดงความสนใจเข้ารับการบ่มเพาะ จะมีการปรับปรุงศูนย์บ่มเพาะทักษะสร้างสรรค์ในสถาบันการศึกษาต่าง ๆ
เรื่องที่เกี่ยวข้อง