เก็บตกกิจกรรมดี ๆ ที่มีประโยชน์ต่อทั้งบุคคลทั่วไป และผู้ประกอบการ SME นำมาฝากแฟน ๆ กับงานสัมมนา ESG Universe “พา SME ไทย ไป Universe” เปิดมุมมอง SME ร่วมเรียนรู้ตัวอย่างความสำเร็จ SME บนเส้นทาง ESG เพื่อสร้างแรงบันดาลและเป็นต้นแบบให้กับ SME กับหัวข้อสัมมนา “Best Practice SME with ESG”
โดยจัดขึ้นจากการร่วมสนับสนุน โดย บริษัท บริษัท พีเอ็มจี คอร์ปอเรชั่น จำกัด, EXIM Bank , บ.ส.ย. , ทีโอวี , True Space , DITP, สสว. , FTI, SME Thai , TGO , NIA งานจัดขึ้นที่ ทรู สเปซ ชั้น 4 สยาม ซอย2 เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา
โดยงาน ESG Universe มีวัตถุประสงค์จัดขึ้นเพื่อสร้างความตระหนักรู้ และสร้างความรู้ความเข้าใจ ให้ผู้ประกอบการ SME ในเรื่องโอกาสการทำธุรกิจภายใต้ ESG คือ Environmental (สิ่งแวดล้อม) , Social (สังคม) และ Governance (หลักธรรมาภิบาล)
ผ่านการแชร์องค์ความรู้และประสบการณ์จากวิทยากร ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และผู้ทรงคุณวุฒิแถวหน้าของเมืองไทย ได้แก่
• คุณเกรียงไกร เธียรนุกูล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
• คุณอารดา เฟื่องทอง รองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ
• คุณวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม
• คุณเกียรติชาย ไมตรีวงษ์ ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก
• ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
• ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK
• ดร.สุนทร คุนชัยมัง ที่ปรึกษา ESG Universe
• คุณแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์ SME ไทย
• คุณโมกุล โปษยะพิสิษฐ์ รองกรรมการผู้จัดการ SME D BANK
• คุณสรณัญช์ ชูฉัตร ประธานกรรมการและผู้ก่อตั้ง บริษัท อีทราน (ไทยแลนด์) จำกัด
• คุณธันยวัฒน์ ทั่งตระกูล ผู้ร่วมก่อตั้ง บจก.ธาอีส อิโคเลทเธอร์
สำหรับไฮไลท์สำคัญในช่วงเสวนา ยกตัวอย่างเช่น คุณเกรียงไกร เธียรนุกูล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้บรรยายถึงเรื่อง “Bring you to the Universe by ESG” แนวคิด ESG กลยุทธ์ พา SMEs สู่เวทีโลก โดยกล่าวว่า
การทำธุรกิจในปัจจุบัน จะคนตัวใหญ่ หรือคนตัวเล็ก จะรวยจะจนก็ได้รับผลกระทบ น้ำท่วมเหมือนกัน ทั้งนี้หลักการของ ESG กับ BCG คล้ายกัน แต่ไม่เหมือนกันซะทีเดียว แต่ทั้งสอง คือ แก่น คือ เนื้อในการทำงานของธุรกิจ โดยอยากฝากบอกผู้ประกอบการ SME ว่า ขอให้เริ่มต้นธุรกิจของตัวเอง โดยไม่ต้องเป็นหางขบวนของคนอื่น way ใครก็ way มัน เพราะโอกาสของ ESG กำลังเปิดกว้าง ถ้าธุรกิจคุณมาทางนี้ ถ้าทำได้ ก็ขอให้คุณเดินหน้าไป แต่ถ้าไม่ได้ ก็กลับมาค่อย ๆ ปรับทีละนิดก็ได้
SME ต้องตื่นได้แล้ว กับศตวรรษที่ 21 คุณต้องตื่นกับการเปลี่ยนแปลง และกระบวนการต่าง ๆ ที่กำลังเปิดกว้างให้กับเรา อย่ามัวแต่ไปเดินตาม Big Company ซึ่งอันนั้นเป็น way ของเขา ไม่ใช่ way ของเรา จงเริ่มต้นกระบวนการ SME ที่เป็นตัวของเราเอง
