‘สมาคมวิศวกร’ เตรียมจัดงาน FIDIC Asia Pacific Conference 2023 ในหัวข้อ “Engineering towards Net Zero” รับมือ ‘โลกวิกฤต’ ภาคธุรกิจก่อสร้าง


ปรากฏการณ์โลกร้อน เกิดจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจำนวนมหาศาลสู่ชั้นบรรยากาศ ทำให้อุณหภูมิของโลกสูงขึ้น ส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงและเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศของโลกไปมากมาย กระทั่งมีการคาดการณ์ว่าภายในปี 2040 อุณหภูมิเฉลี่ยของโลก จะเพิ่มขึ้นถึง 1.5 องศาเซลเซียสอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ประเทศไทย ตั้งเป้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน Carbon neutrality ภายในปี 2050 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net Zero Emissions ภายในปี 2065 หลายภาคธุรกิจที่เป็นหนึ่งใน Keyword สำคัญในการบรรลุเป้าหมาย จึงตื่นตัวต่อการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ผ่านการใช้แนวคิด Sustainable ดำเนินธุรกิจไปพร้อมกับการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมเพื่อก้าวสู่ความยั่งยืน มุ่งสู่การเป็นองค์กร Zero Carbon หรือ Net Zero โดยบริหารจัดการและวางแผนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างมีประสิทธิภาพ

สมาคมวิศวกรที่ปรึกษาแห่งประเทศไทย (วปท.) ในฐานะตัวแทนประเทศไทย จึงเตรียมจัดงานสัมมนาด้านสิ่งแวดล้อมครั้งใหญ่ระดับนานาชาติ ที่มีชื่อว่า FIDIC Asia Pacific Conference 2023 ในรอบ 10 ปี หัวข้อ “Engineering towards Net Zero” โดยงานดังกล่าวจะจัดขึ้น ระหว่างวันที่ 26-28 พฤศจิกายนนี้ ณ โรงแรมมิลเลนเนียม ฮิลตัน กรุงเทพฯ ซึ่งได้รวบรวมผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรม ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ในภาคอุตสาหกรรมการก่อสร้าง ตัวแทนภาครัฐ รวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้องด้านสิ่งแวดล้อม มาร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับโอกาส ความท้าทาย และความสำเร็จในการทำงานที่สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จะนำความรู้ที่ได้ไปร่วมกันผลิตผลงาน เพื่อการบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ให้ได้ภายในปี ค.ศ. 2065 จะมีผู้เข้าร่วมกว่า 200 คน จาก 20 ประเทศ อาทิ ประเทศมาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ รวมไปถึงออสเตรเลีย อินเดีย ศรีลังกา บังคลาเทศ ญี่ปุ่น เกาหลี และจีน ฯลฯ

นายชวลิต จันทรรัตน์ กรรมการ บมจ. ทีมกรุ๊ป และนายกสมาคมวิศวกรที่ปรึกษาแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า “วัตถุประสงค์ของการจัดงานครั้งนี้ เพื่อสร้างความยั่งยืนของอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย เนื่องจากธุรกิจก่อสร้าง เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีส่วนในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการทำงาน ตั้งแต่การผลิตวัสดุสำหรับใช้ในการก่อสร้าง วัสดุที่เป็นส่วนประกอบทางโครงสร้างอาคาร เช่น การผลิตปูนซีเมนต์ที่ต้องเผาหินปูนด้วยอุณหภูมิสูงประมาณ 1,500 องศาเซลเซียส ทำให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ปริมาณมาก หรือการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลในการขนส่ง เช่น น้ำมัน เป็นต้น”

ทางสมาคมวิศวกรฯ จึงได้กำหนดแนวทางในการออกแบบและควบคุมการดำเนินงาน ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ให้ความสำคัญกับการจัดการทรัพยากรที่นำมาใช้ กำหนดให้ใช้วัสดุคาร์บอนต่ำ (Low Carbon) รวมถึงเครื่องมือต่าง ๆ ในการก่อสร้าง ต้องวางแผนและออกแบบขั้นตอนการก่อสร้าง เก็บรวบรวมของเสียที่เกิดขึ้น ไปจนถึงการนำวัสดุที่เหลือใช้กลับมาใช้ใหม่ให้เกิดประโยชน์ คุ้มค่า และเกิดประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในกระบวนการผลิต

“หากก๊าซเรือนกระจก ถูกปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศ จะคงอยู่ 200 – 450 ปี ปัจจุบันพบว่า ชั้นบรรยากาศมีก๊าซเรือนกระจกสะสมอยู่ถึง 411 ส่วนในล้านส่วน (PPM) หากสูงถึง 475 ส่วนในล้านส่วน จะส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตบนโลกอย่างรุนแรง ก๊าซเรือนกระจกทำให้อุณหภูมิของโลกสูงขึ้น ถ้าอุณหภูมิโลกสูงขึ้น 1.5 องศาเซลเซียส ภูมิอากาศก็จะแปรปรวน ปัจจุบันอุณหภูมิโลกสูงขึ้น 1.2 องศาเซลเซียสแล้วเมื่อเทียบกับปี 1988 จากการวิเคราะห์ของสหประชาชาติ หากเรายังคงไม่ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ในปี 2050 หรืออีก 27 ปีข้างหน้า ระดับทะเลจะสูงขึ้น 70 เซนติเมตร น้ำจะท่วมกรุงเทพฯ และปริมณฑล เช่น ปทุมธานี อยุธยา และอ่างทอง สวนส้มโอดำเนินสะดวก สวนกล้วยไม้จะเสียหาย” นายชวลิต กล่าว