คุณเกียรติชาย ไมตรีวงษ์ ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก กล่าวว่า
ปัญหา ‘ก๊าซเรือนกระจก’ เราต่างรู้ปัญหามานาน มันสะสมมาเรื่อย ๆ สำหรับ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (TGO) เราตั้งเป้าในปี 2030 จะต้องมีปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 20-25% จากปัจจุบันที่ปล่อย 40% โดยทาง TGO จะเข้าไปประเมิน ในด้านการผลิตสินค้า ในภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ ว่าปล่อยก๊าซเรือนกระจกไปเท่าไหร่ รวมถึงการประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ (Carbon Footprint) ขององค์กรด้วย ภายใต้กฎระเบียบกระบวนการดำเนินงาน ESG
วันนี้เราอยากให้ธุรกิจรายใหญ่ ๆ ลดการปล่อยก๊าซฯ หรือหากลดไม่ได้ ก็ควรเข้ามาช่วยเหลือ SME รายใหม่ ๆ ให้เขาทำ ESG ให้ได้ เพราะถือว่า องค์กรใหญ่ก็ต้องร่วมรับผิดชอบต่อสังคมเช่นกัน
ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กล่าวว่า เรามุ่งมั่นพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการรอบด้านทั้งนวัตกรรมและทางด้าน Social Enterprise ถ้าหากผู้ประกอบการมีโปรเจกต์ที่เกี่ยวกับ ESG เราพร้อมสนับสนุน ทั้งนี้ เราเสนอว่า ควรจะต้องมา Check List ร่วมกันว่า แพลตฟอร์ม ESG ที่ผู้ประกอบการ SME ใช้ร่วมกัน จะต้องเป็นแบบไหน หรือใครที่ขาดองค์ความรู้ ต้องไปขอคำปรึกษาที่ใด หรือขาด Service ต่าง ๆ ต้องไปปรึกษาใคร เพื่อให้ผู้ประกอบการ SME ได้เข้าถึง และทำธุรกิจให้สำเร็จให้ได้ นี่คือสิ่งที่ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ เราพยายามทำ ทั้งที่เป็นเรื่องของ Finance และ Non-Finance
คุณแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์ SME ไทย เผยว่า ESG ส่งผลกระทบต่อทุกเซกเมนต์ของธุรกิจ SME ไม่ว่าจะเป็นทางตรง หรือ Supply Chain อย่างไรก็ดี ESG จะเข้ามามีบทบาทสูง ในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ เช่น ซอฟต์พาวเวอร์ โดยมีนิติบุคคลที่ทำอุตสาหกรรม Creative Economy ในประเทศไทยนี้กว่า 80,000 ราย และไทยเราเองเป็นดับ 6 ของเอเชีย รองจาก จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ อินเดีย ซึ่งเป็นอันดับและมูลค่าตลาดที่น่าสนใจ และคาดว่าอนาคต อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ จะเติบโตอีกกว่า 10-15%
คุณโมกุล โปษยะพิสิษฐ์ รองกรรมการผู้จัดการ SME D BANK กล่าวว่า SME D BANK เป็นแหล่งเงินทุนเฉพาะกิจ ภายใต้การดูแลของกระทรวงอุตสาหกรรม ที่พร้อมสนับสนุนกลุ่มธุรกิจที่มีการเติบโตค่อนข้างสูง รวมไปถึงธุรกิจในภาคการส่งออก , การท่องเที่ยว และซอฟต์พาวเวอร์ ที่มีการดึงดูดเม็ดเงินเข้าประเทศ ถ้าธุรกิจเติบโตได้ ภาคอุตสาหกรรมเติบโตได้ ประเทศก็เติบโตได้อย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ SME D BANK ยังได้ดำเนินการภายใต้ ESG และ BCG โดยผู้ประกอบการมีความสามารถนำมาใช้ทำธุรกิจ และเติบโตอย่างยั่งยืนได้ ซึ่งทาง SME D BANK ก็พร้อมสนับสนุน
เรามองว่า ธุรกิจจะเริ่มต้นได้นั้น เรื่องของ ESG ที่ดี ต้องมี “G” ที่ดีก่อนเป็นอันดับแรก นั่นคือ การบริหารกิจการที่ดี มีธรรมาภิบาล การรักษาเครดิต ความน่าเชื่อถือ ไม่คอร์รัปชั่น มีการกำกับดูแลกิจการที่ดี
SME D BANK พร้อมสนับสนุนสินเชื่อ สำหรับผู้ประกอบการ SME ที่พร้อมขับเคลื่อนธุรกิจภายใต้ ESG ในเรื่องซัพพอร์ทเงื่อนไขพิเศษต่าง ๆ เช่น การให้ระยะผ่อนชำระสินเชื่อที่นานขึ้น, การลดดอกเบี้ยพิเศษ หรือการปลอดชำระเงินต้นในช่วงแรก ฯลฯ ซึ่งทาง SME D BANK สามารถปรับเงื่อนไขต่าง ๆ ให้เหมาะสมกับผู้ประกอบการ SME
คุณสรณัญช์ ชูฉัตร ประธานกรรมการและผู้ก่อตั้ง บริษัท อีทราน (ไทยแลนด์) จำกัด บอกว่า
ผมบังเอิญทำธุรกิจนี้ เกิดจาก 8 ปืที่แล้ว นั่งวินมอเตอร์ไซค์ แล้วพบว่า เหม็นควันมาก ๆ ทำไม ? ไม่มีใครทำอะไรเรื่องนี้เลย ซึ่งจริง ๆ แล้วผมไม่ได้ชอบมอเตอร์ไซค์ แต่แค่หงุดหงิดว่า ไม่มีคนทำ เราจึงริเริ่มทำมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า เพราะมัน คือ โอกาสของเรา เราสามารถจะสร้างอะไรก็ได้ ในวันที่โลกยังไม่มีใครทำ แต่เราก็มานั่งคิดว่า เราควรจะเริ่มกระบวนการทำอย่างไรบ้าง ถึงจะดีที่สุด
Etran Myra (อีทราน) เราดำเนินธุรกิจให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ผมว่าเป็นเรื่องที่ยากและท้าทาย แต่กับผมที่เพิ่งเริ่มต้น เราทำตั้งแต่แรก เราปรับได้ง่ายกว่าธุรกิจขนาดใหญ่ ซึ่งเรามองว่า ทำให้ถูกตั้งแต่เริ่มต้น
เราเป็น Start Up ที่ดังในเอเชีย ที่ออกแบบและผลิตเองทั้งหมด ทั้งตัวรถ ซอฟต์แวร์ ฯลฯ เราทำ 2 ล้อไฟฟ้า เพราะมันน่าจะถูกที่สุด และพัฒนา Eco-System ทำให้รถไฟฟ้ามันเกิดขึ้นได้จริง
นอกจากนี้ ยัง Develop การทำ Mobile Apps เอง ทำสถานีจุดชาร์จเอง ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ ผมมองว่า จุดนี้มันเป็นโอกาส ที่ธุรกิจที่เราสร้างมีนวัตกรรม มีความทันสมัย ปรับตามพฤติกรรมคนที่เข้าถึงเทคโนโลยี เกิดการจ้างงานเกิดขึ้นใหม่ ๆ ช่างที่มีทักษะการซ่อมรถไฟฟ้า
Etran Myra (อีทราน) ปัจจุบัน เราดำเนินธุรกิจระบบให้เช่า กลุ่มลูกค้าหลัก ๆ คือ กลุ่มองค์กร เราทำให้การเดินทางของทุกท่านสะอาดที่สุด
ขณะนี้ ได้เปิดแฟรนไชส์รถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าให้เช่า เจาะกลุ่มตลาดท่องเที่ยวอีกด้วย เปิดตัวให้บริการทางภาคใต้ ในจังหวัดที่มีสนามบินนานาชาติ
อีทราน เราทำมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าด้วยพลังงานสะอาด 100% ทุกวันนี้ คนเลือกสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมีมากขึ้น ซึ่งคนที่ใช้รถอีทราน จะรู้สึกว่า มีส่วนช่วยให้โลกดีขึ้น และช่วยประหยัดน้ำมัน เราจึงอยากให้อีทรานเป็นรถที่ช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านการขนส่ง ด้านศรษฐกิจ และธุรกิจที่สะอาดขึ้นได้