งานสัมมนาด้านสิ่งแวดล้อมครั้งใหญ่ระดับนานาชาติ FIDIC Asia Pacific Conference 2023 ในรอบ 10 ปี หัวข้อ “Engineering towards Net Zero” ที่กำลังจะจัดขึ้นในประเทศไทยเร็ว ๆ นี้นั้น หมุนเวียนจัดตามประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ครั้งนี้คือครั้งที่สองของประเทศไทย มีเป้าหมายเพื่อร่วมมือกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมงาน 200 คน จาก 20 ประเทศทั่วโลก เป็นคนไทย 50 % และต่างชาติ 50 % การสัมมนามี 5 หมวด ได้แก่ 1. กลุ่มอาคาร เกี่ยวกับอาคารที่ใช้คาร์บอนต่ำ 2. กลุ่มพลังงาน เรื่องลดการใช้พลังงานในอาคารและพลังงานในการก่อสร้าง 3. กลุ่ม Transportation และ Logistics การขนส่งคาร์บอนต่ำ 4. กลุ่มการพัฒนาเมืองและการพัฒนาชนบท ด้านผังเมือง ชุมชน สาธารณูปโภค และสาธารณูปการขนาดใหญ่ 5. กลุ่มสาธารณสุขและน้ำประปา ด้านน้ำเสียและน้ำประปา ที่มีผลต่อการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และหมวดพิเศษ คือ FFL หรือ กลุ่มวิศวกรรุ่นใหม่หัวใจสีเขียว (FIDIC Future Leaders)

ประเด็นที่น่าสนใจในการสัมมนาครั้งนี้ ได้แก่ ประเทศมาเลเซีย นำเสนอเรื่องของอาคารเขียว ประเทศเวียดนาม นำเสนอแนวทางการลดคาร์บอนในอาคารที่ออกแบบ ประเทศอินโดนีเซีย นำเสนอการซ่อมแซมอาคารเก่าเพื่อลดคาร์บอน ประเทศอินเดีย นำเสนอการผสมผสานของพลังงาน ประเทศไทย บริษัทพลังงานบริสุทธิ (EA) และ SCG จะนำเสนอในเรื่องของ Green Building เนื่องจากเป็นบริษัทที่ผลิตปูนซีเมนต์แบบ Low Carbon ประเทศจีน กับการนำเสนอเรื่องของ Hydrogen Energy ประเทศอินโดนีเซีย กับการผลิตอาหารกระป๋องหรืออาหารทะเล ที่มีการลดคาร์บอน ฯลฯกิจกรรมภายในงาน ประกอบไปด้วย การบรรยาย, Business Matching, แลกเปลี่ยนความรู้ทางด้านธุรกิจ รวมทั้งการประชาสัมพันธ์ Soft Power ของประเทศไทย นั่นคือ เทศกาลลอยกระทงแบบ Low Carbon ริมแม่น้ำเจ้าพระยา

คุณชวลิต กล่าวเพิ่มเติมว่า การจัดงานครั้งนี้ มีเป้าหมายเพื่อหารือระดับนานาชาติ สร้างโอกาสร่วมกันระหว่างผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรม มุ่งสู่อนาคตที่ยั่งยืนและปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net Zero ในด้านวิศวกรรม เพราะปัญหาภาวะโลกร้อน เป็นประเด็นเร่งด่วนที่นานาชาติต่างให้ความสำคัญ เพื่อให้ปรากฏการณ์โลกร้อนที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นบรรเทาหรือลดลง หลายประเทศเริ่มออกกฎหมายบังคับใช้ เพื่อช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างจริงจัง เช่น มาตรการ Carbon Border Adjustment Mechanism (CBAM) ของสหภาพยุโรป ซึ่งเป็นแรงกดดัน ให้ภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ หันมาปรับปรุงกระบวนการผลิตให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

ทั้งนี้ การประชุม FIDIC Asia Pacific Conference 2023 ซึ่งจัดโดยสมาคมวิศวกรที่ปรึกษาแห่งประเทศไทย (วปท.) จะมีขึ้นในวันที่ 26-28 พฤศจิกายนนี้ ณ โรงแรมมิลเลนเนียม ฮิลตัน กรุงเทพฯ ผู้สนใจ สามารถลงทะเบียนล่วงหน้า ได้ที่ : https://www.eventpassinsight.co/payfidic/registration/create/fapc20/